ปัญหาสังคม! อาชญากรวัยละอ่อน กับค่านิยมผิด ๆ ที่แก้ยาก
ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชนจะมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมสูงแล้ว เด็กและเยาวชนกลายเป็นอาชญากรเสียเองมากขึ้นด้วย ล่าสุดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นอีกข่าวที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาอาชญากรรมในเยาวชนไม่จบสิ้นไปจากสังคมเสียที และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ค่านิยมในการสะสมเครื่องแบบสัญลักษณ์ของโรงเรียนอื่น ผู้ก่อเหตุอ้างว่าไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า เป็นเพราะอารมณ์คึกคะนองชั่ววูบ ตัดสินใจในขณะนั้นและลงมือก่อเหตุทันที
คดีนี้ผู้ก่อเหตุและผู้เสียหายเป็นเยาวชน กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์และทำร้ายร่างกาย พร้อมมีอาวุธไว้ในครอบครอง คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ของกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีค่านิยมผิด ๆ คำถามคือ หากอยากได้เพื่อสะสมทำไมไม่ซื้อ ในเมื่อตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ สามารถสั่งซื้อได้ หรือนี่กลายเป็นประเพณี ค่านิยมผิด ๆ ของแก๊งวัยรุ่น ที่มองเป็นเรื่องสนุก ทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ดูเท่ ดูเก่ง ดูเจ๋ง จากการกระทำนี้เป็นเรื่องที่เยาวชนต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เยาวชนอาจมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย หากแต่เป็นการกระทำที่ขาดการยั้งคิด และเป็นความผิดร้ายแรงตามกฎหมาย
ซึ่งการที่บุคคลใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นซึ่งทรัพย์นั้น หรือเพื่อเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 และหากร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ซึ่งอัตราโทษจะขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำ
“ค่านิยม” คำนี้ของเยาวชนทำไมกลายเป็นเรื่องสำคัญ อยากเป็นเพื่อนเรา อยากอยู่แก๊งเดียวกันกับเรา อยากเด่นอยากดังอยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อน ต้องผ่านด่านที่เรียกว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ใครทำได้สำเร็จจะได้รับคำชม คำสรรเสริญเยินยอ โดยขาดความยั้งคิดว่านี่คือค่านิยมผิด ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย
คิดว่า “นิดเดียวเอง” “ไม่เป็นไร”
ด้วยยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็สามารถจะเป็น “ไอดอล” ที่เรียกว่า “เน็ตไอดอล” ได้ง่ายมาก หากสามารถทำอะไรประหลาด ๆ จนเข้าทางเป็นกระแสได้ เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น ก็คือ “ค่านิยม” ในเรื่องความผิดชอบชั่วดีของเด็กวัยรุ่นที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก โดยไม่คิดว่าการกระทำนั้นมีความผิดร้ายแรงอะไร ขอแค่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนก็พอแล้ว
เพื่อนมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นเป็นอย่างมาก วัยรุ่นจะมีความผูกพันกับเพื่อนมากกว่าวัยอื่น ๆ และมีความต้องการที่จะให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม เพื่อนจึงมักจะแสดงออกตามเพื่อนในกลุ่ม กลุ่มเพื่อนจึงมีอิทธิพลต่อการชักนำให้วัยรุ่นปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น การชักชวนกันเข้าร่วมกิจกรรมเล่นกีฬาต้านยาเสพติด หรือทำสิ่งที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ของสังคมได้
ทำไมวัยรุ่นชอบคิดว่า ทำตัวเถื่อนแล้วเท่
จะเรียกว่ามันเป็นค่านิยมที่ยากจะขุดออกมาทำลายทิ้งเสียจริง ๆ เป็นพฤติกรรมที่เมื่อได้ทำร้ายโรงเรียนคู่อริ หรือทำอะไรแปลก ๆ โชว์สกิลความกล้า จะได้รับการยอมรับจากเพื่อน ได้รับคำชมว่าเจ๋งจากสถาบันของตัวเองจากกลุ่มเพื่อนตัวเอง พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบ เห็นรุ่นพี่ทำ เห็นเพื่อนทำก็ทำตาม กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
อีกมุมหนึ่ง กลับมองว่าเด็กอาจขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง ยิ่งถ้ามาจากครอบครัวที่แตกแยก ขาดความรักความใส่ใจ ก็มักจะไปเรียกร้องเอากับผู้อื่น จากเพื่อน จากสังคม เพื่อต้องการการยอมรับจากผู้อื่น แต่การกระทำกลับเป็นการเรียกร้องในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง และกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด
เด็กสมัยนี้อ้างคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการ”
คำนี้ยังใช้ได้เสมอในยุคนี้สังคมนี้ หากกระทำผิดแล้วเอ่ยคำว่า “รู้เท่าไม่ถึงการ” สังคมก็พร้อมจะให้อภัยกันแล้วหรือ ไม่ใช่แค่เด็กหรือเยาวชนเท่านั้น หากแต่คนที่เป็นผู้ใหญ่ เมื่อกระทำผิดก็ใช้คำนี้เช่นเดียวกัน เป็นคำที่ใครพูดก็ได้อย่างนั้นหรือ บางการกระทำอาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นเป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรง และไม่สำนึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป “รู้เท่าไม่ถึงการ” คำนี้คงใช้ไม่ได้เสมอไป หากดูองค์ประกอบของการกระทำทั้งหมด
ปัญหาโจรในคราบเด็ก ที่มีให้เห็นมากขึ้นในสังคม บางเรื่องอาจไม่ต้องฟื้นฝอยหาตะเข็บว่าเป็นความผิดของใคร พ่อแม่ผิดที่สั่งสอนเลี้ยงดูลูกไม่ดี หรือเด็กเองต่างหากที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ สิ่งที่ควรทำคือ หันหน้าเข้ามาช่วยกัน เริ่มง่าย ๆ จากความรักความเข้าใจในสถาบันครอบครัว รวมไปถึงความจริงใจ และความจริงจังของผู้ใหญ่ในสังคม หากปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังต่อไป เด็กและเยาวชนไทยอาจกลายไปเป็นผู้กระทำผิดต่อเนื่อง จากค่านิยมผิด ๆ ในกลุ่มเพื่อน และอาจสร้างปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นได้