คุกคามทางเพศผ่านสื่อไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อย่าเพิกเฉยเหยื่อที่เดือดร้อนจริง

คุกคามทางเพศผ่านสื่อไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อย่าเพิกเฉยเหยื่อที่เดือดร้อนจริง

คุกคามทางเพศผ่านสื่อไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อย่าเพิกเฉยเหยื่อที่เดือดร้อนจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาเรื้อรัง ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า “สร้างความขวัญผวา” ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ว่าด้วยเรื่องของการคุกคามทางเพศไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเรา โดยเกือบร้อยทั้งร้อยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อคือผู้หญิงและเด็ก ไม่เว้นแม้แต่วงการดารานักแสดง ที่เห็นเรื่องการคุกคามเป็นเรื่องที่ทำให้สนุกปากทั้งที่ไม่มีอะไรน่าสนุก และสภาพจิตใจของคนที่ตกเป็นเหยื่อก็แทบไม่ต่างจากการตกนรกทั้งเป็น แต่คนกลุ่มหนึ่งก็หาได้ตระหนักถึงและสนใจไม่

ล่าสุดชาวเน็ตได้ไปขุดเจอพฤติกรรมในอดีตของนักแสดงท่านหนึ่ง จนทำให้เกิดกระแสและดราม่าต่าง ๆ ตามมา ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาทวีตข้อความขอโทษกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบนทวิตเตอร์ จากประเด็นเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านทางโซเชียลมีเดียส่วนตัวในอดีต

มีการระบุว่าโพสต์ในอดีตของเขานั้นมีทั้งลักษณะการคุกคามทางเพศ กล่าวโทษเหยื่อคดีข่มขืน เล่นมุกข่มขืน เหยียดเกย์ และอื่น ๆ มากมาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการคุกคามทางเพศ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ลงมือทำอย่างเดียว ภัยจากการพิมพ์เล่น ๆ ขำ ๆ ก็สามารถสื่อถึงการคุกคามทางเพศได้เช่นเดียวกัน การกระทำเช่นนี้เราสามารถพบเห็นได้ในสื่อโซเชียลทั่วไปนั่นแหละ เพียงเพราะเห็นว่ามันคือพื้นที่ส่วนตัว สามารถทำอะไรก็ได้ (อย่างนั้นหรือ)

เมื่อ “ปัญหาคุกคามทางเพศ” มันแทรกซึมอยู่ทุกที่แม้แต่ในโลกออนไลน์ที่คนหลายคนไม่ได้รู้จักมักคุ้นหรือเคยเห็นหน้าค่าตากัน โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ที่เกิดประเด็นปัญหาคุกคามทางเพศให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่าพฤติกรรมไหนที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศบ้าง

การกระทำทางสายตา

เป็นการจ้องมองที่ทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ และอาจส่งผลให้คนที่อยู่โดยรอบรู้สึกเช่นเดียวกัน อาทิ การจ้องมองบริเวณหน้าอก มองบริเวณใต้กระโปรง หรือจ้องมองส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

การกระทำทางวาจา

คือ การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างที่ส่อไปในทางเพศ การพูดเรื่องตลกเกี่ยวกับทางเพศ การพูดจาแทะโลม พูดเรื่องลามกอนาจาร หรือเป็นการชักชวนให้กระทำการใด ๆ ในที่ลับตา โดยที่ผู้ถูกชักชวนไม่เต็มใจ

กระทำทางกาย

เป็นการฉวยโอกาสสัมผัสร่างกายผู้อื่น ขณะที่อยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและคับแคบ จนไม่สามารถหลีกหนีได้ อย่างขณะอยู่บนรถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟใต้ดิน MRT เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงพฤติกรรมการตื๊อโดยที่อีกฝ่ายไม่เล่นด้วย การดึงมานั่งตัก การเลียริมฝีปาก การทำท่าน้ำลายหก หรือกระทั่งการใช้มือหรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่สื่อไปในทางเพศ

การเปิด/ส่งภาพ หรือข้อความที่เกี่ยวกับทางเพศ

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดภาพโป๊ คลิปโป๊ ในคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน หรือในโทรศัพท์มือถือตนเอง แม้กระทั่งการส่งและเผยแพร่ข้อความหรือภาพที่เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางเพศผ่านสื่อโซเชียล เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ก็เข้าข่ายคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน

การกระทำทางเพศ เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์

พฤติกรรมเช่นนี้ ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนที่มีอำนาจในมือ และใช้อำนาจที่มีต่อรองหรือให้สัญญาว่า จะช่วยเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน เรื่องเรียน ทุนเรียนต่อ ทุนวิจัย หรือการเพิ่มเงินเดือน แลกกับการมีเพศสัมพันธ์ หรือขอให้ทำอย่างอื่นที่เกี่ยวกับทางเพศ อาทิ ขอให้ส่งภาพเปลือย หรือส่งคลิปช่วยตัวเองมาให้ เป็นต้น

วิธีเผชิญหน้า เมื่อถูกคุกคามทางเพศ

  • แสดงออกชัดเจนว่าไม่พอใจกับสถานการณ์คุกคามที่เกิดขึ้น ด้วยการบอกเขา (ผู้กระทำ) ให้หยุด และเขาไม่มีสิทธิมาทำกับคุณแบบนี้ ซึ่งหากตรงจุดที่คุณอยู่เป็นพื้นที่สาธารณะ ขอให้พูดเสียงดังให้คนอื่นได้ยินด้วย อย่ามัวอาย หรือเกรงใจใคร ยิ่งมีคนรับรู้เยอะ เขาอาจจะอายจนหยุดพฤติกรรมคุกคามได้เร็ว
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรไปอยู่ในที่ลับตากับเขา แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรชวนเพื่อนหรือคนรู้จักไปด้วย แต่ถ้าเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่จวนตัวจริง ๆ ขอให้คุณรีบวิ่งออกไปอยู่ในที่คนเยอะ ๆ ทันที หรือตะโกนขอความช่วยเหลือ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
  • เคยพูด เคยเจรจาแล้ว แต่ยังไม่ยอมหยุดคุกคาม หากเป็นเช่นนี้ขอให้คุณพาเพื่อนหรือคนที่เชื่อถือได้ ไปพบกับเขาอีกครั้ง เพื่อเจรจารอบที่ 2 แบบมีคนกลางมารับฟังปัญหา เชื่อว่า การที่มีคนกลางเข้าไปเกี่ยวข้องอาจทำให้เขาเกรงใจคนกลาง และหยุดการคุกคาม
  • กรณีผู้กระทำเป็นบุคคลใกล้ชิด อย่างเพื่อนร่วมชั้น ครู/อาจารย์ หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน ขอให้คุณจดบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (ระบุวันเวลาที่เกิดเหตุ/สถานที่/บรรยายเหตุการณ์แบบสั้น ๆ/ชื่อพยาน) หรือการบันทึกภาพและเสียงไว้ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ
  • กรณีผู้กระทำไม่ใช่บุคคลใกล้ชิด ซึ่งในกรณีนี้มักเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและคับแคบ อย่างรถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟใต้ดิน MRT ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุ สิ่งที่คุณควรกระทำ คือ การขอความช่วยเหลือให้จับตัวผู้กระทำ เพื่อนำตัวไปส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สภาพสังคมกับแนวคิด ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’

การที่ความคิดของคนในสังคมยังคงติดอยู่ในกรอบขนบเดิม ๆ อย่างความคิดที่ว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” ที่ว่าด้วยเพศชายคือเพศที่แข็งแรงจึงต้องเป็นผู้นำ ฝ่ายหญิงต้องยำเกรงและเคารพทำหน้าที่เป็นเบี้ยล่างเสมอ ๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเท่าเทียมจะถูกสนับสนุนยกชูขึ้นมาเป็นแกนหลักของสังคม แต่คราบของการกดขี่ทางเพศก็ยังทิ้งเขม่าให้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้

ด้วยความคิดแบบนี้จึงส่งผลให้ผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางเพศ จนเกิดเหตุการณ์การลวนลามหรือบังคับขู่เข็ญให้ร่วมเพศ อย่างที่เราได้เห็นกันตามหน้าข่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เราได้รับรู้ โลกภายนอกของสังคมที่กว้างใหญ่นี้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้กี่ครั้งและมีเหยื่อกี่คนเราไม่อาจทราบ เพราะเหยื่อส่วนใหญ่มักไม่กล้าส่งเสียงหรือเรียกร้องด้วยเหตุผลบางประการ

Victim blaming

อีกหนึ่งระบบความคิดที่มีเป้าหมายเพื่อหวังลดทอนความร้ายแรงของความผิดตนเองคือ การกล่าวโทษเหยื่อ โดยการยกอ้างถึงต้นเหตุของการกระทำความผิดเกิดจากการกระทำของเหยื่อเอง อย่างการแต่งตัวของเหยื่อ โดยกล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของเหยื่อที่แต่งตัวล่อแหลมเองจึงทำให้ถูกลวนลามและคุกคาม หรือแม้กับกิจวัตรที่เหยื่อทำเป็นประจำก็สามารถถูกยกมากล่าวอ้างได้ เช่น ถ้าเธอไม่เดินผ่านซอยนี้ช่วงค่ำเป็นประจำก็คงไม่โดนฉุดไปข่มขืน ซึ่งเป็นชุดความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง และคนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับความคิดนี้อยู่

การกล่าวโทษเหยื่อว่าแต่งตัวล่อแหลมล่อไอ้เข้เองจึงถูกข่มขืน นอกจากจะเป็นการเบี่ยงความผิดในภาพรวมแล้วยังเป็นการปลูกฝังความเข้าใจแบบผิด ๆ อีกด้วย ซึ่งความจริงแล้วไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์ทำในสิ่งที่ตนเองพอใจทั้งนั้นเพียงแค่ไม่เดือดร้อนคนอื่นเป็นพอ ไม่ว่าเหยื่อจะแต่งตัวอย่างไร ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างโดยชอบธรรมว่าการข่มขืนเป็นเรื่องที่สมควรเกิดขึ้นเพราะเหยื่อแต่งตัวแบบนั้น อย่ามองง่าย ๆ เหมือนการนั่งพิมพ์แสดงความคิดเห็นกล่าวโทษเหยื่อผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มีแค่ตัวเองกับหน้าจอ แต่ไม่ได้เข้าอกเข้าใจคนที่ตกเป็นเหยื่อเลย

หญิงสาวคนนั้นจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ตามที่เธอพอใจ ซึ่งแม้เธอจะแต่งตัวโป๊ไม่ได้หมายความว่าเธออยากมีเซ็กส์ หรือเชิญชวนให้ใครมาดักฉุดไป การแต่งตัวไม่ได้บ่งชี้ว่าใครง่ายหรือไม่ง่าย มันเป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล หากจะบอกให้เหยื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนการแต่งตัวมันก็ไม่ใช่แล้ว ในเมื่อการแต่งตัวที่อาจจะวาบหวิวสักหน่อยแต่ไม่ได้ถึงขั้นโป๊เปลือยหรืออนาจารไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่การข่มขืนบังคับขืนใจผู้อื่นนั้นผิดกฎหมายเต็ม ๆ

คำกล่าวโทษเหยื่อนี้เป็นแค่คำอ้างเลื่อนลอย เพราะประเด็นสำคัญคือตัวผู้กระทำผิดเองต่างหากที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ที่น่าเศร้าคือไม่ใช่เพียงผู้ต้องหาเท่านั้นที่มักจะยกคำอ้างเหล่านี้ขึ้นมา แต่สังคมโดยรอบที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็มักแสดงความคิดเห็นที่ไม่เข้าท่านี้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี เราจะเห็นได้ชัดว่า การแต่งตัวของเหยื่อ ไม่ใช่สาเหตุของการถูกกระทำชำเรา โดยในปี 2013 มีนิทรรศการหนึ่งที่ชื่อว่า What Were You Wearing? หรือ วันนั้นคุณใส่ชุดอะไร ซึ่งจัดโดย Jen Brockman ผู้อำนวยการศูนย์การป้องกันและการศึกษาการข่มขืนทางเพศ ของมหาวิทยาลัยแคนซัส โดยการนำชุดของเหยื่อที่ถูกข่มขืนมาจัดแสดงในงาน ซึ่งพบว่าชุดส่วนใหญ่ไม่ใช่ชุดที่ใส่แล้วดูล่อแหลมเลยแม้แต่น้อย ชุดนอน เสื้อยืด กางเกงขายาว ก็มีเป็นส่วนใหญ่

เห็นได้ชัดว่ารากแก้วของปัญหาการข่มขืนและคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะชุดความคิดและทัศนคติที่หลายคนยังเกิดความเข้าใจผิดต่อสาเหตุของเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้น มากกว่าปัจจัยภายนอกอย่างการแต่งกายที่แทบจะไม่มีผลในการเกิดของเหตุเลยด้วยซ้ำ สังคมควรปรับเปลี่ยนความคิดที่คอยถามเหยื่อว่า ไปทำยังไงถึงโดนข่มขืน เป็น เราจะหาทางหยุดวงเวียนความคิดผิด ๆ นี้อย่างไร จะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook