เข้าร่วมง่าย กำไรงาม น่าเชื่อถือ สูตรสำเร็จของแชร์ลูกโซ่

เข้าร่วมง่าย กำไรงาม น่าเชื่อถือ สูตรสำเร็จของแชร์ลูกโซ่

เข้าร่วมง่าย กำไรงาม น่าเชื่อถือ สูตรสำเร็จของแชร์ลูกโซ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี เราก็ยังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับการเล่นแชร์ และแชร์ลูกโซ่อยู่เนือง ๆ ปัญหาแชร์ลูกโซ่และผู้เสียหายจำนวนมากจากการลงทุนเล่นแชร์ลูกโซ่ไม่เคยหมดไปจากหน้าข่าว ทุกปีจะต้องมีวงแชร์ลูกโซ่อย่างน้อยวงหรือสองวงที่เป็นเรื่องแดงขึ้นมา และมักจะจบลงที่เป็นคดีความฉ้อโกงจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และไม่เคยมีใครได้เงินลงทุนคืนจากการเล่นแชร์ลูกโซ่เลยซะด้วยซ้ำไป

แม้ว่าจะมีการออกข่าวเตือนหรือให้ความรู้เกี่ยวกับข้อสังเกตของการลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่อยู่เป็นประจำ เรียกได้ว่าทุกครั้งที่มีข่าวการฉ้อโกง หลอกลวงให้ลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ไม่เคยเป็นบทเรียนใด ๆ ให้กับสังคม ทุกครั้งที่มีข่าวความเสียหายในวงแชร์ลูกโซ่ ก็ยังพบผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ละคนสูญเสียเงินลงทุนไปไม่น้อย นั่นเป็นเพราะอดีตที่ผ่านมาจึงไม่เคยเป็นบทเรียนเลย เนื่องจากลักษณะของแชร์ลูกโซ่จะมีสูตรสำเร็จที่ใช้เป็นทริกหลอกลวงให้คนหลงเชื่อได้เสมอ ท้ายที่สุด เมื่อเราถูกความโลภเข้าครอบงำ ก็จะขาดวิจารณญาณและสติที่จะเตือนตัวเองว่าเราอาจกำลังจะตกเป็นเหยื่อในวงแชร์ลูกโซ่ในอีกไม่นานนี้!

ลงทุนได้ง่าย ๆ ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนก็ทำได้สบาย ๆ

ส่วนใหญ่แล้ว การลงทุนในวงแชร์ลูกโซ่มักจะไม่มีความซับซ้อนอะไรมากมาย ขอแค่มีเงิน ทุกอย่างจะถูกอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ บอกดอกเบี้ยชัดเจน ไม่มีเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ต่อให้เป็นชาวบ้านตาสีตาสาทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินหรือการลงทุนก็สามารถนำเงินมาลงทุนได้ง่าย ๆ สบาย ๆ นั่นทำให้คนทั่วไปเลือกที่จะนำเงินที่ตัวเองมีอยู่มาลงทุนกับวงแชร์ลูกโซ่ (ที่ไม่ได้บอกว่าเป็นแชร์ลูกโซ่) ด้วยหลงเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนแบบที่โฆษณาชวนเชื่อจริง ๆ และไม่ได้เอะใจถึงความเสี่ยงที่จะตามมา เพราะมันง่ายและไม่จำเป็นต้องศึกษาการลงทุน

แชร์ลูกโซ่ จะมีลักษณะแบบระดมทุนจากประชาชน หรือเน้นการระดมทุนจากสมาชิก จูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงเกินจริง และมักอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจอะไรก็ตามที่มีกำไรดี แค่ฝากเงินหรือลงทุนโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่มีความเสี่ยง ยิ่งออมมากหรือลงทุนมากก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนสูง พยายามขายฝันขายความร่ำรวยที่เกินจริงจากการจ่ายปันผลตอบแทนให้จำนวนมากในช่วงแรก ๆ ทำให้คนที่ได้รับเงินปันผลเยอะก็อยากลงทุนเพิ่มอีกเพื่อให้ปันผลเยอะกว่าเดิม เรียกได้ว่ายอมเทหมดหน้าตัก กู้หนี้ยืมสินมาอีกก็มี หรือบอกต่อคนอื่นให้มาร่วมลงทุนด้วย

การแชร์ความร่ำรวยจากการลงทุนเพื่อหาสมาชิกใหม่ จุดประสงค์คือการนำเงินลงทุนจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า ทำแบบนี้เป็นทอด ๆ กันเป็นลูกโซ่ แต่เมื่อถึงจุดที่หมุนเงินไม่ทัน สมาชิกก็ค่อย ๆ ถูกเบี้ยวจ่ายปันผล เงินต้นที่ลงทุนก็ไม่ได้คืน เพราะเท้าแชร์หนีหาย และทิ้งหนี้สินมหาศาลไว้เบื้องหลัง และเหล่าสมาชิกนับพันนับหมื่นชีวิต ที่แต่ละรายนำเงินไปลงไว้มหาศาล ด้วยกลอุบายดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่นึกสงสัยเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งที่แค่ลองเอะใจสักนิด หรือนึกสงสัยขึ้นมาเสียหน่อยว่ามันสมเหตุสมผลแค่ไหนที่เราจะกล้าเอาเงินจำนวนมากของตัวเองไปฝากไว้กับคนอื่นที่ไม่รู้ที่มาที่ไป อีกทั้งตัวอย่างก็มีให้เห็นมากมาย แต่ไม่เคยเป็นบทเรียน

ผลตอบแทนดี กำไรงาม ดอกเบี้ยสูง แค่เห็นตัวเลขก็ตาลุกวาว

อันที่จริง หลักการเล่นแชร์แบบธรรมดาทั่วไปนั้นไม่ได้ทำให้ใครรวย เพราะมันแค่เป็นการนำเงินจากทุกคนในวงมารวมไว้เป็นกองกลาง แล้วให้แต่ละคนแข่งกันเปียเพื่อนำเงินก้อนนั้นไปใช้ก่อน แต่พอมันมีลักษณะเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทน มีดอกเบี้ย มีกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งชักจูงให้หลายคนยอมควักกระเป๋าตัวเองไปลงทุนในวงแชร์ โดยคาดหวังให้เงินลงทุนนั้นมันงอกเงย แม้ว่าข่าวการหลอกลวงให้ลงทุนในวงแชร์นั้นจะมีบ่อยมาก (เพียงแต่ไม่บอกว่ามันคือระบบแชร์ลูกโซ่) ซึ่งผู้เสียหายไม่ใช่แค่หลักสิบหรือหลักร้อยคน ส่วนมูลค่าความเสียหายก็ไม่เคยต่ำกว่าหลักล้าน แต่ก็ยังมีคนหลงเชื่อลงทุนในวงแชร์ลูกโซ่อยู่เป็นประจำ

นั่นเพราะเรื่องเงินไม่เคยเข้าใครออกใคร ความโลภก็เช่นกัน เมื่อเข้าครอบงำใครแล้ว คนคนนั้นมักจะไม่มีสติ ไม่ฟังคำเตือนของใคร คิดแต่จะได้อย่างเดียว นำเงินตัวเองที่มีอยู่ไปลงทุนแล้วได้กำไรไม่สาแก่ใจ จนถึงขั้นต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาลงทุนอีกมาก ๆ เพื่อหวังกอบโกยผลตอบแทนให้มากขึ้นตามเงินลงทุน จนสุดท้ายก็ถอนตัวไม่ขึ้น กลับตัวไม่ทัน และถูกริบเงินลงทุนนั้นไปในที่สุด กว่าจะรู้สึกตัวได้ สถานะจากผู้ร่วมลงทุนก็กลายเป็นเหยื่อที่ถูกต้มจนเปื่อย

โฆษณาชวนเชื่อการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้น เกือบทั้งหมดที่จุดเด่นตรงที่ลงทุนน้อย แต่ผลตอบแทนสูง (ทว่าถ้าลงทุนสูง ผลตอบแทนก็จะสูงตามไปด้วย) อีกทั้งในช่วงแรก ๆ ก็ล่อเหยื่อด้วยการให้ผลตอบแทนมูลค่าสูงจริง ๆ ตามที่โฆษณาไว้ จึงยิ่งทำให้มีการบอกต่อกันว่าได้จริง คนจึงเข้ามาเล่นเยอะมากขึ้น ส่วนคนที่เล่นอยู่แล้วก็ยังคงเชื่อใจต่อไปเพราะเราได้เงินจริง ๆ และพยายามลงทุนให้สูงขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นตาม

จุดนี้นี่เองที่ทำให้กิจกรรมแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเหยื่อก็ไม่เคยหมดไป เพราะการฝากเงินในระบบที่เชื่อถือได้ อย่างการฝากประจำหรือฝากในธนาคารนั้นได้ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลที่งอกเงย แต่ถ้าหากจะนำเงินไปเล่นหุ้นก็อาจจะซับซ้อนเกินไปสำหรับหลาย ๆ คน รวมถึงอาจมีความเสี่ยงหากเลือกลงทุนไม่เป็น ทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงความยาก ความนาน และความผลตอบแทนต่ำ มาลงทุนกับอะไรที่มันง่ายกว่า เห็นผลเร็วกว่า และกำไรงามแบบแชร์ลูกโซ่นี่แหละ โดยอาจจะรู้มาก่อนหรือไม่รู้ก็ได้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

เพราะน่าเชื่อถือ เลยมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอก

ลักษณะของธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้น มีจุดประสงค์หลักคือการขยายเครือข่ายให้กว้างขวางมากที่สุด ดังที่เราจะเห็นว่าเหยื่อที่เป็นผู้เสียหายมักมีอยู่ในแทบทุกวงการอาชีพ เพียงแค่มีใครสักคนในสำนักงานนั้น ๆ หลงเชื่อและติดกับ ไม่นานนักก็จะขยายเป็นวงที่ใหญ่ขึ้นด้วยการบอกต่อแบบปากต่อปากจากคนใกล้ชิด มีความพยายามหาสมาชิกจากคนรอบ ๆ ตัวให้เข้ามาลงทุนด้วยมาก ๆ เนื่องจากเป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้วจึงมีการหว่านล้อมให้อีกฝ่ายรีบเข้าลงทุนโดยเร็วได้ง่าย ซึ่งพลังของการบอกต่อกันเป็นทอด ๆ นี่เองที่ทำให้การลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ขยายวงได้อย่างรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง โดยเมื่อมีคนนำเงินไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนจริง ๆ ก็เกิดการชักชวนคนรอบข้างให้มาเล่นตามด้วย

เป็นไปตามทฤษฎี Dunbar’s Number ที่พบว่า “คน 1 คนจะมีเครือข่ายที่รายล้อมตนเองอยู่ประมาณ 150 คน” นั่นหมายความว่าเพียงแค่คน 1 คนบอกพยายามชักจูงหรือบอกต่อให้กับผู้คนที่เขารู้จักทั้งหมดซึ่งมีอยู่ราว ๆ 150 คน คนจำนวน 150 คนนั้น ก็จะมีเครือข่ายของตนเองอีก 150 คน เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผู้คนจำนวนมหาศาลจึงได้รับการบอกต่อในเรื่องเดียวกัน ซึ่งถ้ามีคนส่วนมากหลงเชื่อ เห็นพ้องต้องกันจนพากันร่วมลงทุนเพื่อที่จะได้เป็นสมาชิกของเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ เท่านี้ก็เข้าทาง

ลักษณะการโน้มน้าวชักจูงแบบปากต่อปากจาก “คนใกล้ตัว” นี้นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากทีเดียว เพราะปฏิเสธยาก อีกทั้งคนเราค่อนข้างที่จะเชื่อใจและไว้วางใจคนที่ตัวเองรู้จัก เหมือนว่าเราก็คัดคนที่จะสนิทสนมด้วยแล้วประมาณหนึ่ง คิดว่าเขาคงจะหวังดีบอกต่อสิ่งดี ๆ และคงไม่หลอกลวง ด้วยตรรกะแบบนี้จึงมีการนำเงินของตนเองไปร่วมลงทุนกับคนรู้จัก ทำให้สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นเหยื่อที่ถูกหลอกเหมือนกัน เกิดความเสียหายขึ้นเหมือนกัน บางคนนำเงินเก็บก้อนสุดท้ายไปลงทุนตามคำเชิญชวนของคนใกล้ตัวเพราะเห็นว่าน่าเชื่อถือ เห็นเขาลงเราก็เลยลงบ้าง เพื่อหวังต่อเงินให้งอกเงยจากดอกเบี้ยที่ได้รับ ทว่าตอนจบก็เจ็บไม่ต่างกัน เพราะการเชื่อตามกัน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือ “ความ (ดู) น่าเชื่อถือ” ไม่ว่าคนใกล้ตัวที่เข้ามาชักจูงบอกต่อเราจะดูเชื่อถือได้มากแค่ไหน หรือแม้แต่ตัวเราจะศึกษาด้วยตนเองแล้วก็ตาม เพราะมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนได้จำนวนมาก ก็อาศัยหากินจาก “ความน่าเชื่อถือ” ทั้งสิ้น ในยุคสมัยที่เราเชื่อใจใครไม่ได้ ก็ต้องระมัดระวังตนเองก่อน พยายามเอะใจกับทุกอย่างที่รู้สึกว่าน่าสงสัยหรือดูผิดปกติเกินไป อย่าเชื่อใจคนอื่นที่เข้ามาชักชวนว่าเขาจะศึกษาหรือตรวจสอบมาดีแล้วเขาถึงมาชวนเรา เพราะขนาดเราศึกษาเองก็ยังโดนหลอกได้เลย

เพราะ “การลงทุนมีความเสี่ยง” เราจึงไม่ควรรีบร้อนที่จะตัดสินใจเพียงเพราะถูกปั่นหัวหรือเกลี้ยกล่อมให้รีบลงทุน เตือนตัวเองว่า “อย่าโลภ” คิดว่าร่วมลงทุนไปก่อนคงไม่เป็นไร โดยหวังจะกอบโกยกำไรให้ได้มาก ๆ ในช่วงแรกที่ได้รับผลตอบแทนจริง ได้พอแล้วเดี๋ยวค่อยถอนทุน เมื่อความโลภครอบงำจนถึงขีดสุด เราจะขาดวิจารณญาณในการไตร่ตรอง พอได้รับผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ ก็ลงเงินเพิ่มไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ผลตอบแทนสูงขึ้น บางคนถึงขั้นไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน สุดท้ายกลับตัวไม่ทัน ทำให้เสียหายหลายแสนหลายล้านเลยก็มี ดังนั้น “ลงทุนตามกัน ล้มตามกัน” คือบทเรียนที่ต้องจำขึ้นใจ ถ้าจะเอาเงินเราลงทุน ก็ควรตรวจสอบด้วยตัวเอง อย่าไว้ใจใครแม้แต่คนใกล้ตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook