เปิด “โลกของกัสจัง” กับ 4 บทบาทของ YouTuber หนุ่มวัย 18 ปี
Highlight
- กัสจัง จิรันธนิน เธียรพัฒนพล เป็น YouTuber วัย 18 ปี เจ้าของเพจ “Gutjung’s Life – โลกของกัสจัง” และเป็นทั้งนักธุรกิจ นักเรียนไฮสคูลในสหรัฐอเมริกา และเป็นช่างภาพด้วย
- นิทรรศการ “Our Moment in Mine” ของกัสจัง จัดแสดงผลงานภาพถ่ายของกัสจัง ซึ่งรวมถึงภาพ “When Fish Fly” ซึ่งได้รับรางวัล Gold Key จากเวที Scholastic Art & Writing Awards 2022
- กัสจังเชื่อว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม สิ่งที่ทำต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และตัวเขาต้องมีความสุขกับสิ่งนั้น
เมื่อพูดถึงอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง YouTuber หรือเจ้าของเพจในเฟซบุ๊ก น่าจะเป็นอาชีพที่ติดอันดับท็อปในใจใครหลายคน เพราะแค่มีสมาร์ตโฟนอยู่ในมือ กับความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถหยิบจับสิ่งต่างๆ รอบตัวมาขยายเป็นเรื่องราวบอกเล่าให้ชาวเน็ตฟัง นำมาซึ่งชื่อเสียงและรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อย
ท่ามกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ “จิรันธนิน เธียรพัฒนพล” หรือ “กัสจัง” ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนี้ เขาเป็นเจ้าของเพจและแชนแนล “Gutjung’s Life – โลกของกัสจัง” ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเด็กชายวัยประถม และยังคงบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ที่เขาพบเจอในชีวิตจนถึงปัจจุบันนี้
YouTuber: Gutjung’s Life – โลกของกัสจัง
“ผมเป็นคนที่กิจกรรมเยอะมาก โครงการเยอะมากตั้งแต่เด็กๆ แล้ว กลับมาจากโรงเรียนก็ทำแต่โครงการนี่แหละ ทำชุด Iron Man ใส่กระดาษลัง ทำเสร็จก็เบื่อแล้ว ไปทำอย่างอื่น ผมเป็นคนที่เบื่ออะไรง่ายมาก ก็จะโดดไปโดดมาหลายอย่าง เป็นคนที่เปลี่ยนไปมาได้ง่าย” กัสจังเริ่มเล่าถึงตัวตนของตัวเอง ที่มีไอเดียพลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา และพร้อมจะทดลองทำสิ่งต่างๆ ทุกเมื่อ โดยมีคุณพ่อและคุณแม่คอยสนับสนุน
โลกของกัสจังบนพื้นที่ออนไลน์ เริ่มต้นเมื่อเขาอายุประมาณ 10 – 11 ปี จากการดูช่องรีวิวของเล่น EvanTubeHD ใน YouTube และรู้สึกอยากได้ของเล่นจำนวนมหาศาลอย่างนักรีวิวของเล่น จึงไปอ้อนวอนขอให้แม่ซื้อของเล่นให้
“ด้วยความที่คุณแม่ไม่อยากซื้อของเล่นให้ แต่ว่าคุณแม่ก็เห็นศักยภาพในการทำเพจด้วย คุณแม่ก็บอกผมว่า กัสจัง ที่เขาได้ของเล่น เขาไม่ได้ไปซื้อเองนะ เขาไม่ได้ใช้เงินตัวเองสักบาท บริษัทส่งของเล่นมาให้เขาเลย แล้วเขาไม่ต้องจ่ายเงินอะไรเลย ที่สำคัญคือให้เงินด้วย จ่ายเงินเพื่อให้เขาแค่รีวิว ถ่ายวิดีโอ แล้วอัพโหลดลงในช่อง YouTube ของเขา ซึ่งผมได้ยินแล้วก็ตกใจว่า เฮ้ย! จริงเหรอ ขนาดนั้นเลยเหรอ แค่ถ่ายวิดีโอก็ได้ขนาดนั้นเลย โอเค ตอนนั้นก็คือจุดเริ่มต้น ก็เลยกลายเป็นอีกโครงการหนึ่งของผม”
แต่ด้วยความที่เป็นคนเบื่อง่ายและมีไอเดียบรรเจิดตลอดเวลา ไม่นานนัก กัสจังก็ “มูฟออน” จากเรื่องของเล่น ไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งชีวิตประจำวัน การสอนภาษาอังกฤษ เทคโนโลยี และการเดินทางท่องเที่ยว และจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครส่งของเล่นมาให้เขารีวิวเลย
“ในเพจผมไม่มีธีมว่าเราต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยี ต้องเป็นเรื่องการท่องเที่ยว ต้องเป็น vlog อย่างเดียว แต่ว่าสิ่งที่สำคัญในการถ่ายวิดีโอของผม ผมจะคิดเลยว่า อะไรน่าสนใจ อะไรที่ผมคิดว่าแฟนเพจจะสนใจ แล้วก็ถ่ายเลย ไม่ได้สนว่าคืออะไร”
กัสจังมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศพร้อมกับครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง นั่นทำให้เขามีวัตถุดิบชั้นดีจำนวนมาก ในการเล่าเรื่องผ่านภาพ ซึ่งกัสจังเล่าว่า คลิปที่ถือเป็นการ “แจ้งเกิด” ของเขา คือคลิปรีวิวรถเข็นในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ประเทศเยอรมนี ที่ต้องหยอดเหรียญเพื่อนำออกมาใช้ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนเพจชาวไทยไม่น้อย ทำให้คลิปนั้นกลายเป็นไวรัล แม้ว่ากัสจังจะยอมรับว่าคลิปนั้นเขาไม่ได้ใช้ความพยายามมาก เพียงแค่ถือกล้องถ่ายและเล่าเรื่องเท่านั้น
ในขณะที่คลิปรีวิวร้านสะดวกซื้อ Amazon Go ในซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ก็เป็นคลิปไวรัลอีกคลิปหนึ่งของเขา ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการช้อปปิ้งที่สะดวกสบาย บวกกับความตั้งใจของกัสจัง ที่บรรจง “ปั้น” ทั้งถ่ายทำและตัดต่ออย่างมืออาชีพ
“ตั้งแต่ตอนนั้นก็คิดมาตลอดเลยว่า การไวรัลหรือไม่ไวรัล การที่คนสนใจหรือไม่สนใจ ไม่เกี่ยวกับกล้องต้องดี ไม่ต้องตัดต่อดีเลย แค่ให้คอนเทนต์น่าสนใจ แล้วก็ให้ความรู้สึกแบบเป็นธรรมชาติ ไม่บังคับ เพราะว่าอย่างนั้น คนไม่ค่อยชอบดู” กัสจังกล่าว
นักธุรกิจรุ่นเยาว์
ด้วยความที่รักการดูคลิปใน YouTube เป็นชีวิตจิตใจ เมื่อกัสจังอายุประมาณ 12 – 13 ปี เขาได้ศึกษาวิธีการทำของเล่นโฮโลแกรมจากคลิป DIY และทดลองทำตาม ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
“ผมก็ไปเจอ YouTube วิดีโอหนึ่งมา เป็นวิธีการทำโฮโลแกรม ซึ่งไม่ต้องใช้วงจรไฟฟ้าอะไรเลย ใช้แค่พลาสติก ผมก็ทำมา แล้วก็เอาไปให้คุณพ่อ คุณพ่อก็บอกว่า “กัสจัง เอาเข้า 7-11 ไหม พ่อว่าขายได้” ผมก็เลยเอาเข้าไป ก็เข้าไปประมาณหลายพันสาขา แล้วก็ขายหมดเลย อันนั้นก็เป็นการลงทุนทำธุรกิจอันแรกของผมเลย”
หลังจากประสบความสำเร็จจากการประดิษฐ์ของเล่นเพื่อขาย ล่าสุด กัสจังร่วมมือกับคุณแม่ ผลิตน้ำผักเพื่อสุขภาพ และขายทางเพจของตัวเองด้วย
นักเรียน ม.ปลาย ในอเมริกา
ปัจจุบัน กัสจังศึกษาอยู่ในระดับไฮสคูลที่โรงเรียน Blair Academy ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเล่าว่า เขามีความตั้งใจที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ดังนั้น คุณพ่อจึงแนะนำให้เขาเตรียมตัว โดยการเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมปลายที่สหรัฐฯ ก่อน
“ผมก็ไม่คิดว่าคุณพ่อจะพูดจริง จะให้ไปจริงๆ ก็เริ่มดำเนินการ เริ่มไปหาโรงเรียน แล้วมันก็เริ่มจริง จนสัปดาห์สุดท้าย เหมือนแรงปะทะมันมาพร้อมกันทั้งหมดตอนอาทิตย์สุดท้าย แล้วผมก็ทำใจแทบไม่ได้เลย ร้องไห้ แล้วบอกคุณพ่อว่าไม่อยากไปเลย คุณพ่อบอกว่า กัสจังต้องไป คุณพ่อก็เศร้าเหมือนกัน เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็อยู่กับผมมา 10 ปี ไม่เคยห่างกันขนาดนี้ คุณพ่อก็ต้องตัดใจ”
“อาทิตย์แรกเป็น 2 อาทิตย์ ที่แย่มากเลย เพราะว่าไปที่โน่น เพื่อนก็ไม่มีเยอะมาก รู้จักแต่รูมเมทของผมซึ่งเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมก็เศร้ามาก คิดถึงบ้าน เขาเรียกว่า Homesick แต่ว่าหลังจาก 2 อาทิตย์นั้นไป มันเริ่มปรับตัวได้ ผมก็ออกไปหาเพื่อน มันต้องบังคับตัวเองให้ออกไปคุยคนอื่น แล้วก็จากที่ที่ผมไม่รู้จักเลย ตอนนี้ Blair Academy เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองเลย” กัสจังเล่า
สำหรับชีวิตประจำวันของนักเรียนโรงเรียนประจำอย่าง Blair Academy กัสจังเล่าว่า ปกติโรงเรียนนี้จะเรียนในวันจันทร์ – วันเสาร์เฉพาะครึ่งวันเช้า โดยจะเริ่มเรียนเวลา 8.30 น. และเลิกเรียนเวลา 15.00 น. ทว่าในช่วงเย็น นักเรียนทุกคนจะต้องเล่นกีฬา ตามกฎของโรงเรียน จากนั้นก็จะเป็นเวลาอาหารเย็น ตามด้วยช่วงเวลาสำหรับทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ ที่นักเรียนทุกคนจะต้องอยู่ในห้องของตัวเองหรือห้องสมุด และเข้านอนหลัง 22.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุด ตารางกิจกรรมจะไม่แน่นเท่ากับวันธรรมดา โดยทางโรงเรียนจะจัดงานคาร์นิวัล มีรถขายอาหารเข้ามาให้บริการในเขตโรงเรียน รวมทั้งมีกิจกรรมสนุกๆ อย่างการเล่นสไลเดอร์ลงจากเนินเขา เอาใจเหล่าวัยรุ่นในโรงเรียน
“ปกติแล้ว โรงเรียนประจำจะอยู่ไกลจากเมืองมาก เพราะว่า หนึ่งคือเรื่องความปลอดภัย และการให้นักเรียนออกไปเที่ยวในเมืองไม่ได้ เพราะว่ามันจะรับประกันความปลอดภัยไม่ได้ Blair ก็จะอยู่ประมาณชั่วโมง ชั่วโมงกว่าจากนิวยอร์ก ก็จะไกลจากทุกอย่าง เขาก็จะให้กิจกรรมทุกอย่างอยู่ในโซนโรงเรียนเลย”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ทำให้กัสจังรู้สึกว่า Blair Academy เป็นบ้านหลังที่สอง เขาตอบว่า บรรยากาศและความใกล้ชิดของนักเรียนในโรงเรียนประจำ ซึ่งเขารู้สึกว่าเหมือนทุกคนเป็นพี่น้องกัน ทำให้ลูกคนเดียวอย่างเขาซึมซับความรู้สึกผูกพันอย่างที่ตัวเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน ขณะเดียวกัน บ้านหลังที่สองแห่งนี้ก็ได้ให้อิสระแก่เขาอย่างมากด้วย
“ตอนอยู่ที่โน่นก็จะมีความรู้สึกเป็นอิสระหน่อย เพราะว่าเราก็จะเป็นตัวของตัวเอง ความรับผิดชอบก็จะอยู่กับเราเอง เราก็ตัดสินใจเองได้ ตอนอยู่ในไทย ผมก็มีคุณพ่อคุณแม่ รู้สึกเหมือนมีคนคอยดูแลตลอด ผมก็ไม่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างเอง ผมก็รู้สึกสบาย มันก็จะอยู่ใน comfort zone หน่อย แต่ว่าตอนอยู่ที่โน่น คือทุกอย่างเราต้องจัดการเองหมดเลย ผมก็ต้องเตือนตัวเองว่าต้องรับผิดชอบทุกอย่างของตัวเอง”
กัสจังเป็นวัยรุ่นที่งานยุ่งอยู่ตลอดเวลา ทว่าในช่วงนี้ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คือการเตรียมตัวสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้มีแค่การสอบเท่านั้น แต่ยังต้องเขียนเรียงความ ทำโปรไฟล์ เพื่อยื่นสมัครในมหาวิทยาลัย สำหรับสาขาวิชาที่กัสจังสนใจ เขามองว่าอาจจะเป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีที่มาจากปัญหามลพิษในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านของเขาเอง ส่วนมหาวิทยาลัยที่เขาตั้งใจจะเข้าเรียนเป็นอันดับหนึ่ง คือมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
“มหาวิทยาลัยที่ผมชอบมากที่สุดเลยคือ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผมเคยไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยแล้ว ชอบแคมปัสมาก โรงเรียนเขาสวยมาก แล้วอยู่ใกล้นิวยอร์กด้วย แล้วศิษย์เก่าที่โด่งดัง ที่จบจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียก็คืออีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นไอดอลของผมเหมือนกัน แต่ก็เข้ายากมาก ผมก็พยายามเข้าอยู่เต็มที่ครับ”
ช่างภาพมือใหม่
ก่อนจะถ่ายภาพจนชนะรางวัลจากการประกวด และมีนิทรรศการภาพถ่ายเป็นของตัวเอง กัสจังยอมรับว่า “เขาไม่เคยชอบการถ่ายภาพ จนกระทั่งต้องเดินทางไปเรียนที่สหรัฐฯ และคุณพ่อ ผู้ซึ่งรักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ ก็ได้ฝากฝังกล้องไว้ให้ลูกชายคนเดียวได้นำไปเก็บภาพชีวิตในต่างแดนมาฝาก
“ผมก็เอากล้องไปด้วย แล้วก็ถ่ายมั่ว ตอนนั้นก็ปรับกล้องไม่เป็น ก็ถ่ายนู่นถ่ายนี่ แล้วก็ส่งให้คุณพ่อไป คุณพ่อเห็นรูปแย่มาก คุณพ่อก็ด่า ไหนบอกว่าจะไม่ด่า ก็ด่าอยู่” กัสจังเล่าพร้อมหัวเราะ
“โชคดีที่ Blair เขามีคอร์สสอนถ่ายภาพ ผมก็ไปเข้า ผมก็เริ่มถ่ายเก่งขึ้นๆ แล้วก็ส่งให้คุณพ่อ พ่อก็บอกว่าภาพดี ใช้ได้เลยนะ ถ่ายมาอีก ก็ถ่ายมาอีก แล้วก็เริ่มหลงรักการถ่ายภาพ เพราะว่าถ่ายไป ดูแล้วมันออกมาสวย ผมก็อยากถ่ายอีกให้มันสวยต่อ”
ตลอดระยะเวลา 2 – 3 ปี ในการเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ กัสจังค้นพบว่า เขาสนใจการถ่ายภาพแนวสตรีท เพราะเป็นแนวทางที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว และเปิดพื้นที่ให้เขาสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ เขายังส่งผลงานภาพถ่ายเข้าประกวดในเวทีต่างๆ และได้รับรางวัลหลายชิ้น จนกระทั่งล่าสุด กัสจังมีนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเอง ในชื่อว่า "Our Moment in Mine" ซึ่งบันทึกความทรงจำในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปอยู่ไกลบ้าน และสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกในพื้นที่ต่างๆ
ไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้ คือภาพ “When Fish Fly” ที่ได้รับรางวัล Gold Key จากเวที Scholastic Art & Writing Awards 2022 ซึ่งเป็นเวทีประกวดผลงานศิลปะจากศิลปินทั่วสหรัฐฯ กัสจังเล่าถึงที่มาของภาพนี้ว่า ภาพนี้มาจากการไปทัศนศึกษากับครูสอนถ่ายภาพที่ทะเลสาบ White Lake ใกล้กับโรงเรียนของเขา โดยที่วันนั้น ครูไม่มีโจทย์ให้ และเขาก็ตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่า “อยากถ่ายภาพที่ทำให้ครูงง”
อย่างไรก็ตาม กัสจังเล่าว่า โจทย์นี้ก็ดูจะกว้างเกินไปสำหรับเขาเช่นกัน แต่ในที่สุด โอกาสของเขาก็มาพร้อมกับรถบรรทุกปลาเทราต์ขนาดใหญ่ และชายเจ้าของฟาร์มปลาเทราต์ ที่ช่วยกันปล่อยปลาลงในทะเลสาบด้วยการเอาตาข่ายตักปลาแล้วโยนลงไปในทะเลสาบ ภาพปลาที่ลอยอยู่ในอากาศ ทำให้คนช่างสงสัยอย่างกัสจังตัดสินใจเดินไปถามชายทั้งสอง ก็ได้ความว่า พวกเขานำปลามาปล่อยเพื่อเพิ่มปริมาณปลาในทะเลสาบ ตามข้อตกลงกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่
“ผมว่ามันน่าสนใจมากเลย แล้วผมก็เห็นว่า ถ่ายปลาบิน งงแน่นอน”
“ตอนแรกผมก็ว่าครูงงแน่นอน เพราะเวลามองรูป มันต้องคิด เกิดอะไรขึ้น นี่ตัดต่อหรือเปล่า แต่จริงๆ เราไม่ได้ตัดต่ออะไรเลย แค่ปรับแสง ปรับสีนิดนึง ผมก็เอาไปโชว์คุณครูที่อยู่ข้างๆ ผม ครูก็บอกว่า เออ... มุมมองใช้ได้เลยนะ แล้วผมก็ถามว่าครูงงไหม ครูบอกว่างงนิดนึง ผมก็ประสบความสำเร็จแล้ว ขอให้งง ก็ตามโจทย์” กัสจังพูดอย่างภูมิใจ
ปฏิกิริยา “เห็นแล้วงง” ยังเป็นส่วนหนึ่งที่กัสจังตัดสินใจเลือกภาพ When Fish Fly เข้าประกวดในโครงการ Scholastic Art & Writing Awards 2022 โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่า เป็นภาพที่สะดุดตา และกระตุ้นให้ผู้ชมคิด แม้ว่าองค์ประกอบภาพจะยังไม่แข็งแรงมากนักในสายตาของเขา แต่เขาก็เชื่อว่า เรื่องราวในภาพที่น่าสนใจและช่วงเวลาที่ดี ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ชนะใจกรรมการ และทำให้เขาคว้ารางวัลมาอวดคุณพ่อได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม นิทรรศการ Our Moment in Mine อาจจะไม่ใช่นิทรรศการเพียงครั้งเดียวของกัสจัง เขากล่าวว่า ในอนาคตก็อยากจะจัดนิทรรศการภาพถ่ายอีก เพราะเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่ายได้อย่างลึกซึ้งกว่าเดิม และนิทรรศการครั้งต่อๆ ไปของเขาก็จะน่าสนใจมากขึ้น
ถ้ากัสจังอายุ 30?
คนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างกัสจังมองตัวเองในวัยผู้ใหญ่ อายุ 30 ปี อย่างไร? เขาตอบว่าไม่รู้เลย ด้วยลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนแปลงง่ายและมีโครงการที่อยากทำมากมาย ทำให้เขาไม่สามารถตอบได้ว่า เมื่ออายุ 30 ปี เขาจะเป็นใครและทำอะไรอยู่
“แต่ผมรู้เลยว่า ตอนที่ผมอายุ 30 ผมมีอะไรทำแน่นอน แบบที่ผมหลงใหล ที่ผมชอบ ที่ผมมีความสุขด้วย แล้วก็เป็นอะไรที่ผมมีแรงจูงใจที่จะทำ คุณพ่อบอกว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ คุณจะไปเป็นศิลปิน คุณจะไปเป็นนักร้อง ขอให้สิ่งที่คุณทำมีประโยชน์ต่อคนอื่น ไม่ได้ไปเอาเปรียบคนอื่น ขอให้มีประโยชน์กับคนอื่น คุณจะทำอะไรก็ได้ ผมก็คิดว่า สิ่งที่ผมทำก็จะมีประโยชน์ต่อคนอื่น แล้วผมก็จะมีความสุขกับสิ่งนั้น” กัสจังทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 37 ภาพ