พนักงาน 64% อาจลาออกถ้าต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งยิ่งใหญ่ของพนักงานช่วงจากโควิดเริ่มซาและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ตอนนั้นเป็นกระแสอย่างมาก หลายคนมองว่าคงไม่ แต่พอช่วงที่โควิดเริ่มเบาลงจริงๆ อาจจะต้องคิดใหม่เพราะมีผู้คนจำนวนมากเลือกย้ายงานและผลสำรวจหนึ่งชี้ว่า 64% อาจจะลาออก ย้ายงานหากต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
ย้อนกลับไปเรื่อง The Great Resignation สิ่งนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกาเคยมีสถิติสูงสุดราวเดือนละ 4 ล้านคน สาเหตุหลักๆ คือปัจจัยในการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น
- พนักงานได้เรียนรู้ว่าเวลาทำงานสามารถยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นที่ต้องทำที่ออฟฟิศเต็มเวลาแบบเดิมอีกต่อไป
- ประหยัด ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ค่าที่ตรวจโควิด สวัสดิการด้านสุขภาพที่พนักงานมองกันมากขึ้น
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางอาชีพ ว่าบริษัทที่ทำอยู่มีโอกาสเติบโตหรือไม่ มีการช่วยสนับสนุนในการพัฒนาความรู้ ทักษะหรือไม่
ส่วนผลสำรวจมาจาก ADP Research Institute เป็นสถาบันด้านตลาดแรงงาน เขาได้สำรวจความเห็นของพนักงาน 32,000 คน ในประเทศ สหรัฐอเมริกา อินเดีย เนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ รวมๆ แล้ว 17 ประเทศ
ที่น่าสนใจคือเกินครึ่งหรือ 64% ให้ความเห็นว่า จะหางานหรือดูงานใหม่หากบริษัทหรือนายจ้างให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา โดยมากที่สุดจะเป็น คนอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่กว่า 71% ระบุว่าจะย้ายหรือมองหางานหากต้องกลับไปทำที่ออฟฟิศเต็มเวลา
ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นโดยสรุปว่า
“การทำงานในปัจจุบันต้องมีความยืดหยุ่น แม้บางคนจะไม่ได้ทำงานจากที่บ้าน (ไปคาเฟ่ ไปนั่งตาม co-working) ผู้คนเคยชินกับการมีอิสระในการทำงานมากขึ้น บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องปรับ สร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดี ให้ทุกคนมีส่วนร่วม พนักงานต้องรู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์จากการตื่นเช้าและเดินทางไปทำงาน ประโยชน์ที่มันคุ้มค่า ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็จะจากไป”
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า เอ้ย มันเห็นแก่ตัวไปรึเปล่า ก็คงต้องบอกว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ในมุมหนึ่งพนักงานก็ต้องเต็มที่กับการทำงาน เต็มที่ให้สมกับที่บริษัทให้
หลายบริษัทก็มีการปรับตัว เช่น การทำงานแบบผสมมีทำงานที่บ้านผสมกับที่ออฟฟิศ ,การปรับที่ทำงานให้มีบรรยากาศที่ดี เพราะผลการศึกษาออกมาว่า พนักงานที่ได้พักผ่อน ได้ใช้ชีวิต มีเปอร์เซ็นต์ในการช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จมากกว่า
อย่างในประเทศไทยเองผู้เขียนสังเกตจากกลุ่มรับสมัครงาน คนรอบตัว ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะทำงานแบบผสมหรือเลือกที่สวัสดิการดี เข้ากับในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ของศรีจันทร์ที่เป็นกระแสจากการปรับสวัสดิการพนักงาน เพิ่มวันลา ผ่าตัดแปลงเพศ-ลาคลอด-ลาดูแลภรรยา-ลาพักใจ โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ให้ความเห็นโดยสรุปว่า “พนักงานคือหัวใจหลักในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การสร้างความสุขให้พนักงานคือเฟืองจักรที่ช่วยเพิ่มกำลังใจให้มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่”
หรืออย่างในอังกฤษที่บริษัทกว่า 70 แห่งเริ่มนำร่องให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หลังจากที่หลายแห่งลองทำแล้วได้ผล (อ่านเพิ่ม เทรนด์ทำงาน 4 วัน)
หากให้สรุปสั้นๆ โลกการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว มันเหมือนการพบกันครึ่งทางมากกว่า พนักงานมีความสุขก็มีโอกาสที่จะทำงานได้เต็มที่มากขึ้น บริษัทที่ดูแลพนักงานดี เข้าใจ พูดคุยกันก็มีแนวโน้มที่จะทำงานได้ราบรื่นมากกว่า ในขณะเดียวกันพนักงานก็ต้องเต็มที่ให้สมกับที่บริษัทให้ แล้วทุกคนมีความเห็นยังไงบ้างมาพูดคุยกันหน่อย