เส้นทาง WALK “ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา” เมื่อภาพเก่าเล่าอดีตและปัจจุบันของเมืองบางกอก

เส้นทาง WALK “ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา” เมื่อภาพเก่าเล่าอดีตและปัจจุบันของเมืองบางกอก

เส้นทาง WALK “ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา” เมื่อภาพเก่าเล่าอดีตและปัจจุบันของเมืองบางกอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครที่พลาดทริปทัวร์เมืองบางกอกในคอนเซ็ปต์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา อดีต กับ ปัจจุบัน เมืองบางกอก ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม “BIKE – WALK – TALK – BOAT”ชวนเที่ยวเมืองเก่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์โดย Water Festival 2022 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย Sarakadee Liteได้ ไปเก็บตกบรรยากาศมาฝากกัน

walk2

พระปรางค์วัดอรุณฯ จุดเช็กอินสำคัญของต่างชาติที่เดินทางมาเมืองบางกอก

walk14

“ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา อดีต กับ ปัจจุบัน เมืองบางกอก” อยู่ในส่วนของ WALK ซึ่งเป็น 1 ใน4 กิจกรรมที่มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างมุมมองใหม่ให้การท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ที่กระจายรายได้สู่ชุมชนต่างๆ ผ่านภาพเก่าอายุกว่าร้อยปีซึ่งจะเปลี่ยนมุมมองให้แก่สถานที่หนึ่ง ๆ ให้เห็นว่าในจุดเดียวกัน พื้นที่เดียวกันแต่ต่างกันด้วยกาลเวลาก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่และเมืองบางกอกได้แตกต่างกันเรียกได้ว่าภาพเดียวแต่มีล้านเรื่องราวซ่อนอยู่ ซึ่งนี่แหละคือเสน่ห์ของการท่องเที่ยวชุมชนกรุงเทพฯ

walk4

จุดเริ่มของ WALK “ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา อดีต กับ ปัจจุบัน เมืองบางกอก”มีจุดเริ่มต้นมาจาก TALK “ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองบางกอก” ที่ได้ 2 กูรูด้านประวัติศาสตร์และภาพถ่ายอย่าง อาจารย์เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และ นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการ โครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มาร่วมรื้อฟื้นความทรงจำเมืองบางกอกจากภาพถ่ายเก่าๆ ที่จะพาไปรู้จักบางมุมมองของกรุงเทพมหานครที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว จากนั้นต่อยอดมาสู่เส้นทาง WALK “ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา อดีต กับ ปัจจุบัน เมืองบางกอก” ที่ชวนออกเดินทางตามรอยภาพเก่าเหล่านั้นให้ได้ไปเห็นของจริงด้วยตาตนเองโดยมี ธีรนันท์ ช่วงพิชิต ผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรีและประธานมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นวิทยากรพาเดินตามตรอกออกไปตามหาความลับของกรุงเทพฯ แต่ก่อนเก่า

walk6

ธีรนันท์ ช่วงพิชิต วิทยากรพาเดินตามตรอกออกไปตามหาความลับของกรุงเทพฯ

เริ่มต้นที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) ซึ่งไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ประจำกรุงเทพฯ แค่ในยุคปัจจุบัน แต่ภาพเก่าเมื่อร้อยกว่าปีในอดีตคือหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าว่าวัดอรุณฯ คือสัญลักษณ์ของเมืองบางกอกมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นนักล่องเรือชาวต่างชาติ หรือแขกสำคัญของเมืองที่ล่องเรือมาจากซีกโลกตะวันตกที่มาบางกอกก็ต้องแวะมาถ่ายรูปคู่พระปรางค์วัดอรุณฯ และอีกภาพสำคัญที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือภาพเก่าบันทึกเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ด้านหน้าวัดอรุณฯ บนเกาะมีต้นอินทผลัม และศาลาไม้หลังเล็ก ซึ่งย้อนไปถึงการขุดคลองลัดแม่น้ำที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทิศและกลายมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาหัวใจของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

walk16

เกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกบันทึกไว้

เดินตามภาพเก่าไปต่อกันที่ มัสยิดต้นสน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นมัสยิดแรกในเมืองบางกอกและเป็นชุมชนของชาวแขกแพจากอยุธยาที่อพยพมาเมื่อครั้งตั้งกรุงธนบุรี ปัจจุบันมัสยิดแห่งนี้เป็นอาคารทรงโดม แต่ภาพเก่าที่บันทึกไว้ทำให้เราเห็นว่ามัสยิดต้นสนหลังเดิมมีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมผสาน

walk11

มัสยิดต้นสนจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ไปต่อกันที่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สักการะหลวงพ่อโตซำปอกง และชมภาพระฆังลูกใหญ่ที่มีความสำคัญและถูกบันทึกเป็นภาพประวัติศาสตร์มาแต่อดีตกาลจากนั้นร่วมตามรอยสตูดิโอถ่ายภาพบนเรือนแพของ “ฟรานซิส จิตร” (Francis Chit) ช่างถ่ายภาพคนสำคัญแห่งยุคที่หมอบรัดเลย์เคยเขียนไว้ในคำโฆษณาว่าเป็นเรือนแพหน้าวัดซางตาครู้สใกล้กับวัดกัลยาฯ และมีการสันนิษฐานว่าในยุคนั้นน่าจะใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสําหรับล้างอัดรูปทั้งยังเป็นสตูดิโอที่เปิดหลังคาโล่งเพื่อรับแสงธรรมชาติที่แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาลในการบันทึกภาพ

walk19

รั้ววัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

เส้นทางทัวร์ชุมชนกรุงเทพฯ พาลัดเลาะไปต่อยัง ชุมชนกุฎีจีน เล่าเรื่องความหลังเมื่อครั้งแม่น้ำเอ่อล้นท่วมหน้าโบสถ์ซานตาครู้สในฤดูกาลน้ำหลาก สะท้อนวิถีชีวิตของชาวบางกอกริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการปรับตัวจนเป็นปกติเข้ากับน้ำท่วมและฤดูน้ำหลาก และปิดท้ายเส้นทาง WALK ที่สะท้อนความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมของบางกอกที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารซึ่งเคยมีสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ผสมผสานกับไทยได้อย่างลงตัวเฉกเช่นเส้นทาง WALK “ภาพจุดตัดแห่งกาลเวลา อดีต กับ ปัจจุบัน เมืองบางกอก”เส้นนี้ที่รวมความหลากหลายด้านวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook