อยากสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน เริ่มต้นจาก “คำพูดที่ดี”

อยากสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน เริ่มต้นจาก “คำพูดที่ดี”

อยากสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงาน เริ่มต้นจาก “คำพูดที่ดี”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเป็นพนักงานบริษัทนั้นก็มีข้อดีอยู่นะ เพราะทำให้เราได้รู้จักคนเยอะ และการมีมิตรภาพที่ดี ก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองระหว่างเพื่อนร่วมงาน ที่ถึงแม้ว่าเราอาจจะมาจากต่างที่ต่างถิ่นกัน แต่การทำงานร่วมกันเป็นเวลานาน จะทำให้เราคุ้นเคยกับสถานที่และคุ้นเคยกับผู้คนได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนตอนเข้ามาเป็นเด็กใหม่ที่กำลังเด๋อ ๆ ด๋า ๆ ทำอะไรไม่ค่อยถูก พออยู่ไปนาน ๆ เข้า ได้รู้จักคนมากหน้าหลายตาขึ้น คุณจะรู้สึกสนุกกับการมาทำงานได้ไม่ยาก แถมเพื่อนบางคนในที่ทำงานอาจกลายเป็นเพื่อนสนิทเสียด้วย

แต่กับบางคนอาจไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นว่าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานได้ก็มี จึงทำให้ต้องเปลี่ยนงานบ่อย และไม่ใช่แค่การปรับตัวในที่ทำงานไม่ได้ การสร้างสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรไม่ได้ก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลของการลาออกเช่นกัน ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้ว เวลามาทำงานเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ทำตัวแปลกแยก พูดอะไรกับใครก็รู้สึกขัด ๆ ไปซะหมด ก็อาจจะทำให้รู้สึกอึดอัด แล้วไม่อยากมาทำงานในที่สุด

การชวนเพื่อนร่วมงานพูดคุยเพื่อให้เกิดช่วงเวลาแห่งมิตรภาพอันดี จำเป็นต้องเลือกหัวข้อการพูดคุยที่เปิดกว้าง ที่จะทำให้สามารถหยิบโยงเรื่องราวเข้าสู่บทสนทนาต่อไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการแสดงออกต้องมีความเป็นธรรมชาติ นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง และมีน้ำเสียงที่น่าฟัง คือ หัวใจสำคัญของการพูดคุยให้ออกมาสมูท และมีความเป็นกันเอง Tonkit360 มีทริกดี ๆ ในการคุยกับเพื่อนร่วมงานอย่างไรให้สนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานได้เร็วมาบอกกัน

คำทักทายยามเช้า สดใสเสมอ

ถ้าคุณต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานที่ห่อไหล่เดินเข้ามาในออฟฟิศ ตามองต่ำไม่มองหน้าใครแล้วเอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานคุณจะรู้สึกอย่างไรกับเขา ในกรณีที่เบาที่สุดคุณอาจจะแค่ไม่สนใจเขา หรืออย่างร้ายที่สุดคุณก็คงหลีกเลี่ยงเขาไปเลย การยิ้มและทักทายทุก ๆ คนในยามเช้าของวันทำงานเป็นมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทุกคนควรต้องทำในทุก ๆ วัน ทำให้เกิดความเคยชิน สิ่งนี้เหมือนเป็นสิ่งที่ช่วยละลายความเย็นชาในที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว
เรียนรู้ศิลปะการคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ

การมีศิลปะในการพูดนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณเข้ากับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น ชวนเพื่อนร่วมงานของคุณคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เขาสนใจ อาจจะเป็นเพลงที่ชอบ หนัง หนังสือ หรืองานอดิเรก การแสดงให้เขาเห็นว่าคุณสนใจพวกเขาจริง ๆ มันจะทำให้เขารู้สึกสบายใจเวลาที่ได้อยู่ใกล้ ๆ คุณ และคุยถึงเรื่องของคุณนอกที่ทำงานบ้าง (ถ้ามีจังหวะเวลาที่เหมาะสม) สิ่งนี้จะทำให้คนที่ทำงานกับคุณนึกถึงคุณเป็นคนแรกเมื่อมาถึงที่ทำงาน

ชวนคุยเรื่องประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา

เมื่อรู้จักกันแรก ๆ แน่นอนว่าเราคงอยากรู้ว่าเพื่อนร่วมงานเคยผ่านประสบการณ์การทำงานอะไรมาบ้าง เก็บข้อสงสัยนั้นไว้แล้วเริ่มเปิดประเด็นการพูดคุยในช่วงเวลาพักเที่ยง ซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นจากงาน ที่จะเป็นโอกาสสำคัญในการทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยคุณอาจเริ่มต้นด้วยคำถาม ว่าทำงานตรงสายหรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยทำงานที่ไหนมาก่อน แล้วมันดีหรือไม่ดีอย่างไร ต่อด้วยคำถามว่าจะอยู่ในที่ปัจจุบันนี้นานแค่ไหน หรือทำไปเรื่อย ๆ ก่อนค่อยคิด ซึ่งการถามในเรื่องทั่วไปนี้ เมื่อคู่สนทนาพูดเสร็จ เขาอาจจะถามคุณกลับไป ก็ให้เล่าแต่เฉพาะเรื่องดี ๆ เข้าไว้ เพื่อไม่เป็นการให้ร้ายบริษัทเก่า ซึ่งมันจะทำให้คุณดูไม่ดีเอาเสียเลยได้

คุยเรื่องท่องเที่ยว

คุณอาจจะถามถึงวันหยุดลาพักร้อนของเพื่อนร่วมงานก็ได้ว่ามีแพลนจะไปเที่ยวไหนไหม หรือปีที่แล้วไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง มีสถานที่แนะนำไหม ซึ่งมันก็เป็นหัวข้อสนทนาที่คุณสามารถสานต่อไปได้ว่า คุณสนใจไปเที่ยวที่เดียวกับเขา ต้องเตรียมตัวอย่างไร เอาเงินไปเท่าไรถึงจะพอ เมนูอาหารอะไรบ้างที่น่าสนใจ ของฝากที่ควรซื้อติดมือ หรือของขึ้นชื่อมีอะไรบ้าง เมื่อคู่สนทนาพูดจบคุณอาจจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานให้เขาได้รู้บ้าง บอกถึงความชอบ ความประทับใจในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้การพูดคุยเกิดอรรถรส มีสีสัน

คุยเรื่องการทำงาน

เมื่อคุณมีอะไรไม่เข้าใจในเนื้องาน หรือมีสิ่งที่ต้องกังวลเช่นเรื่องผ่านโปร คุณอาจจะเลือกคนที่ดูไว้วางใจได้ในการพูดคุยปรึกษาเรื่องที่คุณไม่สบายใจ ซึ่งคุณอาจจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ นำมาปรับใช้วิธีคิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคุณอาจจะได้กำลังใจจากการพูดคุยครั้งนี้ และได้รับรู้ถึงตัวชี้วัดการประเมินผลงานว่าวัดจากอะไรบ้าง หลังจากถามผู้มีประสบการณ์ไปแล้ว คุณก็ไม่ควรคิดมากจนเกินไป ให้เดินหน้าทำงาน รับผิดชอบหน้าที่ให้ดีที่สุดก็พอ

หลีกเลี่ยงการนินทา

ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นกฎเหล็กของการสนทนากับเพื่อนร่วมงานเลยทีเดียว เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีใครชอบอย่างแน่นอน หากคุณไม่ต้องการให้ใครพูดถึงคุณลับหลังอย่างไร คุณก็ไม่ควรทำแบบนั้นกับใครเช่นกัน เมื่อมีเพื่อนร่วมงานเขามาใกล้ ๆ คุณแล้วนินทาเกี่ยวกับเรื่องรัก ๆ ในออฟฟิศ หรือใครบางคนกำลังจะโดนไล่ออก ให้คุณตอบโต้เขาไปด้วยคำว่า “จริงเหรอ?” แล้วพยายามเปลี่ยนเรื่องไปหรือวกกลับเข้าไปเรื่องงาน หรือถ้าคุณไม่ตอบโต้อะไรเลยคนที่ชอบนินทาคนนั้นก็จะไปหนีคุณไปเอง และการที่คุณไม่นินทาใครก็จะทำให้คุณสามารถรักษาความเชื่อใจและความเคารพจากเพื่อนร่วมงานของคุณเอาไว้ได้

ชื่นชมเพื่อนร่วมงาน

ชื่นชมเพื่อนร่วมงานของคุณในเวลาที่เขาประสบความสำเร็จหรือดูแลรับผิดชอบหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เช่น วันนี้งานพรีเซนต์ของเธอดีมาก หรืองานของเธอออกมาดีมากเลยนะ เพื่อให้กำลังใจเขา เพราะคนเรามักจะตำหนิในสิ่งที่คนอื่นทำผิดพลาดมากกว่าชมเชยในสิ่งที่เขาทำดี ซึ่งการชื่นชมของคุณจะต้องไม่มากเกินไปจนดูเหมือนเป็นการประจบ ซึ่งจะทำให้ความหวังของคุณมันดูปลอมไปทันทีเมื่อคุณข้ามเส้นของความพอดี

ให้เครดิตเสมอ

การให้เครดิตเป็นเรื่องสำคัญ ของการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น หากเป็นงานที่ต้องทำงานเป็นทีม หรือได้ไอเดียมาจากคนอื่น อย่าลืมให้เครดิตกับเพื่อนร่วมงานที่เขาควรได้รับ ให้จำเอาไว้ว่า “เราต้องชนะไปด้วยกัน” และทำให้ทุกคนรู้ว่ามีใครที่ทำงานได้ดีหรือดีมากกว่าหน้าที่รับผิดชอบในงานนั้น ๆ บ้าง ให้เครดิตอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็นและควรทำ

เคารพความคิดเห็นของคนอื่น

เมื่อคุณนำเสนอไอเดียของคุณออกไปแล้ว ต้องพร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นโดยไม่ใช้อคติด้วยเช่นกัน แม้ว่าทุกความคิดเห็นที่ออกมาอาจจะไม่ได้ดีทั้งหมด แต่บางความเห็นก็อาจจะมาเสริมเติมให้อีกความเห็นมีจุดบกพร่องน้อยลง หรืออาจจะมีความเห็นใหม่ ๆ ที่ดีกว่า เหมาะสมกว่าตามมา หลังจากคุณเสนอความเห็นก็เป็นได้ ดังนั้น คุณจึงไม่ควรปิดหูและปิดใจ จนพลาดที่จะเปิดโลกของคุณให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

นอกจากคำพูดที่ควรพูดแล้ว คุณอาจต้องศึกษาคำพูดบางคำที่เป็นต้นเหตุของการทำลายมิตรภาพของคุณด้วย เพราะการทำงานเปรียบเสมือนการอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่ ซึ่งคำพูดบางคำที่พูดออกไปนั้น ควรคิดให้ดีก่อนพูด จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง ยกตัวอย่างคำพูดง่าย ๆ ที่ไม่ควรพูดกับเพื่อนร่วมงานดังนี้

  • เจ้านายบริษัทก่อนเราแย่มากเลย
  • เพื่อนร่วมงานคนนี้นิสัยดีมาก
  • เดี๋ยวก่อนนะ ขอทำงานนี้ให้เสร็จก่อน
  • วันศุกร์นี้ฉันต้องกลับเร็วหน่อยนะ
  • ฉันควรจะต้องเข้าหาใคร และฉันไม่ควรยุ่งกับใครบ้าง
  • ฉันไม่ได้เรียนมาเพื่อทำแบบนี้นะ
  • ที่นี่ได้โบนัสกันเท่าไรเหรอ?
  • เหนื่อยจังเลย

การเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน เริ่มต้นจากการทำตัวคุณให้ดี ไม่เย็นชากับเพื่อนร่วมงาน แต่ก็ไม่ได้ดีเกินไปจนคนอื่นไม่เกรงใจหรือดูหลอกลวง แล้วการทำงานของคุณจะเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข ทั้งนี้ทั้งนั้นความจริงใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์อันดีของผู้ร่วมงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook