คิดจะออมเงินในยุคเงินเฟ้อ เริ่มต้นอย่างไรดี

คิดจะออมเงินในยุคเงินเฟ้อ เริ่มต้นอย่างไรดี

คิดจะออมเงินในยุคเงินเฟ้อ เริ่มต้นอย่างไรดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคเงินเฟ้อที่เงินในมือเราจะมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ “ของราคาแพงขึ้น เงินเท่าเดิมเลยซื้อของได้น้อยลง” ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเงินในส่วนของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั่วไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปในส่วนของ “เงินออม” ด้วย แม้ว่าจะเป็นเงินส่วนที่เราเก็บไว้เฉย ๆ เพื่อสะสมเอาไว้ใช้ในอนาคต ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เงินก้อนนี้ก็จะถูกเงินเฟ้อกัดกินไปในที่สุด

เพราะเงินเท่าเดิมที่เราเก็บเรื่อยมาจากในอดีต พอนำไปซื้อของที่จะแพงขึ้นในอนาคต มันก็จะซื้อของได้น้อยลง เหมือนกับที่เงิน 100 บาท เคยซื้อข้าวแกงจานละ 20 บาทได้ 5 จานเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มาถึงทุกวันนี้เงิน 100 บาทเท่าเดิม อาจซื้อข้าวแกงได้แค่ 2-3 จานเท่านั้น ด้วยข้าวแกงสมัยนี้จานละ 30-50 บาทเข้าไปแล้ว!

ดังนั้น การออมเงินสำหรับอนาคต จึงไม่ควรมีเป้าหมายเพื่อเก็บสะสมไว้เพื่ออนาคตเท่านั้น แต่ควรมองไปถึงเรื่องของการรักษามูลค่าของเงินหรืออำนาจในการซื้อของเราไว้ด้วย เพื่อให้เงินเติบโตไปพร้อม ๆ กับมูลค่าของเงินที่จะลดลง เราจึงจำเป็นต้องหาแหล่งออมเงินที่ได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อหรือให้ใกล้เคียงเงินเฟ้อมากที่สุด เพื่อให้มีเงินมากพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยในวันข้างหน้า จะได้ไม่เป็นปัญหาในอนาคต และสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้อีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น การออมเงินในยุคนี้อาจจะต้องคิดเผื่อในกรณีฉุกเฉินที่เงินก้อนนี้อาจถูกนำมาใช้ก่อนกำหนดด้วยเมื่อมีเรื่องไม่คาดฝัน สำหรับหลาย ๆ คนที่ไม่ได้มีรายได้มากขนาดที่จะแบ่งเงินออมเป็นหลาย ๆ ส่วน หลาย ๆ ก้อน

สร้างวินัยในการออมเงิน

ไม่ว่าเงินจะเฟ้อหนักหรือไม่ หรือสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีจะแย่อย่างไร การออมเงินก็ถือเป็นวาระแห่งชีวิตที่คนทุกคนควรทำให้เป็นสุขนิสัย และไม่ควรรอให้ “ถึงเวลาแล้วค่อยคิด” ไม่เช่นนั้นจะไม่ทัน เพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สามารถสร้างปัญหาให้เราได้ตลอดหากไม่มีการวางแผนหรือการจัดการที่ดี ชีวิตคนเราขับเคลื่อนด้วยเงิน หากไม่มีเงินในยามที่จำเป็นต้องใช้ก็ทำให้ชีวิตสะดุด การสร้างวินัยในการออม ไม่มีใครควบคุมเราได้นอกจากตัวเราเอง โดยอาจเริ่มต้นจากการวางแผนเรื่องเป้าหมายของการออมก่อน เพื่อช่วยกำหนดระยะเวลาการออมให้เห็นภาพได้ชัดเจนกว่า

  • ออมระยะสั้น ระยะเวลา 0-2 ปี เพื่อซื้อของที่มีราคาแพง ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน
  • ออมระยะกลาง ระยะเวลา 2-10 ปี สำหรับเป็นเงินต้นในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ออกรถ หรือลงทุนทำธุรกิจ
  • ออมระยะยาว ระยะเวลามากกว่า 10 ปี เพื่อเป็นเงินหลังเกษียณ หรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน

แล้วมนุษย์เงินเดือนจะทำอย่างไรเพื่อให้ตนเองมีวินัยในการออมได้อย่างสม่ำเสมอ คำตอบคือ ต้องออมก่อนใช้ และต้องเป็นการบังคับตัวเองให้ออมทุกเดือน โดยอาจใช้วิธีเปิดบัญชีเงินฝากประจำแล้วตัดอัตโนมัติเข้าบัญชีเงินออมทันที เป็นเงินในจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน (อาจจะเริ่มที่การออมเงิน 10 เปอร์เซ็นต์) ของรายได้ และที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้เราถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ดอกเบี้ยสูงตามที่ต้องการ (บัญชีบางธนาคารกำหนดว่าหากถอนก่อนครบกำหนดต้องปิดบัญชีเท่านั้น) เราก็จะได้ใช้เงินที่เหลือแค่ในบัญชีใช้จ่าย ค่อย ๆ ปรับนิสัยทีละนิด เพื่อให้ความรู้สึกเราค่อย ๆ ชินกับการออมเงิน และทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ

การออมที่สภาพคล่องดี

สภาพคล่อง คือ ความสามารถในการแปลงสินทรัพย์กลับเป็นเงินสด การมีสภาพคล่องสูง แปลว่าสินทรัพย์ที่เรามีนั้นสามารถแปลงเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วเวลาที่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้น การรักษาสภาพคล่องในยุคที่เศรษฐกิจเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถึงอย่างไร เงินสด คือ สิ่งที่ใช้แก้ปัญหาได้จริงในช่วงที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สินทรัพย์สภาพคล่องต่ำจะต้องใช้เวลาในการนำไปขายต่อเพื่อแปรเปลี่ยนให้เป็นเงินสด ซึ่งอาจทำให้คุณต้องรีบขายออกในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงสภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีด้วย ขาดทุนแค่ไหนก็ต้องยอมขายในราคาที่โดนกดเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดได้เร็วที่สุด

การออมในรูปแบบที่เรามีสภาพคล่องสูง ก็อย่างเช่น เงินสดที่เก็บไว้ในกระปุก (ทุบมาใช้ได้เลยถ้าจำเป็น) บัญชีฝากออมทรัพย์ บัญชีฝากประจำระยะสั้น (ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินด่วนก็ถอนได้ เพียงแต่แลกกับการที่ไม่ได้รับดอกเบี้ยสูงตามเงื่อนไข ซึ่งอาจเป็นอัตราเดียวกับเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป) สลากออมสิน ประกันชีวิต การลงทุนในกองทุนเปิด สินทรัพย์เหล่านี้สามารถแปลงกลับเป็นเงินสดได้แทบจะทันที ในขณะที่การนำเงินออมไปลงทุนอยู่ในรูปสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ ต้องใช้เวลาสักระยะในการแปรเปลี่ยนเป็นเงินสด ในยุคที่เรามีโอกาสเสี่ยงจะประสบปัญหาทางการเงินได้ทุกเมื่อ เลือกการออมที่ทำให้เรามีสภาพคล่องสูงก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ

มีความเสี่ยงต่ำ

บางคนออมเงินในรูปแบบของการลงทุน เพื่อหวังนำเงินออมนั้นไปต่อยอดจนงอกเงยออกมาเป็นกำไร การลงทุนในรูปแบบที่ผลตอบแทนสูงก็อย่างเช่น หุ้น กองทุนรวม ซึ่งจะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ ถึงอย่างนั้นมันก็แลกมาด้วยความเสี่ยงสูงเช่นกัน สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นออมเงินและยังไม่ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ จึงยังไม่เหมาะที่จะออมเงินด้วยการลงทุนความเสี่ยงสูง และควรเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ที่ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินเฟ้อไปก่อน ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนมากขึ้นและมีเงินเย็นสำรองเพียงพอไว้ใช้กรณีที่ขาดทุนหรือเกิดปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ จึงค่อยไปลงทุนกับสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น

สำหรับการออมที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ ที่ง่ายที่สุดก็คือ การฝากประจำ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากก็สามารถลงทุนได้ มีระยะเวลาการฝากที่กำหนดไว้แน่นอน รู้ผลตอบแทนตั้งแต่วันแรกที่ฝากเงิน ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่แน่นอนคำนวณผลตอบแทนได้จากเงินต้น โดยดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะมากกว่าการออมปกติด้วย นอกจากนี้ยังช่วยฝึกนิสัยการออมให้กลายเป็นวินัยที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด และโดยปกติ เมื่อฝากประจำจนครบกำหนดตามเงื่อนไข ก็จะสามารถถอนเงินพร้อมดอกเบี้ยได้ทันที ซึ่งทำให้เราได้รับเงินก้อนตรงตามที่คำนวณไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook