ยังหาทำอยู่เหรอ “หัวเกรียน-ติ่งหู” เด็กเก่งอยู่ที่วินัยการเรียนมิใช่ทรงผม
ตัดเลยตัดเลย ฉับ! ฉับ! ฉับ! ในวัยเด็กต้องร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนหรือออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เพราะความเป็นตัวเองที่อยากเลือก กลับไม่เคยได้เลือกในโรงเรียนไทย จนโตมาก็พอจะเข้าใจข้อความที่บอกว่า โรงเรียน = บ้านหลังที่ 2 ไม่น่าจะจริงเท่าประโยค โรงเรียน = คุกแห่งแรกที่เด็กต้องเจอ ยังจะดูน่าเชื่อถือกว่า กฎระเบียบโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยไหนก็จำไม่ได้แล้ว ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน
ยุคสมัยนี้ยังมีบางโรงเรียนหรือครูบางคนถือเรื่องทรงผมเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องมีการตรวจทรงผมบ่อย ๆ ถ้าใครไม่ตัดผมตามที่กำหนดไว้ในคู่มือนักเรียน ครูจะเอากรรไกรตัดผมให้แหว่งหรือใช้แบตตาเลี่ยนไถผมให้เละและเกรียน แล้วให้นักเรียนที่ประพฤติแย่ (ในมุมมองของครู) ออกมาตั้งแถวประจานและพูดจาด่าดูถูก ลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของนักเรียนคนนั้นต่อหน้าเพื่อน ๆ
ล่าสุดเกิดกระแสในโลกออนไลน์ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่ถูกถกเถียงกันมาก จนคลิปนี้มียอดวิวสูงถึง 5.5 ล้าน กับประเด็นที่ชวนตั้งข้อสงสัยเรื่อง “ทรงผมนักเรียนไทย” เนื่องจากมีผู้ใช้ TikTok @millk55227722 โพสต์คลิปเด็กชายนั่งตัดผมที่ร้าน พร้อมร้องไห้ออกมาอย่างกลั้นไม่อยู่ และใช้แคปชันว่า “สงสารน้องชายมาก? #โรงเรียนของเราน่าอยู่” เดี๋ยวนี้โรงเรียนยังบังคับเด็กตัดผมทรงนี้อยู่อีกเหรอ!
ต่อให้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 จะให้นักเรียนชายไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ แต่! กรณีไว้ผมยาว ด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย และนักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ แต่! กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย แต่คำว่า “แต่” มันมีความเหมาะสมเรียบร้อยที่เป็นช่องว่างในการจำกัดสิทธิของเด็กนักเรียนอยู่ สุดท้ายเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง หรือเด็ก LGBTQ+ ก็ยังไม่สามารถไว้ทรงผมที่อยากทำอยู่ดี
“ทรงผม” สิทธิเสรีภาพของนักเรียน
ผมถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของร่างกายนักเรียน การตัดผมของนักเรียนควรที่มาจากการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายด้วยความคิดของตัวนักเรียนเอง ไม่ควรมาจากการถูกบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสิ่งใด ๆ คำถามคือ การกำหนดกฎระเบียบให้นักเรียนต้องมีการตัดผมนั้น เป็นการขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของนักเรียน ตามแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือไม่? มนุษย์แต่ละคนย่อมมีความคิดเป็นของตนเองได้ และสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองได้อย่างเสรี
คำว่า “กฎ” มันก็มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วนั้นคือ “ข้อบังคับ” เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก หรือความเสียหาย ระเบียบคือแบบแผนเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย กฎระเบียบจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันให้คนรักษาความสงบเรียบร้อย มันก็จริงอยู่ว่า “ให้นักเรียนตัดผมสั้น” เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างแฟชั่นทรงผมในโรงเรียน เกิดความไม่เรียบร้อย สร้างความแปลกแยก แตกต่าง จนทำให้เด็กไม่สนใจในการเรียน อาจสนใจแต่เรื่องความสวยความงาม แต่นี่เป็นความคิดที่โบราณ ล้าสมัยไปมากแล้ว
“สิทธิความเท่าเทียมกัน” ทุกคนต่างอยากมีบุคลิกที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองกันทั้งนั้น ยามเราเดินเข้าร้านเสริมสวย ก็มั่นใจในระดับหนึ่งแล้วว่าทรงผมที่ได้จะต้องออกมาดูดีแน่นอน แต่ช่างตัดผมกลับเข้าใจไม่ตรงกันกับเรา “คำว่าเอาออกนิดเดียว กลับได้ทรงผมที่สั้นไปมากกว่าที่คิด” เรื่องแค่นี้ยังทำให้เราเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง เสียความเป็นตัวตน ไม่กล้าจะออกไปพบเจอผู้คน กว่าผมจะยาว กว่าจะทำใจยอมรับได้ ก็ทำเอาเป็นคนขาดความมั่นใจไปเลย
ดังนั้น “ทรงผม” สามารถสร้างความมั่นใจในตัวเอง ทำให้มีบุคลิกภาพที่ดีได้ การเรียกร้องของนักเรียน จึงไม่ได้หวังให้กฎระเบียบทันสมัยหรือผ่อนปรนขึ้น แต่เพื่อทวงถามให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่า “พวกเขา ที่เป็นมนุษย์แห่งโลกเสรีนิยม มีสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดทรงผมของตัวเองได้ โดยไม่ต้องมีอุปสรรคจากกฎระเบียบใด ๆ”
“เป็นเด็ก” ห้ามรักสวยรักงาม
ประโยคฮิตติดปากผู้ใหญ่หลายคน กับความคิดโบราณล้าสมัย พอเป็นผู้ใหญ่ค่อยสวยก็ได้ ระเบียบแบบนั้นเอาไปใช้ทำอะไรกัน ครูบาอาจารย์ยังรักสวยรักงามเลย ครูย้อมผม ดัดผมลอนหยิก จัดแต่งทรงยาวสวยงามได้ แต่ให้เด็กตัดทรงผมเกรียน ๆ สั้น ๆ เสมอติ่งหู แล้วบอกน่ารักมากที่ทำตามระเบียบ แต่ครูไม่ต้องมีระเบียบบ้างเหรอ! จะใช้เหตุผลอะไรอ้างเด็ก ว่าเพราะตนเองโตเป็นผู้ใหญ่เลยทำได้ เป็นเด็กห้ามไว้ผมยาว นี่คือใช้ตรรกะอะไร? สรุปคือ “เรามีระเบียบไว้ให้คนทำเหมือน ๆ กัน” แต่กลับตอบเด็กไม่ได้ว่าจะเอาระเบียบไปตีกรอบเด็กไว้แบบนั้นทำไม
ผมใครยาวมาเป็นต้องโดนทำโทษด้วยการตัดผมประจาน ประหนึ่งว่าโลกนี้ โรงเรียนนี้ เด็กทุกคนต้องรู้และห้ามทำเป็นแบบอย่าง ดังนั้นอย่าถามว่าทำไมสังคมไทยเต็มไปด้วยการ Bully เพราะการปลูกฝังในโรงเรียนที่ลงโทษ และหมั่นทำร้าย ให้ร้ายเด็ก เพื่อตีกรอบให้เด็กอยู่ในระเบียบ โดยการไม่เคยเคารพตัวเขา พอเขาโตขึ้น อย่าคาดหวังว่าเขาจะเคารพคนอื่นเป็น
เรายังมองเด็กนักเรียนไม่เป็นคน ไม่ได้มองมนุษย์เป็นมนุษย์จริง ๆ แค่ผมของตัวเอง ยังรักษาไม่ได้ ต้องถูกทำให้อับอาย ราวกับโดนครูกลั่นแกล้ง เราควรปล่อยให้เด็กได้ใช้ความคิดของตัวเอง ในการเลือกทรงผมให้เหมาะกับบุคลิกภาพ เพราะทรงผมไม่ได้ส่งผมต่อสติปัญญา และก็ไม่ได้ส่งผลต่อกฎระเบียบวินัยของเด็กเลย เพราะผู้ใหญ่ที่เลวในปัจจุบัน มีให้เราเห็นมากมายในสังคม ก็เป็นผลผลิตมาจากผมทรงนักเรียนที่บังคับกันมาเหมือนกัน ทำไมยังเป็นคนดีไม่ได้
“เรียนดี” ไม่เกี่ยวทรงผม
บางคนอาจคิดว่า “จะอะไรกันนักกันหนา ก็แค่ทำตัวตามระเบียบไป” แต่หากเรามีคำถามถึงจุดประสงค์ของการไปโรงเรียนว่า “ไปเพื่ออะไร” เราจะตอบคำถามได้ว่าการตัดผมให้ถูกระเบียบราวกับเป็นทหารจำเป็นด้วยหรือ หากเราไปโรงเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ และพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม ทรงผมไม่น่าจะเกี่ยว เพราะไม่เคยมีงานวิจัยฉบับไหนบอกว่า “นักเรียนที่ไว้ผมสั้นเกรียนและสั้นเท่าติ่งหูทำให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น มีความรับผิดชอบ และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้มากกว่านักเรียนที่ไว้ผมผิดระเบียบ”
ยกตัวอย่างนักเรียนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อกฎระเบียบใด ๆ เพราะเป็นคนที่รักสวยรักงาม ไว้ทรงผมไม่ถูกกฎด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นใจ แต่มีความรับผิดชอบหน้าที่ของการเป็นนักเรียนที่ดีได้ทุกอย่าง สนใจการเรียนจนเป็นหมอ เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสังคมก็มากมาย ส่วนเด็กบางคนที่ไว้ผมถูกระเบียบ ราวกับว่าชีวิตนี้ไม่เคยทำผิดกฎของโรงเรียนเลย แต่กลับมีผลการเรียนที่ไม่ดีแบบนั้นมันก็เป็นไปได้ ดังนั้นทรงผมคงชี้ชัดอะไรไม่ได้ว่า “ผมสั้นถูกระเบียบ” เป็นคนดีและเรียนเก่ง
ความเป็น “ครู” ก็ไม่ควรสนใจเพียงแค่ทรงผมของนักเรียนว่าถูกกฎระเบียบหรือไม่ และเปรียบตัวเองเป็นนางมารร้ายคอยกลั่นแกล้งเด็ก ควรใส่ใจเรื่องผลการเรียนของนักเรียน ทำหน้าที่ในการสอนให้เต็มที่เพราะ “กฎระเบียบ” ไม่ได้วัดความสำเร็จของเด็กในอนาคตได้เลย ความรู้ ความสามารถ การพัฒนาตนเองต่างหาก ที่สร้างความสำเร็จให้นักเรียนได้ ส่วนกฎหรือระเบียบวินัย มีแนวทางให้อบรมสั่งสอนมากกว่าการบังคับให้ตัด (ผม) เกรียน ตัด (ผม) สั้นเท่าติ่งตั้งเยอะแยะมากมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูว่าจะหาวิธีสอนเด็กได้อย่างไร