“วาทศิลป์” ศิลปะในการพูดเพื่อสื่อสารกับคนในทีม

“วาทศิลป์” ศิลปะในการพูดเพื่อสื่อสารกับคนในทีม

“วาทศิลป์” ศิลปะในการพูดเพื่อสื่อสารกับคนในทีม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการทำงานร่วมกัน เรามีวิธีในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่เป็นนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นการพูดต่อหน้า เพราะถ้าไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งได้ทันที และที่สำคัญคือเราจะได้ยินน้ำเสียงที่อีกฝ่ายใช้ และเห็นภาษากายในระหว่างสื่อสารของอีกฝ่ายว่าเป็นเช่นไร น้ำเสียงและอากัปกิริยาต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้การพูดสัมฤทธิผล เพราะช่วยลดโอกาสในการเข้าใจผิดกันในกรณีที่สื่อสารกันด้วยการเขียน ภาษาเขียน หรือการสื่อสารที่ไม่เห็นหน้า ไม่ได้ยินน้ำเสียง คำที่ใช้ในการพิมพ์แชตหากดูเป็นทางการเกินไปหรืออ่านแล้วรู้สึกว่ามันห้วน ๆ ก็อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ จนอาจนำไปสู่การระแวงกันว่าไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจหรือเปล่า

แม้ว่าการพูดต่อหน้าอาจช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิผลได้ง่ายกว่าวิธีอื่น แต่เคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่าจะมีแค่บางคนเท่านั้นที่ทักษะการพูดจะโดดเด่นกว่าคนอื่น คนที่ทำให้เรา “แพ้ทาง” เสมอ พูดอะไรมาก็น่าฟัง ดูน่าเชื่อถือ จูงใจให้คล้อยตามได้โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ประทับใจเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนฟัง คนเหล่านี้คือคนที่มี “วาทศิลป์” ซึ่งเป็นศิลปะในการใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหารให้ประทับใจ เป็นหลักจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอื่นเชื่อได้อย่างสนิทใจ ไม่มีการข่มขู่หรือใช้กลโกงแต่อย่างใด ซึ่งศิลปะในการพูดเพื่อโน้มน้าวใจนี้ มีประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกับทีมงานด้วย

การโน้มน้าวใจสำคัญต่อการทำงานอย่างไร

“ความคิดเห็นที่แตกต่าง” มักจะปรากฏขึ้นเสมอเมื่อเราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากสมาชิกในทีมต่างก็มีมุมมอง มีความคิดเห็น มีกระบวนการ มีวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป เมื่อมีใครสักคนที่ “ไม่เห็นด้วย” กับแนวคิดหรือวิธีการทำงานของเรา การโน้มน้าวใจคือขั้นตอนที่จะทำให้คนผู้นั้นเปลี่ยนใจมา “เห็นด้วย” พูดโน้มน้าวใจคือการพูดให้ผู้ฟังคล้อยตามและเอนเอียงมาทางเรา จะหว่านล้อมธรรมดา ๆ ให้ดูน่าเชื่อถือ หรือจะชักแม่น้ำทั้งห้ามาเกลี้ยกล่อมก็สุดแล้วแต่จะทำให้อีกฝ่ายเชื่อให้ แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้เหตุผลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือประกอบ จนทำให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงความเชื่อเดิมมาเห็นด้วยกับเรา หรือเกิดการปฏิบัติตามในสิ่งที่เราต้องการ วิธีพูดดังกล่าว คือ วาทศิลป์

ซื้อใจเพื่อนร่วมงานก็ต้องมีวาทศิลป์

คนเราไม่ได้พึงพอใจที่จะเสวนากับคนทุกคนในที่ทำงานถูกไหม? กับบางคนเราจะรู้สึกว่าการพูดของเขานั้นน่าลื่นไหลน่าฟัง พูดอะไรมาก็ดูน่าเชื่อถือ จูงใจให้เราคล้อยตามได้เก่ง คนเหล่านี้ล้วนมีวาทศิลป์ หรือมีศิลปะในการพูด ทำให้คนฟังรู้สึกว่ามันน่าฟัง น่าประทับใจ ตราตรึงในใจ รู้สึกมีอารมณ์ร่วม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายหรือการประสบผลสำเร็จร่วมกัน แม้ว่าเราจะรู้ว่าเขาเป็นคนมีวาทศิลป์ สามารถสื่อสารอย่างมีศิลปะเพื่อที่จะให้เราคล้อยตาม แต่เราก็ยินดีที่จะคล้อยตาม ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกหลอกให้เชื่อ รู้ตัวอีกทีคือถูกซื้อใจไปแล้ว ในขณะที่กับเพื่อนร่วมงานอีกคนที่เรารู้สึกว่าการพูดการจาของเขานั้นไม่ค่อยจะเข้าหูเท่าไรนัก เราก็ไม่ค่อยอยากจะพูดคุยกับเขานั่นเอง

ใช้จัดการความขัดแย้ง

ถ้าการคิดต่างหรือไม่เห็นด้วยนำไปสู่ความขัดแย้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนคอยไกล่เกลี่ย ส่วนใหญ่แล้วจะหวังพึ่งคนกลาง รับหน้าที่พูดคุยทำความเข้าใจ เกลี้ยกล่อมให้เย็นลงทั้งสองฝ่ายก่อน จากนั้นก็ใช้วาทศิลป์ พูดให้ทั้งสองฝ่ายยอมที่จะกลับมาเจรจากันต่อ คือต้องพยายามโน้มน้าวใจให้พวกเขากลับมาคุยกันเพื่อหาตรงกลางให้จงได้ ทั้งนี้หากจะใช้วาทศิลป์ในการจัดการความขัดแย้งก็มีเรื่องที่ต้องระวัง เพราะจะต้องเป็นกลางให้ได้จริง ๆ ฟังหูไว้หู ไม่แยกข้างผสมโรง ไม่งั้นอาจมีดราม่า ฟังมาแล้วเหยียบ ไม่พูดต่อ ไม่หาเรื่องเสี้ยม ถ้าเกิดแสดงออกหรือพูดอะไรที่ชวนเข้าใจผิดนิดเดียวไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ อาจกลายเป็นนกสองหัวโดยไม่รู้ตัว และจะหมดความน่าเชื่อถือไปในที่สุด

สั่งงาน ขอความช่วยเหลือ ชื่นชม พูดไม่เป็นนำไปสู่ความบาดหมางใจ

ไม่มีใครที่ชอบการถูกออกคำสั่งให้ทำนู่นทำนี่ แน่นอนว่ากับคนที่ตำแหน่งงานเดียวกัน หรือคนที่อายุน้อยกว่า-มากกว่า มันจะมีความน่าอึดอัดใจบางอย่างเมื่อต้องมอบหมายงานให้อีกคนทำ ซึ่งบางทีแค่ท่าทีก็ยียวนชวนโมโหแล้ว และยิ่งถ้ามาเจอกับคำพูดคำจาที่ไม่เข้าหูในเชิงออกคำสั่งอีกด้วยล่ะก็คงจะมีปรี๊ดแตกกันบ้าง แต่คนที่สามารถสั่งงานได้เหมือนกับไม่ใช่คำสั่ง แต่เหมือนเป็นการขอความร่วมมือ ขอร้อง ขอรบกวน มันดูอ่อนโยนและดีต่อใจกว่ากันเยอะเลย แม้ว่ามันอาจจะดูพินอบพิเทาเกินความจำเป็น แต่การให้เกียรติผู้อื่นและทำดีต่อพวกเขามันจูงใจให้พวกเขาเต็มใจทำให้มากกว่า ไม่นำไปสู่ความบาดหมางคลางแคลงใจ การเป็นที่รักของคนอื่นมันดีกว่าการถูกเกลียดนะ

เพราะการโน้มน้าวคือการจูงใจ ไม่บังคับ แต่ทำให้เต็มใจทำ

คนที่มีวาทศิลป์ในการสื่อสาร เหมือนกับคนที่มีพรสวรรค์สุดประเสริฐ เพราะแค่พูดเท่านั้นก็มีทั้งเสน่ห์และพลังมากพอที่จะทำให้คนตกหลุมรักได้แล้ว ความสามารถในการพูดให้เข้าไปถึงในจิตใจของคนฟัง จูงใจคนให้คล้อยตาม เปลี่ยนความคิดและทัศนคติของคนได้ทั้งที่ไม่มีการบังคับและโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่สร้างความเต็มใจที่จะทำให้ ช่วยให้ผู้พูดอยู่ในสถานะของคนที่เป็นฝ่ายควบคุมสถานการณ์และกำหนดแนวทางได้อย่างที่ตนเองต้องการ ใครที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจก็สามารถทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจได้หมด อย่างไรก็ดี แม้ว่าทักษะในการพูดโน้มน้าวในและการมีวาทศิลป์จะไม่ใช่ความสามารถดาษดื่น แต่ถ้าหากอยากจะเป็นคนที่มีวาทศิลป์ก็สามารถฝึกฝนได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook