ไรเดอร์ ไม่ใช่คนใช้! อาชีพบริการ ด่านหน้าของสารพัดเรื่อง
ขบวนมอเตอร์ไซค์ของพนักงานขับรถส่งอาหาร ภายใต้ชุดยูนิฟอร์มหลากสีสันที่จอดเรียงรายอยู่แถวหน้าสุดยามรถจอดติดไฟแดง กลายเป็นภาพชินตาไปแล้วในทุกวันนี้ หากย้อนเวลากลับไปเกือบ 10 ปีแล้วเห็นจะได้ ที่บริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างจริงจัง และมีจำนวนแพลตฟอร์มส่งอาหารมากกว่า 5 แบรนด์ให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้บริการ ในขณะที่แพลตฟอร์มส่งอาหารเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากวิถีชีวิตในยุคการระบาดของโควิด-19 หรือความสะดวกสบายจากบริการลักษณะนี้เองก็ตาม
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายบริษัทมีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน บวกกับผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาชีพบริการส่งอาหารหรือไรเดอร์จำกลายเป็นอาชีพที่กำลังได้รับความนิยม ด้วยรายได้ที่สูงและความยืดหยุ่นเรื่องเวลาการทำงานทำให้หลายคนหันมาทำเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น จำนวนผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสั่งอาหารหรือส่งของนั้นมีให้เลือกหลากหลายขึ้นทำให้ช่องทางการหารายได้ก็เพิ่มตามไปด้วย ในยุคก่อนการทำอาชีพนี้อาจมีรายได้ที่สูงมาก แต่ปัจจุบันมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว
นอกจากรายได้อันน้อยนิดไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไปและไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สวัสดิการที่ย่ำแย่ รวมถึงกฎระเบียบของบริษัทที่ “ไม่แฟร์” กับคนทำงาน เหล่าไรเดอร์ยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ความเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน เพราะต้องรีบไปส่งอาหารให้ทัน สุขภาพที่เสื่อมลงทุกวัน ไหนจะปวดหลัง มือสั่นจากการต้องขี่มอเตอร์ไซค์นาน ๆ ปอดพังเพราะสูดควันพิษ ปวดท้องจากโรคกระเพาะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการทำงานไม่เป็นเวลา ยังไม่นับปัญหาสุขภาพจิตอันเป็นผลจากความเครียดสะสม
ใบหน้าเกรียมแดด เนื้อตัวชุ่มโชกด้วยเหงื่อ ท้องร้องครวญครางเพราะความหิว สมองว้าวุ่นครุ่นคิดวางแผนว่าทำอย่างไรถึงจะไปส่งอาหารได้ทันเวลา เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่คือ “อาชีพที่น่าเห็นใจ” ที่สุดอาชีพหนึ่งในเวลานี้ และยิ่งไปกว่านั้นเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนต่อคนหลากหลายรูปแบบ ต้องอดทนกับคำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” เป็นประโยคเบสิกที่ทุกคนไม่ว่าสายอาชีพไหนก็ต้องได้ยินตลอด หาเจอลูกค้าที่น่ารักก็น่าสรรเสริญเยินยออยู่หรอก แต่ในทางกลับกัน “ไรเดอร์” ต้องใช้ความอดทนกับลูกค้าบางรายที่แสดงนิสัยด้านลบออกมา ใช้ไรเดอร์เป็นที่ระบายอารมณ์หิวได้แบบไม่ปรานี ลูกค้าที่กินยาก ขี้วีน ขี้เหวี่ยง ขี้เอาแต่ใจ สารพัดขี้ที่ไรเดอร์ต้องรับมือ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมปัจจุบันมีคนอยู่หลายรูปแบบ การสั่งเดลิเวอรี่นั้นก็มาพร้อมกับเรื่องราวของไรเดอร์ ทั้งเจอไรเดอร์ดี ไรเดอร์ไม่ดี หรือบางทีไรเดอร์เองก็เจอลูกค้าไม่ดีทั้งโกงค่าส่ง สั่งอาหารแล้วไม่รับโทรศัพท์ สั่งแบบแกล้ง ๆ ส่งผลให้ไรเดอร์หลายคนเข็ดจนเลิกทำอาชีพนี้ไปเลยก็มี
อาชีพไรเดอร์กับความรับผิดชอบ
“ไรเดอร์” เปรียบเหมือนอาชีพด่านหน้าที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบไว้ในทุกสถานการณ์ เป็นอาชีพสื่อกลางระหว่างร้านอาหาร และคนสั่งอาหาร แบกความเสี่ยงบนเส้นทางที่ไม่รู้จะเกิดอันตรายขึ้นตอนไหน และแน่นอนว่าเมื่อเกิดภาวะที่เราไม่คาดคิดขึ้นมาแล้ว คนที่ต้องรับแรงกดดันหรือความรับผิดชอบก็คือคนกลางนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่ลูกค้า ไม่ใช่ร้านค้า แต่คือคนจัดส่งอาหาร ไม่ว่าอาหารจะเสียหาย หรือไม่ตรงตามสั่ง บางทีก็ต้องรับแรงกดดันจากลูกค้าบางคนที่ไม่เข้าใจ เอาแต่ความคิดของตนเป็นใหญ่ เพราะถือว่าเป็นฝ่ายชำระเงิน การไม่ตอบโต้คือสิ่งที่ควรทำที่สุด
สรุปได้ว่าคนที่สามารถทำอาชีพนี้ได้นั้น ต้องเป็นคนที่มีสติ มีความใจเย็น รับผิดชอบสูง ที่สำคัญอดทนต่อแรงกดดันทั้งจากการขับขี่ที่ต้องทำเวลา และการพบเจอกับลูกค้าทุกรูปแบบให้ได้ดีที่สุด นับได้ว่าเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเสียสละมากพอสมควรเลยทีเดียว ใครที่สั่งอาหารกับพวกเขาเหล่านี้ ก็ควรคิดถึงใจเขาใจเรากันสักนิด
อาชีพที่ไม่คุ้มค่าต่อความปลอดภัย
จากปัญหาสุขภาพที่พังจากระบบการพักที่ไม่เป็นเวลาก็ยังไม่หนักเท่า อีกหนึ่งความไม่ปลอดภัยที่ไรเดอร์ทุกคนจำเป็นต้องแบกรับอย่างเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องอุบัติเหตุ จากความคิดที่ว่า “ยิ่งช้ายิ่งรายได้น้อย” และประเด็นเรื่องจำนวนไรเดอร์ในระบบที่มีมากเกินความต้องการ จึงส่งผลให้เหล่าไรเดอร์เลือกที่จะเบลอเรื่องความปลอดภัยเพราะไม่ว่ายังไงเรื่องปากท้องต้องมาก่อน
ค่าแรงในการขับรถแต่ละรอบ ที่ต้องแข่งกันแย่งงานจากเพื่อนไรเดอร์ด้วยกันกับค่าแรงในแต่ละวันที่น้อยนิด ยังต้องหาเงินเพื่อสำรองจ่าย สำหรับลูกค้าที่ต้องการให้เก็บเงินปลายทางเป็นจำนวนเงินหลักร้อยกว่าในแต่ละมื้อ แต่กลับต้องระวังกลโกงลูกค้าที่ทำท่าทีสแกนจ่ายเงิน แต่ไม่ได้กดโอนเงิน เป็นการกระทำโดยความตั้งใจ ที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ค่าส่งเพียงไม่กี่บาทที่ได้รับต้องแลกมากับค่าอาหารที่ลูกค้าไม่ยอมจ่ายแบบนี้ คงเกิดความท้อแท้ หากวันนี้ต้องขาดทุนไปกับคนที่ไม่มีจิตสำนึกเช่นนี้
แล้วลูกค้าคือพระเจ้าจริงหรือไม่ ?
ดูเหมือนคำพูดที่ว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” จะมีบทบาทน้อยลง และคนเห็นความสำคัญของการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มากขึ้น เมื่อลูกค้าเรียกร้องการบริการที่ “เกินขอบเขต” พนักงานจึงมีสิทธิ์ปฏิเสธกลับไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะขอบเขตนั้นถูกกำหนดโดยต้นสังกัดของพนักงาน ซึ่งมีสิทธิ์จะไล่พวกเขาออกได้หากละเมิดกฎ
ขณะเดียวกัน ลูกค้าเองก็ต้องเข้าใจคนทำงานบริการด้วย ให้คิดอยู่เสมอว่าพนักงานเป็นเพียง “ผู้ให้บริการ” ไม่ใช่ “ผู้รับใช้” อย่าคิดแต่เพียงว่าตนเองจ่ายเงินแล้วจะออกคำสั่งตามอำเภอใจได้ทุกอย่าง อย่างการสั่งให้ขึ้นไปส่งถึงหน้าห้องพัก ในเมื่อพนักงานก็อธิบายเหตุผลที่น่าจะเข้าใจได้ เพราะนอกจากกฎของพนักงานที่ไม่สามารถขึ้นหอพักของลูกค้าได้แล้ว ทางหอพักเองก็มีกฎห้ามคนนอกขึ้นอาคารเช่นกันเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ดังนั้น การรับอาหารจึงเป็นสิ่งที่ลูกค้าควรลงมารับเอง
แท้ที่จริงต้องคิดกันใหม่ว่าลูกค้าไม่ถูกต้องเสมอไป ลูกค้าถูกได้ผิดได้เหมือนปุถุชนทั่วไป แต่ลูกค้าเป็นลูกค้าอยู่วันยังค่ำที่ต้องให้บริการอย่างสุดความสามารถ และมีวิธีการรับมือที่ดี หากลูกค้าทำผิดหรือเข้าใจผิด ก็ต้องพยายามที่จะทำให้ลูกค้ากลายเป็นลูกค้าที่ถูกด้วยวิธีการอธิบายและการปฏิบัติที่เหมาะสม ถ้าลูกค้าเกรี้ยวกราดแบบไม่มีเหตุผลก็ต้องพยายามหาวิธีการระงับและจัดการความโกรธของลูกค้าให้ได้อย่างมืออาชีพ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักบริการชั้นยอด
อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องล้วนมีเหรียญสองด้าน เช่นกรณีของพนักงานบริการที่อัดคลิปตนเองร้องไห้เนื่องจากถูกลูกค้าปฏิเสธการรับอาหาร ซึ่งพนักงานได้จ่ายค่าอาหารไปแล้ว จนทำให้ชาวเน็ตออกโรงปกป้อง แต่ไม่นานก็ส่อแววว่าคดีจะพลิก เพราะลูกค้ารายนั้นออกมาตอบโต้ว่าพนักงานซื้อของนอกเหนือจากที่ตนสั่งโดยไม่ถามก่อน ทั้งเมนูอาหารและร้านค้า อีกทั้งยังใช้คำพูดหยาบคายกับลูกค้าอีกต่างหาก เรื่องแบบนี้คงต้องพิจารณากันเป็นกรณีไป