พิชิตเป้าหมาย เลิกฟุ่มเฟือย งดช้อปตามอารมณ์ ซื้อเท่าที่จำเป็น

พิชิตเป้าหมาย เลิกฟุ่มเฟือย งดช้อปตามอารมณ์ ซื้อเท่าที่จำเป็น

พิชิตเป้าหมาย เลิกฟุ่มเฟือย งดช้อปตามอารมณ์ ซื้อเท่าที่จำเป็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเคยลองคำนวณยอดเงินของสินค้าที่คุณซื้อมาในช่วงขาดสติบ้างหรือไม่ว่าคุณเคยเสียหายกับมันไปเท่าไร! ของที่กดจ่ายเงินไปโดยที่ยังไม่ได้คิดให้ดีว่าจะซื้อมาทำไม ของที่ทุกวันนี้ยังไม่ได้ปลดป้ายราคาออก แถมยังไม่ได้หยิบเอาออกจากถุงหรือกล่องพัสดุที่ขนส่งมันมาถึงมือคุณเราด้วยซ้ำ ของที่คุณเข้าไปกดโยน ๆ ลงตะกร้าเวลาที่คุณอารมณ์ไม่ดี แล้วก็กดจ่ายเพื่อให้ตัวเองอารมณ์ดีขึ้น ไม่เน้นประโยชน์ใช้สอยจากการที่ซื้อมา

เมื่อสัปดาห์ก่อน หลาย ๆ คนอาจมีโอกาสได้อ่านข่าวจากต่างประเทศข่าวหนึ่ง เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่มีชื่อว่า Jen Craven ซึ่งเธอได้เขียนเล่าเรื่องราวของภารกิจเล็ก ๆ ที่เธอตั้งเป้าหมายไว้แล้วลองลงมือทำดู เธอพบว่า นอกเหนือจากความตั้งใจที่เธอมีเพื่อการลงมือทำอะไรสักอย่าง ระหว่างทางเธอยังได้เรียนรู้อะไรที่คาดไม่ถึงอีกด้วย ภารกิจของเธอก็คือ “ท้าทายตัวเองด้วยการไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ รวมทั้งเครื่องประดับต่าง ๆ หรือของฟุ่มเฟือยสำหรับตัวเอง เป็นระยะเวลา 365 วัน” ซึ่งเธอก็ทำมันได้สำเร็จด้วย

สิ่งที่เธอเรียนรู้คือ การช้อปปิ้งของเธอไม่ได้เกิดจากความอยากได้ หรือต้องการเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกเบื่อ จนส่งผลให้ใช้เงินเพราะอารมณ์ และเมื่อเธอหยุดช้อปปิ้งแบบฟุ่มเฟือยนานวันเข้า ความรู้สึกอยากได้ก็ลดหายไปเยอะ แถมยังประหยัดเงินอีกด้วย ซึ่งเธอก็ไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองทำได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหากคุณคิดอยากจะลองพิชิตเป้าหมายนี้ดูบ้าง Tonkit360 มีคำแนะนำดังนี้

เป็นความตั้งใจที่ตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่

ขั้นแรกของภารกิจหักดิบการช้อปปิ้งของตนเอง ให้เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่ ถ้าคุณเคยลองที่จะลด ละ เลิกการช้อปปิ้งมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ คุณอาจต้องย้อนกลับไปดูว่ามันผิดพลาดที่ตรงไหน ทำไมคุณถึงทำปณิธานที่ตั้งไว้ไม่สำเร็จ ซึ่งมันก็ยังไม่สายเกินไปที่กลับมาเริ่มต้นใหม่ตั้งปณิธานใหม่อีกครั้ง

วิธีการลดการใช้จ่ายของตัวเองด้วยการจำกัดการช้อปปิ้งให้น้อยลงนั้น ควรเริ่มต้นจากเป้าหมายที่ว่า “จะทำไปเพื่ออะไร” หลัก ๆ แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องของการฝึกฝนให้ตัวเองเริ่มต้นที่จะรู้จักการใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บออมเพิ่มขึ้น เพื่อให้หันกลับไปเหลียวแลของที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้แกะป้ายราคาออก ลดการซื้อของใหม่เข้ามากองสุมเพิ่ม เพื่อท้าทายตัวเองว่าฉันก็ทำได้นะ ที่ไม่ช้อปปิ้งเกินจำเป็นเลยตลอดระยะเวลาที่ตั้งไว้ หรือจะเพื่อค่อย ๆ เก็บเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เคยหมดไปกับเรื่องไร้สาระจุกจิกไว้ซื้อของสำคัญที่ชิ้นใหญ่ราคาแพงแต่จำเป็น อะไรแบบนี้ก็ได้

เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ใจและวินัยในการควบคุมหักห้ามใจตัวเอง มันเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ การจะทำตามเป้าหมายให้สำเร็จนั้น จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่การลงมือทำให้ได้ก่อน จากนั้นทำไปเรื่อย ๆ อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเราก็จะพบว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ถ้าเราตั้งใจจะทำจริง ๆ แถมมันยังอาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนุก ท้าทาย ว่าท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายครั้งนี้จะพาเราไปจบที่ตรงไหน

การซื้อของเป็นเรื่องของ “อารมณ์”

จริง ๆ แล้ว มันมีเหตุผลในทางจิตวิทยาที่อธิบายได้ว่า ทำไมเวลาที่เราหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี เครียด หรือมีความรู้สึกในด้านลบคุกคามคุณภาพชีวิต เราจึงมักจะเยียวยาความรู้สึกดังกล่าวด้วยการ “ช้อปปิ้ง” Scott Bea นักจิตวิทยาแห่งคลินิกคลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา ยืนยันยันว่า “การช้อปปิ้งมีคุณค่าทางจิตใจ และมีบทบาทในการเยียวยาอาการเจ็บป่วยทางใจด้วย”

“คุณค่าทางจิตใจของการช้อปปิ้ง” จึงกลายเป็นจิตวิทยาที่มีการศึกษากันอย่างจริงจัง ซึ่งเรียกว่า Retail Therapy เป็นการยกให้การซื้อของเป็น “การบำบัด” อย่างหนึ่ง นั่นหมายความว่าการช้อปปิ้งสามารถช่วยบำบัดจิตใจให้เรารู้สึกผ่อนคลายความเครียดและมีความสุขขึ้นได้จริง ๆ มากถึงขนาดที่หลาย ๆ คนบอกว่าการนั่งสมาธิยังช่วยให้จิตใจสงบได้ไม่เท่ากับการรอของมาส่งหน้าบ้านเลยด้วยซ้ำ ความรู้สึกตื่นเต้นเวลาเปิดกล่องทั้ง ๆ ที่รู้ว่าในกล่องมีอะไร การได้สัมผัสกับสินค้าคอลเลกชั่นใหม่ รู้สึกมีความสุขที่ได้ครอบครอง การเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างที่วางกองอยู่ตรงหน้า

จิตวิทยาข้างต้น สามารถอธิบายได้ว่าการช้อปปิ้งบำบัด นับเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่คนสมัยนี้เรียกว่า “การใช้เงินแก้ปัญหา” ซึ่งปัญหาที่ว่าก็คืออารมณ์เบื่อ เหงา เซ็ง หรืออยู่ว่าง ๆ จนฟุ้งซ่าน ไม่มีอะไรทำก็เลยช้อปปิ้งดีกว่า ยิ่งทุกวันนี้การช้อปปิ้งทำได้ง่ายดายมากผ่านการช้อปออนไลน์ ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบายไปหมด เหมือนการยกห้างสรรพสินค้ามาไว้ในกำมือเรา ที่เราสามารถเข้าไปช้อปได้ตลอดเวลาเท่าที่สถานการณ์จะอำนวย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปข้างนอกให้เสียเวลา ไม่ต้องคำนวณเงินที่ต้องจ่ายมากมาย เพราะผูกบัตรเครดิตกับแอป เอาไว้แล้ว รู้ตัวอีกที กล่องพัสดุก็เต็มบ้าน พนักงานส่งของโทรหาไม่หยุด และที่น่าช็อกก็คือ เงินหายไปหมดแล้ว!

ทำไมการช้อปปิ้งถึงบำบัดจิตใจและความรู้สึกเชิงลบได้ มีงานวิจัยที่ให้คำตอบนี้ได้ เนื่องจากในขณะที่มีการซื้อของ ผู้ที่ได้สิ่งที่ตนเองชอบจะเกิดความรู้สึกดีจากการได้รับรู้ความเป็นเจ้าของ ในขณะนั้นสมองจะมีการหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ เอนโดรฟิน (endorphins) และโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข พบว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนทั่วไป จะมีความต้องการอย่างมากที่จะรู้สึกมีความสุขแบบนั้นอีก ทำให้เกิดพฤติกรรมโหยหาความสุข (craving) และหยุดยั้งตนเองได้ยากเมื่อมีโอกาสได้ช้อปปิ้งอีกครั้ง

อยากได้ vs จำเป็น

ในเมื่อการช้อปปิ้งนั้นดีต่อสุขภาพจิตของเราจริง ๆ มันก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหรอกที่เราจะจ่ายเงินซื้อของเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีมีความสุข แต่ปัญหามันอยู่ที่เราไม่สามารถที่จะช้อปปิ้งได้อย่างอิสระขนาดนั้น ตราบใดที่เราไม่ได้ผลิตเงินได้เอง และที่สำคัญ อะไรที่มันมากเกินไปมันก็เป็นผลเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเสพติดการช้อปปิ้ง หรือที่เรียกว่า Shopaholic ผู้ที่เข้าข่ายอาการนี้จะมีความต้องการหรืออยากซื้อของตลอดเวลา มีความรู้สึกที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา รู้สึกดีเมื่อได้ซื้อ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว

หรือให้พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่มีความผิดปกติมักจับจ่ายเกินความจำเป็น เริ่มแยกไม่ออกว่าที่ซื้อของชิ้นนี้มานั้นเป็นเพราะว่าแค่อยากได้หรือเพราะว่ามันจำเป็น ทำให้หลายครั้งทีเดียวที่ซื้อของชิ้นนั้นมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีของเดิม ๆ เต็มไปหมด รวมถึงอาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง เช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ เวลาซื้อของเหล่านั้นเข้าบ้าน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น คงจะดีกว่าหากก่อนที่จะซื้อของทุกครั้ง เรามาพิจารณาว่า “อยากได้” หรือ “จำเป็น” ถ้าคำตอบคืออยากได้ ก็แปลว่ามีโอกาสที่การช้อปครั้งนี้จะเป็นการช้อปเพื่อบำบัดจิตใจ เยียวยาความรู้สึกทางด้านลบ ก็ควรวางแผนการใช้เงินให้รัดกุมว่าไม่ควรที่จะช้อปเกินงบที่มี อาจลองทำลิสต์รายการของที่จะซื้อล่วงหน้าก็ได้ เพื่อบริหารทรัพยากรเงินในกระเป๋าที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่จำเป็นต้องใช้ก็ซื้อก่อน (เพราะแค่ได้จ่ายเงินก็มีความสุขขึ้นแล้ว) ส่วนอะไรที่แค่ใจอยาก ถ้าเงินเหลือค่อยว่ากันอีกที และแม้ว่าจะอยากได้อีกหลายอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกอย่างในคราวเดียว ตั้งสติ หักห้ามใจไว้ครั้งหน้าบ้าง ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่อยากได้แล้วก็ได้

ตัดตัวเองออกจากโฆษณาที่มีอยู่รอบตัว

เคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่าในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้เรากำลังถูก “โฆษณา” โจมตีมากเกินไป ในความรู้สึกเราอาจจะเป็นเพียงความรู้สึกรำคาญ กดเข้าโซเชียลมีเดียก็โฆษณาเยอะแยะไปหมด กดเข้าแอป สตรีมมิ่งก็ข้ามโฆษณาไม่ได้ อันที่จริงผลของโฆษณาไม่ใช่แค่ทำให้เรารู้สึกรำคาญเท่านั้น แต่เรายังค่อย ๆ ได้รับอิทธิพลจากโฆษณาไปโดยไม่รู้ตัวด้วย โดยเฉพาะโฆษณาที่เห็นบ่อย ๆ จากการสุ่มโดยอัลกอริธึมสิ่งที่เราให้ความสนใจหรือโฆษณาที่เป็นสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไหนจะพวกโฆษณาที่มาพร้อมโปรโมชันต่าง ๆ อีก ข้อเสนอช่างจูงใจและยั่วกิเลส เห็นแรก ๆ อาจไม่สนใจ แต่พอเห็นไปเรื่อย ๆ ก็อาจมีลังเลได้เหมือนกัน

เพราะเรากำลังอยู่ในศตวรรษที่ 21 ยุคที่อินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์นั้นไร้ขอบเขต ไม่ใช่แค่เราสามารถช้อปเมื่อไรที่ไหนก็ได้เพียงแค่หยิบสมาร์ตโฟนมาไว้ในมือเท่านั้น แต่เรายังต้องรับมือกับบรรดาโฆษณาและโปรโมชันล่อตาล่อใจทั้งหลายทั้งปวงด้วย จึงไม่แปลกเลยที่มันจะเป็นเรื่องที่ยาก หากเราต้องเมินสิ่งของสารพัดชนิดที่คนขายเสนอขายผ่านโฆษณาและโปรโมชันที่ชวนให้ควักกระเป๋ารัว ๆ ขนาดนี้

ก่อนที่จะตกเป็นทาสการตลาดจากการโฆษณา (ไปมากกว่านี้) เราต้องใจเด็ดเลื่อนโฆษณานั้น ๆ ผ่านไปให้ได้หรือไม่ก็วางโทรศัพท์ลงเสีย พาตัวเองออกจากทุกจอที่จะเห็นพวกโฆษณาเหล่านี้ หรือทางที่ดีกลั้นใจกดเข้าไปยกเลิกการสมัครรับข่าวสาร-โปรโมชันภายในข้อความที่ส่งมาทางอีเมลเลยก็ได้ เพื่อที่จะได้เห็นโฆษณาและโปรโมชันลดลง เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะเห็นโฆษณาเหล่านั้นน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อไม่มีตัวยั่วยวนมาปั่นหัวบ่อย ๆ เราก็จะค่อย ๆ ลดการซื้อของโดยไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีได้เอง

ทำให้มันเป็นชาเลนจ์สนุก ๆ ท้าทายตัวเอง

ในเมื่อชีวิตเรายังวนเวียนอยู่กับสิ่งล่อตาล่อใจมากมายเต็มไปหมดในยุคที่พื้นที่ออนไลน์ทุกที่เป็นพื้นที่การโฆษณา แม้ว่าเราจะพยายามปิดกั้นการเห็นโฆษณาและข่าวสารโปรโมชันด้วยตนเองแล้วก็ตาม แถมบางทีมือเจ้ากรรมก็ดันลั่นไปกดเข้าแอป ช้อปปิ้งสารพัดแอป ที่ดาวน์โหลดมาครบทุกเจ้าในช่วงที่กำลังบ้าช้อปอย่างหนัก ถ้านั่นเป็นพื้นที่อันตรายเข้าไปก็เสียเงินทุกที ทางแก้ที่ท้าทายความใจเด็ดของตัวเองดีเหมือนกันก็คือ การไม่กดเข้าแอป นั่นเอง

เบื้องต้น ลองเริ่มต้นจากการจำกัดเวลาการเข้าแอปช้อปปิ้งของเราก่อนก็ได้ เว้นระยะห่างและใช้เวลาอยู่ในห้างขนาดย่อมให้น้อยที่สุด จากที่เข้าทุกวันเหลือเป็นวันเว้นวัน ครั้งละ 10-20 นาที และค่อย ๆ ปรับมาเหลือแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เดือนละ 2-3 ครั้ง หรือไม่เข้าเลยเป็นเดือนก็อยู่ได้ หรือถ้ามันยังยากอยู่ล่ะก็ ลบแอป ซื้อของออนไลน์ทิ้งไปเลยก็ดี หากเราเป็นคนที่ใช้มือถือซื้อของเป็นประจำ หากจะซื้อของออนไลน์ที่จำเป็นก็เปลี่ยนไปใช้บนคอมพิวเตอร์แทน เพื่อลดความสะดวกสบายในการซื้อของลง

แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหักดิบตัวเองแบบนี้ แต่ก็อยากให้ลองคิดว่ามันเป็นชาเลนจ์สนุก ๆ ที่ท้าทายตัวเอง ลองทำให้ตัวเองไม่ต้องรับรู้ต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความอยากช้อป โดยตัวเราเป็นคนที่จำกัดทุกสิ่งอย่าง เช่น นอกจากของที่จำเป็น จะอนุญาตให้ตัวเองซื้อของที่อยากได้ได้เดือนละกี่ชิ้น หรืออยู่ในงบไม่เกินกี่บาท เดือนไหนที่ไม่มีของจำเป็นจะต้องซื้อ ก็ข้ามเดือนนั้นไปเลย แล้วไปจำกัดเดือนต่อไป

นอกจากนี้ยังรวมถึงพยายามอดทนใช้เวลากับของที่อยากได้สักพัก อย่ากดซื้อทันที อาจรอก่อนสัก 1 สัปดาห์เพื่อทบทวนว่าเราอยากได้ของสิ่งนั้นจริง ๆ หรือไม่ หรือเหตุผลจริง ๆ ที่จะซื้อคืออะไร ถ้าจะซื้อเพื่อแค่ให้มีความสุขเวลาจ่ายเงิน ก็หันไปหาวิธีอื่นในการเยียวยาจิตใจดีกว่า นี่ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราช้อปน้อยลง แล้วลองมาดูว่าเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เราได้อะไรกลับมาบ้างจากการเป็นคนที่มีสติในการช้อปมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook