Book on Board เมื่อหนังสือแปลงร่างเป็นบอร์ดเกม

Book on Board เมื่อหนังสือแปลงร่างเป็นบอร์ดเกม

Book on Board เมื่อหนังสือแปลงร่างเป็นบอร์ดเกม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • TK Park จัดโครงการประกวดออกแบบบอร์ดเกม “Print & Play เล่น เรียนรู้ ไร้พรมแดน” ปีที่ 2 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Book on Board เปลี่ยนหนังสือที่รัก ให้กลายเป็นบอร์ดเกมที่ใช่”
  • การประกวดในครั้งนี้แบ่งออกเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 3 คน และแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “น้องมือใหม่” และ “พี่มือโปร” ซึ่งในปีนี้มีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 10 ทีมด้วยกัน
  • การเล่นบอร์ดเกมถือเป็นการเรียนรู้แห่งอนาคต เนื่องจากจะช่วยสร้างการเรียนรู้และทักษะที่หลากหลายให้กับผู้เล่น ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

หากพูดถึงการเรียนรู้ “หนังสือ” คงจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของใครหลายคนที่ใช้เป็นแหล่งหาความรู้และสร้างการเรียนรู้ แต่หลายครั้งการอ่านก็ไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ที่ “สนุกสนาน” เท่าไรนัก นั่นทำให้ศูนย์การเรียนรู้ TK Park ผุดไอเดียที่ให้เยาวชนและคนทั่วไป ได้นำหนังสือที่ตัวเองชื่นชอบ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ “บอร์ดเกม” ซึ่งกลายเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่นอกจากจะได้ความรู้ควบคู่ความสนุกแล้ว ยังได้เสริมสร้างทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคที่อะไร ๆ ก็ยากไปเสียหมด

Print & Play เล่น เรียนรู้ ไร้พรมแดน

ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 แล้วที่ TK Park ได้จัดโครงการประกวดออกแบบบอร์ดเกม “Print & Play เล่น เรียนรู้ ไร้พรมแดน” โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Book on Board เปลี่ยนหนังสือที่รัก ให้กลายเป็นบอร์ดเกมที่ใช่” ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้สนใจหยิบเอาหนังสือเล่มโปรด มาพัฒนาเป็นบอร์ดเกม พร้อมกับพัฒนาทักษะจากการเป็นผู้เล่นสู่การเป็นนักออกแบบบอร์ดเกม ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นสื่อการเรียนรู้ในอนาคตได้ 

กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Parkกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park

“การใช้บอร์ดเกมกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น มันมีประโยชน์มาก แล้วเราก็ทราบดีอยู่แล้วว่า เวลาน้อง ๆ หรือเยาวชนรู้สึกสนุก เขาจะเรียนรู้ได้เร็วมาก ตัวบอร์ดเกมหรือตัวเนื้อหาของมันก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของการ์ตูน หรือว่าเรื่องความสนุกสนานบันเทิงเพียงอย่างเดียว จริง ๆ แล้วก็มีเรื่องของความรู้ ที่เราสอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาของบอร์ดเกมได้” กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เริ่มต้นอธิบาย 

“เกมในปีนี้ เราจึงให้เขาเอาแรงบันดาลใจจากหนังสือ เขาอาจจะอ่านหนังสือสักเล่ม แล้วได้แรงบันดาลใจมาทำเป็นบอร์ดเกม จริง ๆ TK Park เราก็ส่งเสริมเรื่องการอ่านอยู่แล้ว ก็เลยพยายามผูกสองเรื่องนี้ ระหว่างบอร์ดเกมกับการอ่านเข้าด้วยกัน แล้วเราก็โชคดีที่ได้พาร์ทเนอร์ที่เก่ง ทั้ง Deschooling Game และสมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทย ที่มาช่วยกันเป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เข้าประกวด” กิตติรัตน์กล่าว 

น้องมือใหม่ & พี่มือโปร 

การประกวดในครั้งนี้แบ่งออกเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 3 คน และแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “น้องมือใหม่” ที่สมาชิกในทีมต้องมีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี และไม่เคยเข้าร่วมการประกวดออกแบบบอร์ดเกมใด ๆ มาก่อน และ “พี่มือโปร” ที่ไม่จำกัดอายุและประสบการณ์ในการประกวดออกแบบบอร์ดเกม ซึ่งในปีนี้มีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 10 ทีมด้วยกัน

ทีม Over the Moonทีม Over the Moon

อย่างไรก็ตาม ทีม Over the Moon ผู้ออกแบบอร์ดเกม “MAN” ที่ได้เรื่องสั้น The Bicentennial Man (มนุษย์ 200 ปี) เป็นแรงบันดาลใจ ก็กลายเป็นผู้ชนะของประเภท “พี่มือโปร” พร้อมพ่วงตำแหน่ง “ขวัญใจมหาชน” จากการโหวตของประชาชนทั่วไปที่มีโอกาสเข้ามาลองเล่นบอร์ดเกม 

“หนังสือเล่มนี้ถูกเอาไปทำเป็นหนัง เราเคยได้ดูก็รู้สึกประทับใจ หลังจากนั้นเราก็ไปหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม แล้วก็ชอบหนังสือเล่มนั้นตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา พอมีการเอาหนังสือมาเป็นบอร์ดเกม ก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าจะเอามาใช้ทำได้” ธนกฤต สวนสัน สมาชิกของทีม Over the Moon เล่า 

ทีม ANNทีม ANN

ขณะที่ทีม ANN ผู้ออกแบบบอร์ดเกม “เมนูลับห้ามเธอรู้” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนโปเม่ สารพันเมนู สูตรลับจอมเวท ก็เป็นทีมจากประเภท “น้องมือใหม่” ที่คว้าชัยชนะไปครองได้สำเร็จ 

“ที่เลือกหนังสือเล่มนี้มา เพราะทะเลาะกันเรื่องหนังสืออยู่เหมือนกัน เนื่องจากวัยที่ต่างกันเยอะ แต่ก็จะมีหนังสือการ์ตูนนี่แหละที่เราสามคนอ่านเหมือนกัน ก็เลยเลือกเป็นหนังสือเรื่องนี้มา” อาทิตยา อรรถมงคลชัย ตัวแทนจากทีม ANN กล่าว

การเรียนรู้แห่งอนาคต

“ไม่คิดว่าบอร์ดเกมของคนไทยจะยากขนาดนี้ แต่มันก็สนุกมากเลย คือเกมที่ได้ลองเล่นมันฝึกความสามัคคี แล้วก็ได้ใช้ไหวพริบ ได้ใช้ความคิด แล้วเกมนี้เป็นเชิงปรัชญา ที่สุดท้ายมันทำให้เรารู้ว่า ทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ ทุกอย่างต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน” ผู้ร่วมทดลองเล่นบอร์ดเกมท่านหนึ่งสะท้อน

จากแรงบันดาลใจจากหนังสือที่แต่ละทีมได้หยิบมาใช้ เมื่อใส่ไอเดียลงไปก็กลายเป็นบอร์ดเกมแสนสนุกสำหรับทุกคน ทั้งคนที่ชอบอ่านหนังสือและคนที่ไม่ชอบอ่าน ซึ่งกิตติรัตน์ชี้ว่า การเล่นบอร์ดเกมจะช่วยสร้างการเรียนรู้และทักษะที่หลากหลายให้กับผู้เล่น ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

“เวลาที่เล่นบอร์ดเกม จะมีทักษะของการคิดวิเคราะห์ การวางแผน การตั้งคำถาม ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม การเล่นบอร์ดเกมมันได้หลายทักษะมาก เพราะฉะนั้น บอร์ดเกมแต่ละแบบก็จะมีความเฉพาะทางของเขาอยู่ บอร์ดเกมบางอย่างอาจจะเหมาะสำหรับเด็ก บอร์ดเกมบางอย่างอาจจะเหมาะสำหรับเด็กโต หรือผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกหน่อย” กิตติรัตน์กล่าวปิดท้าย 

บอร์ดเกมที่ได้รับรางวัลจะได้รับการพัฒนาด้านกราฟิก เป็นบอร์ดเกม Print & Play ให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานบนเว็บไซต์ www.tkpark.or.th พร้อมกันนี้ยังจะได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ให้สามารถนำไปเล่นได้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ Tabletopia

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ Book on Board เมื่อหนังสือแปลงร่างเป็นบอร์ดเกม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook