“ครูวุ้น” ครูเท้าไฟแห่ง TikTok “โชคดีมากที่ค้นหาตัวเองเจอ”
Highlight
- ครูวุ้น - ณงค์ศักดิ์ ดุริยปราณีต ครูสอนภาษาไทยของโรงเรียนวัดวังพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี โด่งดังใน TikTok ด้วยลีลาการเต้นสุดพริ้ว พร้อมกับเหล่านักเรียน
- จากเด็กเนิร์ดที่ไม่ทำกิจกรรม ค้นพบตัวเองผ่าน “การเต้น” ซึ่งช่วยให้ครูวุ้นกล้าแสดงออกมาขึ้น แม้เขาต้องเผชิญหน้ากับคำสบประมาทจากคนรอบข้าง แต่ความรักในการเต้นก็ทำให้ครูวุ้นฝ่าฟันทุกคำพูด และฝึกฝนการเต้นจนเชี่ยวชาญ
- ด้วยความรักในการเต้น ทำให้ครูวุ้นตัดสินใจชวนนักเรียนที่ชื่นชอบการเต้นเหมือนกัน มาแสดงความสามารถและอัปโหลดคลิปวิดีโอลงในแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสมากมายที่เข้ามาสู่ชีวิตของครูวุ้นและลูกศิษย์
- เด็ก ๆ ควรได้ลองทำกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ควรจะจัดหาพื้นที่ให้เด็กได้ค้นหา ทดลองและค้นพบความชื่นชอบของตัวเองให้เจอ
“การค้นหาตัวเอง” กลายเป็นสิ่งที่คนยุคใหม่ให้ความสำคัญ และเป็นประเด็นยอดฮิตที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอยู่เสมอ เมื่อเด็กไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร ไม่รู้ต้องพาตัวเองไปอยู่ที่ตรงไหน จึงจะเจอจุดที่ใช่และเหมาะสมกับตัวเอง เช่นเดียวกับผู้ใหญ่มากมายที่ต้องเผชิญกับความสับสนในชีวิต และลงเอยอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รักจนไม่มีความสุข แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของ “ครูวุ้น - ณรงค์ศักดิ์ ดุริยปราณีต” ครูสอนภาษาไทยของโรงเรียนวัดวังพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ค้นพบความสุขของชีวิตผ่าน “การเต้น” ที่นำเขาไปสู่ตำแหน่ง “ครูนักเต้นเท้าไฟแห่ง TikTok” และนำมาซึ่งโอกาสมากมายในชีวิตที่เกินกว่าเขาจะฝันถึง
การเต้นเปลี่ยนชีวิตเด็กเนิร์ด
“เมื่อก่อนผมเป็นคนที่เรียนอย่างเดียว คล้าย ๆ เป็นเด็กเนิร์ด คือเรียนอย่างเดียว ไม่ทำกิจกรรม แล้วก็ไม่มีสังคมกับเพื่อน ๆ เลย จนกระทั่งมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง Step Up ภาค 2 ซึ่งต้องขอขอบคุณภาพยนตร์เรื่องนี้เลย เพราะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผม” ครูวุ้นเริ่มต้นเล่า
จากเด็กขี้อาย ไม่คบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูง ครูวุ้นตกหลุมรัก “การเต้น” และเพียรฝึกฝนด้วยตัวเอง จนกลายมาเป็นนักเต้นเท้าไฟ ที่ไม่เพียงจะมอบความสุขให้กับตัวเองเท่านั้น แต่การเต้นยังช่วยครูวุ้นในอีกหลาย ๆ ด้าน
“เราเป็นคนขี้อาย เป็นคนเก็บตัว ไม่ยุ่งกับใคร พักกลางวันเราก็อยู่คนเดียว เวลามีกิจกรรมหรือมีวิชาที่ต้องออกไปนำเสนอหน้าห้อง เราก็รู้สึกไม่มั่นใจเลย จนกระทั่งมาเจอสังคมเต้น มันทำให้เรารู้สึกกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น แล้วมันส่งผลกับการเรียนด้วย อย่างเช่นเวลาผมไปนำเสนอหน้าห้อง ผมก็จะมีความมั่นใจ แล้วยังช่วยเรื่องบุคลิกภาพด้วย เพราะนอกจากต้องเต้นตามจังหวะแล้ว มันเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ ที่ต้องปรับให้มีความสมดุล แล้วก็เหมาะสม มันจะได้สวยงาม” ครูวุ้นกล่าว
ฝ่ากำแพงคำสบประมาทด้วยความรักในการเต้น
เพราะมีรูปร่างท้วมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ครูวุ้นต้องเผชิญกับคำพูดถากถางจากคนรอบข้าง เขายอมรับว่ารู้สึกเจ็บปวด แต่ความรักในการเต้นก็เป็นแรงผลักดันให้ครูวุ้นสู้กับคำพูดเหล่านั้นอย่างไม่เกรงกลัว
“ตอนแรกรู้สึกว่าเราต้องพยายามมากกว่าคนอื่น เริ่มแรกผมเต้นบีบอยก่อนเลย เพราะเพื่อน ๆ เต้นบีบอยกันหมด แต่เนื่องจากผมเป็นคนท้วมตั้งแต่เด็ก เลยทำให้บางท่าผมไม่สามารถเต้นได้ มันก็จะลำบากนิดนึง จนกระทั่งลองปรับเปลี่ยนแนวทางการเต้นดู ก็ไปเจอแนวการเต้นแบบป๊อปปิ้ง ซึ่งน่าจะเหมาะกับเรา แต่มันก็ใช้เวลา คือแรก ๆ เพื่อนในห้องก็สบประมาท ว่ามึงเลิกเต้นเถอะ มันดูไม่พริ้ว ดูไม่โอเคเลย แต่เราก็อยากเต้น รู้สึกว่ามันใช่สำหรับเรา ก็เลยฝึกเองมาเรื่อย ๆ” ครูวุ้นเล่า
TikTok พื้นที่ค้นหาสิ่งที่นักเรียนชอบ
ด้วยความรักในการเต้น ทำให้ครูวุ้นตัดสินใจชวนนักเรียนที่ชื่นชอบการเต้นเหมือนกัน มาแสดงความสามารถและอัปโหลดคลิปวิดีโอลงในแอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสมากมายที่เข้ามาสู่ชีวิตของครูวุ้นและลูกศิษย์
“เราเริ่มจาก TikTok ก่อน พอเราอัดคลิปกับเด็ก ๆ เราก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลัง ๆ ท่านผู้อำนวยการก็เห็นว่ากิจกรรมนี้มีเด็กสนใจเยอะ เขาเลยตั้งเป็นชมรมให้เลย จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อัดคลิป TikTok กันเองตอนพักกลางวัน มันกลายเป็นว่ากลุ่มเต้นของเราเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายในเรื่องของโรงเรียน เพราะเด็กแต่ละคนมาจากต่างโรงเรียนกันเลย แล้วก็มารวมตัวกัน ทำกิจกรรม แล้วก็พาไปแข่งเต้นด้วยกัน” ครูวุ้นบอก
“ความคิดของคนสมัยก่อนอาจจะมองเรื่องเต้นเป็นเรื่อง “การเต้นกินรำกิน” แต่ผมอยากบอกว่า ปัจจุบันมันคือเรื่องจริงนะ คือการเต้นมันหาเลี้ยงชีพผมได้ มันทำให้เราอิ่มท้องได้ แล้วมันก็สร้างรายได้ให้น้อง ๆ นักเรียนด้วย อย่างบางคนเพิ่งขึ้นมหาวิทยาลัย เขาก็มีช่วงเวลาที่มาทำคอนเทนต์กับเรา เราก็กระจายรายได้ให้กับน้อง บางคนก็เอาเงินไปต่อยอดการทำธุรกิจก็มี บางคนก็เก็บสะสมเงินเพื่อไปเรียนต่อ แบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองแต่ละคนก็มีความสุขมาก” ครูวุ้นเล่า
ผู้ใหญ่ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง
“เด็ก ๆ ควรจะมีช่วงเวลาที่ได้ค้นหาตัวเอง ในช่วงระหว่างการเรียนการสอน การบ้านเป็นสิ่งสำคัญ แต่การบ้านควรจะจัดให้พอเหมาะกับนักเรียน ซึ่งบางทีมันหลายวิชามาก ทำให้เด็ก ๆ ไม่มีเวลาโฟกัสกับกิจกรรมอย่างอื่นเลย เพราะว่าต้องเอาเวลาว่างทั้งหมด หรือเวลาที่จะได้ค้นหาตัวเอง ไปโฟกัสกับการเรียนหรือการบ้านพวกนี้” ครูวุ้นชี้
แม้จะมองเห็นว่าในปัจจุบัน องค์กรหรือหน่วยงานของภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการค้นหาตัวเองของเด็ก ๆ มากขึ้น แต่ครูวุ้นก็ระบุว่าพื้นที่เหล่านี้ยังมีไม่มากพอ และผู้ใหญ่ก็ควรจะจัดหาพื้นที่ให้เด็กได้ค้นหา ทดลอง และค้นพบความชื่นชอบของตัวเองให้เจอ เพื่อที่เด็ก ๆ จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักตัวเองอย่างดี มีทิศทางในชีวิตที่ชัดเจน และเป็นคนที่มีความสุข
“ผมรู้สึกโชคดีที่ผมค้นหาตัวเองเจอ ว่าผมชอบอะไร ผมไม่ชอบอะไร ซึ่งตอนนี้ที่ทุกคนเห็นว่าผมมีงานเต้นเยอะแยะมากมาย คือผมไม่ได้พยายามทำอะไรเลย ผมทำแค่อย่างเดียว คือผมทำในสิ่งที่ผมรัก และสิ่งนี้มันตอบแทนผมเอง โดยที่ผมไม่ต้องพยายามไปดิ้นรนอะไรเลย ทุกอย่างมันตอบแทนเอง แต่มันอาจจะใช้เวลาในการพิสูจน์หลาย ๆ อย่าง” ครูวุ้นกล่าว
ทั้งนี้ ครูวุ้นทิ้งท้ายว่า “อยากให้เด็ก ๆ ทุกคนค้นหาตัวเอง ว่าตัวเองชอบอะไร ออกมาทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่ามันใช่ตัวเอง แม้แต่การเล่นเกม หรือการต่อกันดั้ม หรือทำอะไรก็แล้วแต่ นั่นเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมและบุคลิกของเรา รวมถึงศักยภาพของเราอีกด้วย”
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ