ทักษะการปฐมพยาบาล สิ่งที่ควรอยู่ในหลักสูตรการศึกษาไทย

ทักษะการปฐมพยาบาล สิ่งที่ควรอยู่ในหลักสูตรการศึกษาไทย

ทักษะการปฐมพยาบาล สิ่งที่ควรอยู่ในหลักสูตรการศึกษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุบัติเหตุ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน และสถานการณ์ที่โรคประจำตัวกำเริบเป็นเรื่องใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่เกิดแบบปัจจุบันทันด่วน โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า และอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ การที่มันไม่เกิดกับตัวเรา ก็อาจจะเกิดขึ้นกับคนรอบข้างเรา หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าที่เดินสวนทางกัน ซึ่งถ้าเราเกิดเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเข้า เราจะทำอย่างไร เราจะช่วยเหลืออะไรคนเหล่านั้นได้บ้าง หรือทำได้แค่ยืนมองเฉย ๆ เพราะปฐมพยาบาลไม่เป็น!

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid) เป็นการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บแบบทันที ณ บริเวณที่เกิดเหตุ โดยผู้ช่วยเหลือจำเป็นต้องมีทักษะความรู้เฉพาะทางหรือการตัดสินใจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ซึ่งในการช่วยเหลือเบื้องต้นอาจใช้เพียงอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในขณะนั้น เพื่อประคับประคองอาการของผู้ป่วยจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือถูกส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยนั้น คนเดินถนนทั่ว ๆ ไปมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องน้อยมาก ปัจจัยหนึ่งคือ โรงเรียนหรือหลักสูตรการศึกษาไม่ได้สอนให้ทำเป็นอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นทักษะที่ติดตัวไว้

ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทยอาจทำเพียงให้นักเรียนส่งตัวแทนนักเรียนแต่ละห้อง แต่ละสายชั้น เข้ารับการอบรมการปฐมพยาบาล เพราะฉะนั้น มีเด็กเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการปฐมพยาบาลเป็น ซึ่งบางการอบรมก็ไม่ได้สอนจริงจังแม้แต่กับเด็กที่เป็นตัวแทนด้วยซ้ำไป และที่สำคัญ เด็กที่เป็นคนไปเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน เจอคนป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็อาจเป็นคนละคนกับเด็กที่ได้รับการอบรมมาแล้วก็ได้ ดังนั้น การปฐมพยาบาลจึงควรถูกบรรจุลงในหลักสูตรเพื่อใช้สอนนักเรียนอย่างจริงจังทุกคน ตามช่วงวัยของเด็กที่พอจะทำได้ สิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างทั่วถึงจากระบบการศึกษา มากกว่าจะมาหาเรียนรู้ด้วยตัวเองจากนอกห้องเรียน

สิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอนนี้เอง ทำให้ผู้คนในสังคมมีทักษะการเอาตัวรอดและช่วยชีวิตผู้อื่นในสถานการณ์ฉุกเฉินค่อนข้างต่ำ หลาย ๆ สถานการณ์ทำได้เพียงยืนมองและรอความช่วยเหลือ ทั้งที่ถ้ามีใครสักคนที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นเข้าไปทำการช่วยเหลือผู้ป่วยในเบื้องต้น ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดให้พวกเขาได้ เช่น ในเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ กรณีที่มีเด็กนักเรียนโดนไฟดูดเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม เด็กนักเรียนเหล่านั้นอาจจะไม่รอดชีวิต หากไม่มีคนที่ทำ CPR เป็นให้การช่วยเหลืออย่างทันทีในเวลานั้น

ฉะนั้นแล้ว เราควรมีความรู้ด้านการปฐมพยาบาลอะไรอีกบ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะรอดชีวิตให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น

การทำ CPR

หรือที่เรียกเต็ม ๆ ว่า Cardiopulmonary resuscitation คือปฏิบัติการช่วยให้ฟื้นคืนชีพ อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะทำ CPR นั้นจะต้องมั่นใจว่าตัวเองทำเป็นแน่ ๆ อาจผ่านการฝึกฝนว่าสามารถทำได้ทำอย่างถูกต้อง เพราะมันเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นชนิดที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทำถูกวิธี และมีประสิทธิภาพ สิ่งที่พึงระลึกถึงเสมอ คือ สมองของคนเราจะขาดออกซิเจนไปเลี้ยงได้ไม่เกิน 4 นาที มิเช่นนั้นสมองจะตาย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา

การทำ CPR เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ (กำลังจะ) หยุดหายใจหรือหัวใจ (กำลังจะ) หยุดเต้น ให้กลับมาหายใจหรือลมหายใจไหลเวียนได้ตามปกติอีกครั้ง อย่างที่บอกว่าหัวใจของการทำ CPR นั้นอยู่ที่การปั๊มหัวใจให้กลับมาเต้นอีกครั้ง จึงต้องทำให้ถูกต้องและทันเวลา โดยสามารถทำ CPR กับผู้ป่วยหรือผู้ประสบเหตุที่หมดสติ หลังจากเช็กแล้วพบว่าลมหายใจอ่อนหรือหยุดหายใจ หัวใจใกล้หยุดเต้นหรือหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว เช่น คนจมน้ำ หัวใจวาย ไฟดูด สำลักควันไฟจากเหตุไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ

ขั้นตอนในการทำ CPR

  • เริ่มทำ CPR ได้โดยการจับให้ผู้ป่วยนอนหงาย นั่งคุกเข่าข้างผู้ป่วย ไม่นั่งทับบนส้นเท้า แต่ให้กางหัวเข่าออกให้ได้หลัก วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก (ตำแหน่งตรงกลางระหว่างหน้าอก ระดับเดียวกับหัวนมพอดี) และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ แขนทั้งสองข้างเหยียดตรงไม่งอข้อศอก ใช้กำลังทั้งตัวในการกดลงไป โดยให้รวมน้ำหนักจากลำตัวมาสู่หัวไหล่ แล้วกดพุ่งตรงบริเวณจุดที่กำหนด
  • กดให้ลึก กดหน้าอกผู้ป่วยให้ลึกลงไปราว ๆ 2-2.4 นิ้ว (หรือลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร)
  • กดให้ถึงร้อย อัตราความเร็วในการกดให้อยู่ในช่วง 100-120 ครั้งต่อนาที หรืออาจกดตามจังหวะเพลงสุขกันเถอะเรา ของสุนทราภรณ์, Staying Alive ของ Bee Gees หรือ Imperial March เพลงธีมของ Darth Vader ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ก็ได้
  • ปล่อยให้สุด เมื่อกดหน้าอกยุบลงไป 2-2.4 นิ้วแล้ว ให้ปล่อยให้หน้าอกผู้ป่วยกลับมาฟูเหมือนปกติทุกครั้งก่อนค่อยกดใหม่
  • อย่าหยุดกด อย่าหยุดกดหน้าอกจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการตอบสนอง หากผู้ที่กำลังช่วยเหลืออยู่นั้นไม่สามารถกดต่อได้เนื่องจากเหนื่อยล้า ให้เปลี่ยนตัวคนทำ CPR
    การห้ามเลือด

การห้ามเลือด

การห้ามเลือดอาจจะเป็นความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลที่ได้ใช้งานบ่อยที่สุดก็ว่าได้ เพราะเหตุการณ์ที่อาจทำให้ถึงขั้นเลือดตกยางออกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากในชีวิตประจำวัน เดิน ๆ อยู่อะไรอาจจะมาเกี่ยวผิวหนังจนเป็นแผล โดนของมีคมบาด แผลเล็กแผลใหญ่ก็ว่ากันไป หากปากแผลค่อนข้างใหญ่และเลือดไหลเยอะ ต้องทำการห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดกดลงไปบริเวณแผลให้แน่น และพยายามยกอวัยวะที่เลือดออกให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เป็นเทคนิคการห้ามเลือดโดยลดแรงการไหลของเลือดให้ช้าลง ครู่เดียวเลือดก็จะหยุด

แขนหรือขาหัก

โดยทั่วไปจะสังเกตได้จากการที่พบกระดูกโผล่ทะลุออกมาจากผิวหนัง หากผู้ป่วยมีแผลเปิด เลือดจะทะลักออกจากบาดแผลไม่หยุดแม้จะกดแผลห้ามเลือดอยู่หลายนาที ก็ต้องห้ามเลือดต่อไปด้วยวิธีการห้ามเลือด ให้ใช้ผ้าพันแผลปลอดเชื้อพันไว้ จากนั้นให้ประคบน้ำแข็งหรือยกแขน/ขาขึ้นเหนือหัวใจ จะช่วยให้แผลบวมน้อยลงได้ แล้วช่วยเหลือขั้นต่อไปโดยการดามอวัยวะที่หักด้วยผ้าพันแผลกับไม้กระดานหรือวัสดุดาม (ศึกษาวิธีการดามกระดูกหักอย่างถูกต้อง เป็นอีกขั้นตอนของการปฐมพยาบาล) ระวังอย่าให้การดามส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่บริเวณแขนหรือขา จากนั้นรีบส่งเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที

อาการชัก

วันหนึ่ง ๆ เราเดินสวนกับผู้คนตั้งมากมาย โดยที่เราไม่รู้หรอกว่าพวกเขาเหล่านั้นมีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า โดยเฉพาะพวกโรคลมชักทั้งหลาย วันดีคืนดีพวกเขาอาจจะอาการกำเริบต่อหน้าเราก็ได้ วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่กำลังชักที่ถูกต้อง คือไม่ควรนำอะไรไปยัดปากผู้ป่วย เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงกว่าเดิม แค่จับนอนตะแคง หาอะไรนุ่ม ๆ มาหนุนรองหัว เพื่อป้องกันการสำลักน้ำลายหรือสำลักอาเจียนและศีรษะกระทบกระเทือน อย่าให้คนมุง ปลดเสื้อผ้าให้หลวม ไม่ต้องปั๊มหัวใจ ไม่ต้องพยายามหยุดอาการชัก ผู้ป่วยจะหยุดชักได้เอง แต่ถ้ามีอาการชักนานเกิน 5 นาที ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรจดจำอาการและระยะเวลาที่ชักว่านานเท่าไร เพื่อจะได้แจ้งแก่ผู้ป่วยหรือแพทย์ได้

เป็นลม

เป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน โดยเกิดขึ้นจากภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติชั่วคราว การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่เป็นตัวเอง หากเกิดอาการหน้ามืด ตาพร่าลาย หรือเวียนศีรษะ ให้รีบล้มตัวลงนอนหรือนั่งพักทันที สำหรับท่านั่ง ให้นั่งโน้มศีรษะลงมาอยู่ระหว่างเข่าพร้อมกับหายใจเข้าลึกเต็มปอด หากรู้สึกดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลุกขึ้น แต่ไม่ควรรีบลุกขึ้นเร็วจนเกินไป เนื่องจากอาจวิงเวียนและเป็นลมซ้ำได้

กรณีที่พบผู้อื่นเป็นลม ให้พาไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก กันคนมุง จัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ ยกขาขึ้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ (สูงประมาณ 30 เซนติเมตร) เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้ง่ายขึ้น จากนั้นให้ปลดเข็มขัด คอเสื้อ หรือเสื้อผ้าส่วนอื่น ๆ ที่รัดแน่นให้หลวมเพื่อที่จะได้หายใจได้สะดวกขึ้น อาจให้ดมแอมโมเนียหรือยาดมเพื่อบรรเทาอาการ หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าควบคู่ไปด้วยก็ได้ หากผู้ป่วยฟื้น อย่าเพิ่งให้รีบลุกขึ้นเร็วจนเกินไป หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำ CPR และให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานแพทย์หรือกู้ชีพ กรณีที่ได้รับบาดเจ็บ ปฐมพยาบาลผู้ป่วยตามอาการ

อาการสำลัก

ก็เป็นอีกอาการที่สามารถพบได้ทั่วไป ปกติไม่ได้รุนแรงอะไรถ้าสามารถนำเอาสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้ แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดค้างอยู่ในลำคอหรือกีดขวางหลอดลม จะเริ่มอันตรายเพราะผู้ป่วยจะขาดอากาศหายใจ ทำให้เล็บ ริมฝีปาก และผิวหนังของผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือคล้ำ พูดไม่มีเสียง หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง ไม่สามารถไอแรง ๆ เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา และอาจหมดสติในที่สุด

วิธีการปฐมพยาบาลให้ช่วยเหลือโดยการตบหลัง 5 ครั้ง ระหว่างกระดูกสะบักของผู้ป่วยด้วยสันมือหรือใช้วิธีการกดกระแทกที่ท้อง โดยการยืนข้างหลังผู้ป่วย เอาแขนรัดรอบเอว แล้วโน้มตัวผู้ป่วยไปด้านหน้าเล็กน้อย กำหมัดแล้ววางไว้ตรงสะดือของผู้ป่วย จากนั้นใช้มืออีกข้างจับที่หมัด แล้วกดลงแรงและเร็วที่ท้องของผู้ป่วย ให้เหมือนกับกำลังพยายามยกตัวผู้ป่วยขึ้น วิธีนี้สามารถทำซ้ำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา การช่วยเหลือทั้ง 2 วิธีผู้ช่วยเหลือควรเรียนเทคนิคที่ถูกต้องมาก่อนถึงจะช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งูกัด

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกงูกัดนั้น ปัจจุบันหลายคนยังเข้าใจผิดและเข้าคลาดเคลื่อนกันอยู่มาก ความรู้ใหม่คือไม่ต้องขันชะเนาะ เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ที่สำคัญยังอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง มีโอกาสที่จะทำให้เนื้อเน่าตายได้ รวมถึงห้ามช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการใช้ปากของเราดูดพิษออกเด็ดขาด เสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อ เพราะปากเรามีเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงตัวผู้ช่วยเหลือก็อาจจะเป็นอันตรายด้วย

สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยงูกัดยุคใหม่ ให้ตั้งสติ หากไม่รู้ว่างูที่กัดเป็นงูอะไร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นงูมีพิษ แล้วปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ พยายามให้ผู้ป่วยขยับเขยื้อนร่างกายในตำแหน่งที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด และพยายามให้แผลอยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ เพื่อลดการดูดซึมพิษงู และอาจดามด้วยการดามด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุแข็ง ใช้ผ้าพันแผลยางยืดรัดให้แน่นพอประมาณ แล้วส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด หากทำได้ ให้จดจำลักษณะของงูหรือถ่ายรูปงูเอาไว้ด้วย

แมลงสัตว์กัดต่อย

เป็นการปฐมพยาบาลที่สำคัญที่ควรรู้ โดยเฉพาะกับพวกสัตว์มีพิษหรือสัตว์บางประเภทที่ต้องปฐมพยาบาลด้วยวิธีเฉพาะ การที่เราไม่รู้วิธีปฐมพยาบาลหรือการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดเรื่องใหญ่กว่าที่คิด ยกตัวอย่างเช่น การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกปลิงกัด หลายคนไม่รู้ว่าห้ามดึงเอาปลิงที่เกาะอยู่บนร่างกายออกเอง เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดฉีกขาดเป็นแผลใหญ่ และเลือดหยุดยากขึ้นด้วย เนื่องจากในน้ำลายของปลิงมีสารประเภทต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้ผู้ป่วยเลือดไหลไม่หยุด แต่ให้ใช้น้ำเกลือเข้มข้น น้ำส้มสายชูแท้ หรือแอลกอฮอล์ หยอดรอบ ๆ ปากของปลิง หรืออาจใช้ไม้ขีดหรือบุหรี่ที่จุดไฟจี้ที่ตัวปลิง เพื่อทำให้ปลิงหลุดจากผิวหนังของเรา เป็นต้น

ไฟดูด

เป็นอันตรายอันดับต้น ๆ ที่เกิดขึ้นได้แม้กระทั่งอยู่ในบ้านของตัวเอง การที่กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างกายอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท ซึ่งอันตรายถึงขั้นพิการ เสียอวัยวะ และเสียชีวิตได้เลย

สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟดูดนั้น ก่อนเข้าหาตัวผู้บาดเจ็บ ให้สับสวิตช์ไฟหรือตัดกระแสไฟฟ้าก่อน อย่าบุกเข้าไปทั้งอย่างนั้น มิเช่นนั้นก็ไม่แคล้วโดนดูดด้วยอีกคน หากมีสายไฟพาดผ่านตัวผู้บาดเจ็บอยู่ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ มาเขี่ยเอาสายไฟออกจากตัวผู้บาดเจ็บก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ จากนั้นให้นำผู้บาดเจ็บออกมายังที่ปลอดภัย โดยห้ามสัมผัสตัวผู้บาดเจ็บด้วยมือเปล่าเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บหมดสติ จะต้องพิจารณาว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจหรือไม่ หากหยุดหายใจจะต้องรีบทำ CPR ทันที จากนั้นรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์

เบอร์โทรศัพท์ช่วยชีวิต อีกสิ่งสำคัญที่ต้องมีติดตัว

นอกจากการเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว อีกสิ่งที่ต้องมีติดตัวไว้ คือ หมายเลขโทรศัพท์สำหรับขอความช่วยเหลือ เพราะการปฐมพยาบาลนั้นเป็นเพียงการช่วยเหลือและบรรเทาความรุนแรงในเบื้องต้นเท่านั้น แค่เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต แต่ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าผู้ป่วยจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์จากการปฐมพยาบาลของเรา หากเราไม่ใช่แพทย์หรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อกันเหนียว หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ต้องติดต่อแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป

หลัก ๆ แล้ว หากผู้ช่วยเหลือที่พบผู้ป่วยกำลังต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถติดต่อแจ้งเหตุผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรมีหมายเลขอื่น ๆ สำรองไว้ด้วย เช่น เบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาลในท้องที่ เบอร์หน่วยกู้ภัย หน่วยกู้ชีพ เพิ่มโอกาสในการขอความช่วยเหลือได้หลาย ๆ ช่องทาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook