สสส. ร่วม รง.และมูลนิธินวัตกรรม มอบเกียรติบัตรเชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการ
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาคุณค่าและความยั่งยืน พร้อมมอบเกียรติบัตรเชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้คนพิการ
นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน เป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ได้แก่ การบริการจัดหางานแก่คนพิการ รับแจ้งการให้สิทธิตามมาตรา 35 แก่สถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ รวมถึงการพิจารณาตรวจสอบเกณฑ์การให้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด โดยภายหลังการออกกฎหมายการจ้างงานคนพิการ กระทรวงแรงงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน ทำให้การจ้างงานมีทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับกรมการจัดหางานได้ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ จัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้างสถานประกอบการ ที่เคยใช้สิทธิตามมาตรา 34 ในการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้เปลี่ยนมาให้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทการจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับคนพิการโดยตรง เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ อย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยคนพิการปฏิบัติงานสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่น สาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้บ้าน เช่น หน่วยงานราชการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการคนพิการท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการส่งเสริมไปแล้ว จำนวน 1,499 คน จากเป้าหมาย 1,000 คน และจะขยายการมีงานทำให้คนพิการเพิ่มขึ้นปีละ 20 % ภายใน 4 ปี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานวันนี้ จะเป็นแนวทางต่อการส่งเสริมการมีงานทำและมีอาชีพของคนพิการให้ดียิ่งขึ้น
ด้านดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า “สสส. ให้ความสำคัญกับคนพิการ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อาทิ การพัฒนากลไกสนับสนุนการออกแบบและการสร้างสภาพแวดล้อมกายภาพเพื่อคนทั้งมวล การเพิ่มโอกาสด้านการมีอาชีพและรายได้ของคนพิการส่งเสริมนวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กร ทุกคนบนแผ่นดินไทย มีขีดความสามารถ มีสังคม มีสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะกลไกการทำงานที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม พัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการในชุมชนและองค์กรสาธารณะประโยชน์โดยใช้มาตรา 33 และ 35 ช่วยให้คนพิการสามารถทำงานใกล้บ้าน และยังเป็นวิธีที่ทำให้เงินก้อนเดิมที่บริษัทเคยนำส่งเข้ากองทุน เพราะจ้างคนพิการไม่ครบ สามารถส่งตรงไปยังคนพิการโดยตรง 100% เปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และถือเป็นการส่งเสริมภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทโดยตรงอีกด้วย สนับสนุนการเตรียมความพร้อม และพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้ขยายประโยชน์ไปยังคนพิการทั่วทุกพื้นที่ เพื่อร่วมสร้างจุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขยายงานเชิงรุกในโครงการจ้างงานกระแสหลัก Inclusive workplace หรือ IW เพื่อส่งเสริมการจ้างงานบัณฑิตและเยาวชนที่พิการ ทำหน้าที่ออกแบบ พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน ให้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานจริง
ผลลัพท์สำคัญที่เกิดขึ้น สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ปลายปี 2557 – ปัจจุบัน ขับเคลื่อนการจ้างงานเชิงสังคมภายใต้มาตรา 33 และมาตรา 35 ทำให้คนพิการสามารถเข้าสู่การมีอาชีพมีงานทำได้ จำนวนกว่า 7,000 อัตรา สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานแล้วกว่า 20,000 โอกาสงาน รวมเป็นรายได้ที่ส่งตรงจากสถานประกอบการถึงมือคนพิการรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คนพิการทำงานจริงและได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด โดยมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงานในพื้นที่กว่า 3,000 หน่วยงานทั่วประเทศ
ความคาดหวังสำคัญเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน สสส. มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมคนพิการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตทุกมิติ ตั้งแต่ทักษะการทำงาน การดูแลสุขภาพตนเอง การบริหารจัดการเงิน จนเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานพื้นที่ สามารถยกระดับภารกิจในบทบาทที่สูงขึ้น ทั้งในหน่วยงานและทางสังคม ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญของการยกสถานะทางสังคมของคนพิการและครอบครัว ทำให้สังคมปรับเจตคติ “เปลี่ยนความเชื่อจากคนพิการเป็นภาระสู่การเป็นพลัง” และร่วมขับเคลื่อนกับกลไกอื่น ๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้ขยายประโยชน์ไปยังคนพิการทั่วทุกพื้นที่ ร่วมสร้างจุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า “มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมได้ขับเคลื่อนภารกิจส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการเข้าถึงโอกาสงานและอาชีพเพื่อการพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยการสนับสนุนจาก สสส. มีเป้าหมายให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาวะของคนพิการผ่านการมีงานทำ จนเกิดเป็นนวัตกรรมระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนอัตราจ้างงานคนพิการจากสถานประกอบการกว่า 400 แห่ง และการสนับสนุนของกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งได้ช่วยให้คนพิการปีละหลายพันคนได้ทำงานบริการสังคมในหน่วยงานบริการชุมชนที่กระจายอยู่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศพันกว่าหน่วย รวมเป็นรายได้ที่ส่งตรงจากสถานประกอบการถึงมือคนพิการรวมกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นผลให้คนพิการและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและนำไปสู่พัฒนาการทางสุขภาวะในทุกมิติ คนพิการแข็งแรงขึ้นด้วยกิจกรรมทางกาย จากการไปทำงานทุกวัน งานบริการสังคมที่ทำ นำไปสู่ความภาคภูมิใจและเป็นที่ยอมรับชื่นชมของคนในชุมชน พร้อมกับเกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่และมีสังคมที่กว้างขวางขึ้น นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยการสนับสนุนของ สสส. นี้ ได้รับการนำไปต่อยอดขยายผลโดยภาคีเครือข่ายอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงานได้ประกาศเป็นนโยบายกำหนดเป้าหมายดำเนินการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงคุณค่าและความสำคัญของการดำเนินการในแนวทางนี้ ที่เอื้อให้คนพิการมีรายได้จากการมีงานทำในภูมิลำเนาของตนเองและเป็นงานที่มี “คุณค่า” สร้างประโยชน์โดยตรงให้กับชุมชนของตนเอง และเพื่อให้เกิดกลไกดำเนินการ “ยั่งยืน” มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมจึงผลักดันให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ขับเคลื่อนที่เป็น ของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ เพื่อเป็นเจ้าของภารกิจนี้ในระยะยาว จนเกิดการจัดตั้ง สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) ในปี 2564 รวมทั้งนำเสนอกลไกระดมทุน “โมเดลวันละ 10 บาท” เพื่อให้เกิดเป็นระบบที่คนพิการที่ได้รับการจ้างงานร่วมกันสนับสนุนทุนดำเนินการด้วยตนเองอย่างยั่งยืน งานพิธีมอบเกียรติบัตร เชิดชูหน่วยงานที่สนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมที่เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย ขอเป็นตัวแทนคนพิการที่ได้รับการจ้างงานเชิงสังคมทั่วประเทศ ร่วมกันแสดงความขอบพระคุณต่อสำนักงานจัดหางานทุกพื้นที่และสถานประกอบการทุกแห่งที่ได้สนับสนุนให้คนพิการได้เข้าถึงโอกาสงานและอาชีพมาโดยต่อเนื่องทุกปี พร้อมทั้งขอขอบคุณบริษัท Forth Vending และ Sabuy Technology ที่ได้ให้การสนับสนุนทุนขับเคลื่อนภารกิจผ่าน “ตู้ชื่นใจ”