ฟันคุด คืออะไร อันตรายไหม ต้องผ่าตอนไหน?
ฟันคุด คือ ฟันแท้ซี่ใดก็ตาม ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติเพราะอาจจะมีกระดูก เหงือกมาปิดขวางไว้ หรือเอียงไปชนฟันข้างเคียง ฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่ได้โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก จะต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้ บางคนก็ไม่มีฟันคุด
ฟันคุดมักขึ้นบริเวณไหน?
ฟันคุดมักจะพบที่ตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุด ฟันกรามซี่สุดท้าย หรือบางครั้งเกิดบริเวณตำแหน่งของฟันเขี้ยว
โดยช่วงอายุระหว่าง 15 – 20 ปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจร่วมกับการเอกซเรย์ ว่ามีฟันกรามในสุดพัฒนาขึ้นมาในขากรรไกร จนเป็นฟันคุดหรือไม่ หากมีแนวโน้มจนเป็นฟันคุดก็ได้เตรียมทำการรักษาต่อไป การถอนฟันคุดหลังอายุ 25 ปี เสี่ยงกระทบเส้นประสาทได้
โดยฟันคุดมีลักษณะการขึ้นได้ 3 แบบ
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวตรง (Vertical impaction)
- ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอน (Horizontal impaction)
- ฟันคุดที่ขึ้นแนวเฉียง
ฟันคุดอันตรายไหม?
การปล่อยฟันคุดไว้นั้นมีความเสี่ยงต่อภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น
- เหงือกในบริเวณที่ปกคลุมฟันคุดอักเสบหรือมีการติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการปวด จนถึงมีไข้ได้
- มีกลิ่นปากและทำให้ฟันผุ อาจทำให้มีเศษอาหารติดระหว่างฟัน
- เกิดฟันผุที่ฟันกรามซี่ข้างเคียง
- สาเหตุของการเกิดโรคปริทันต์ (โรคเหงือก)
- เกิดถุงน้ำบริเวณขากรรไกร – ซีสต์เนื้องอกรอบๆ ฟันคุด
- มีอาการปวดเรื้อรังหรือรู้สึกไม่สบาย เนื่องจากแรงดันของฟันคุด
- ฟันยื่น ฟันเก กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลาย จากแรงดันตัวของฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา
- ส่งผลต่อการจัดเรียงฟัน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดฟันได้ในตำแหน่งที่ไม่ดี หรือมีฟันหน้าซ้อนเก
- เกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อหุ้มฟัน
กรณีไหนถึงต้องผ่าฟันคุด
กรณีที่ทันตแพทย์ไม่สามารถถอนฟันได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าเหงือก ตัดกระดูก ตัดฟันออกทีละนิด เพื่อนำฟันคุดออก โดยไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรือส่วนอื่นที่อยู่บริเวณนั้นๆ การผ่าตัดฟันคุดอาจใช้เวลานานกว่าถอนฟันตามปกติ ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งของฟันคุด รวมทั้งอายุของผู้ป่วย
รู้แบบนี้แล้วหากรู้ว่าตัวเองมีฟันคุด มีอาการปวด ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการรักษาต่อไป ปล่อยไว้อาจเสี่ยงต่อสุขภาพของเราได้