เด็กไทยในยุคโควิด-19 ยังเผชิญภาวะอ้วน-น้ำหนักเกิน

เด็กไทยในยุคโควิด-19 ยังเผชิญภาวะอ้วน-น้ำหนักเกิน

เด็กไทยในยุคโควิด-19 ยังเผชิญภาวะอ้วน-น้ำหนักเกิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ใหญ่หลายคนมักจะคิดว่า “เด็กอ้วน” คือเด็กน่ารัก น่ากอด แต่หารู้ไหมว่าความน่ารักที่มาจากความอ้วนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรนัก เพราะถ้าปล่อยให้เด็กอ้วนต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวจะมีปัญหาสุขภาพมากมายตามมา ผลวิจัย SEANUTS II โภชนาการ “เด็กไทย” ในยุคโควิด-19 ยังเผชิญภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร อ้วน น้ำหนักเกิน ในขณะเดียวกัน นม ก็ยังเป็นแหล่งคุณค่าทางโภชนาการหลัก จากสถิติพบว่ามีเด็กทั่วโลกเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่ามาตั้งแต่ปี 1980 และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก

สาเหตุของโรคอ้วนในเด็กนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยอาหารฟาสต์ฟู้ด มีพลังงานสูง และพฤติกรรมการออกกำลังกายไม่สมดุลกับพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ลูกของคุณห่างไกลจากโรคอ้วนในเด็กได้ ด้วยการดูแลอาหารการกินของลูกให้ถูกต้องตามโภชนาการ

ทางสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินร่วมกับทางสถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า ทำวิจัยครั้งล่าสุดในปีพ.ศ. 2562-2564 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจโภชนาการในเด็กยังคงเป็นปัญหาหลักในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย สะท้อนถึงคุณภาพของอาหารและโภชนาการเด็กที่ยังต้องปรับปรุง โดยปัจจุบัน “เด็กไทย” ช่วงอายุ 6 เดือน – 12 ปี ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล ยังคงเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการหลากหลายรูปแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการขาดสารอาหาร หรือมีอัตราน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะในเด็กอายุ 7-12 ปี ที่มีมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ฯลฯ และยังพบว่า มีเด็กที่อายุ 6 เดือน – 12 ปี มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ได้รับแคลเซียมไม่ถึงเกณฑ์ที่แนะนำสำหรับการบริโภคต่อวัน

นอกจากนี้ จากการสำรวจพบภาวะโลหิตจางในเด็กกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 4 ปี ของไทยที่สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นในกลุ่มดำเนินการสำรวจ โดยภาวะดังกล่าวอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างกายและประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ขณะที่สัญญาณเบื้องต้นของปัญหาทุพโภชนาการอย่างภาวะเตี้ยแคระแกร็นในเด็กอายุ 0-5 ปี พบว่าลดลงจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งในอดีตอยู่ที่ 10.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันพบราว 4.6 เปอร์เซ็นต์ และน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่ร่วมกันจัดทำการสำรวจ

พฤติกรรมต่อภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็ก

ทางทีมวิจัยได้มีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้า เป็นสัญญาณที่ดีว่าเด็กไทยส่วนใหญ่บริโภคมื้อเช้า และมากกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ รับประทานไข่ไก่เป็นประจำ โดยมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ฟองต่อสัปดาห์ ขณะที่ 88.1 เปอร์เซ็นต์ ดื่มนมมากกว่า 4 แก้วต่อสัปดาห์

และเมื่อทำการสำรวจลงลึกถึงคุณภาพของสารอาหาร พบว่าเด็กที่ได้รับแคลอรีที่เพียงพอในมื้อเช้า มีสัดส่วนของการขาดสารอาหาร ทั้งในกลุ่มสารอาหารหลักและกลุ่มสารรองที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน A, C, D, B1, B2, B3 และ B12 ที่ลดลง (ขาดน้อยลง) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลอรีจากมื้อเช้าต่ำ ดังนั้นการบริโภคอาหารเช้าที่พอเพียงจะส่งผลต่อการได้รับสารอาหารที่พอเพียงตลอดทั้งวัน

เมื่อเทียบกับในอดีตยังพบว่าการบริโภคอาหารแปรรูป เครื่องดื่มรสหวาน และของว่างไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายกลางแจ้งที่ลดลงอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาพรวมอยู่ที่ 39 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กอายุ 10-12 ปี จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาวะโดยรวมของเด็ก หรือนำไปสู่ภาวะการขาดวิตามินดีได้

จากผลสำรวจ SEANUTS II มีหลายส่วนที่น่าสนใจ แม้สถานการณ์โดยรวม ทั้งในเรื่องการบริโภคอาหารเช้า หรือ ทุพโภชนาการลักษณะขาด (ภาวะแคระแกร็น) ประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่เราสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ อาทิ การได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่ “เด็กไทย” ดื่มนมเป็นประจำ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปริมาณการดื่มนมที่แนะนำสำหรับเด็ก คือ 2-3 แก้วต่อวัน แม้เด็กจะดื่มมากกว่า 4 แก้วต่อสัปดาห์จึงยังอาจไม่เพียงพอ และสิ่งนี้ยังทำให้ผู้ผลิตต้องหันกลับมาดูคุณภาพและสารอาหารในนมพร้อมดื่ม เมื่อนมเป็นอาหารหลักที่เด็กรับประทาน

อันตรายจากโรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็กมีผลเสียต่อสุขภาพหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่านี่คือโรคที่พบในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโรคเหล่านี้สามารถพบได้ในคนอายุน้อย ๆ ที่มีภาวะโรคอ้วนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ในระบบทางเดินหายใจได้แก่ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ ส่งผลเสียถึงการนอนที่ไม่เพียงพอและส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กด้วยเช่นกัน ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

รวมไปถึงเด็ก ๆ อาจมีผลกระทบทางด้านจิตใจ เช่น การถูกเพื่อนล้อ ถูกบูลลี่เรื่องรูปลักษณ์ จนทำให้เกิดความเครียดและอาจเป็นโรคทางจิตเวชได้

แนวทางในการแก้ไขโรคอ้วนในเด็ก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการสร้างวินัยในเด็ก ผู้ปกครองและคุณครู ควรสร้างวินัยในเด็ก 3 ประการ

1. วินัยในการกิน

สอนให้เด็กกินเป็นเวลา 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ไม่กินจุบจิบ และรู้จักเลือกชนิดของอาหาร

2. วินัยในการใช้เวลา

ผู้ปกครองควรกำหนดช่วงเวลาให้เด็กและตรงต่อเวลา ช่วงทำการบ้าน ช่วงออกกำลังกาย ช่วงให้เด็กช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย กำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอน ไม่ควรนอนดึกเพราะการเจริญเติบโตโดยเฉพาะความสูง จะน้อยกว่าเด็กที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ เด็กที่นอนดึกมักหิว จะกินมื้อดึกและทำให้อ้วน มักตื่นสาย กินอาหารเช้าไม่ทัน และการเรียนจะไม่มีสมาธิ ง่วง ภูมิคุ้มกันน้อย เจ็บป่วยง่าย

3. วินัยในการใช้เงิน

ควรฝึกให้เด็กรู้จักคุณค่าของเงิน คิดก่อนซื้อ ประหยัด และรู้จักเก็บออม

ผู้ปกครองจึงควรจัดหาอาหารครบ 5 หมู่ ให้กับลูกทุกมื้อ ในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ตามเวลา มีผลไม้เป็นอาหารว่างให้กับเด็กเตรียมไว้ในตู้เย็น อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ควรนำเข้าบ้านหรือไว้ในตู้เย็น พาลูก ๆ ออกกำลังกายทุกวัน และไม่นอนดึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook