นักวิทย์ ชี้ ยุคไดโนเสาร์อาจสิ้นสุดเพราะดาวเคราะห์น้อยพิฆาตดวงที่ 2

นักวิทย์ ชี้ ยุคไดโนเสาร์อาจสิ้นสุดเพราะดาวเคราะห์น้อยพิฆาตดวงที่ 2

นักวิทย์ ชี้ ยุคไดโนเสาร์อาจสิ้นสุดเพราะดาวเคราะห์น้อยพิฆาตดวงที่ 2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเวลานี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบความเป็นไปได้เกี่ยวกับสมมติฐานที่ว่า มีดาวเคราะห์น้อยดวงที่สองพุ่งชนโลกแทบจะเป็นเวลาเดียวกับอีกดวงที่เชื่อว่า เป็นสาเหตุของการสิ้นสุดของยุคไดโนเสาร์ครองโลก

การตรวจสอบดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังมีการค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กในมหาสมุทร โดยนักวิจัยกล่าวว่า หลุมที่ว่านี้อาจเกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ดวงหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมานานแล้วว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่พุ่งชนโลกเมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน ที่ใกล้ ๆ กับคาบสมุทรยูคาตันของเม็กซิโก และพวกเขาประเมินว่า แรงของการชนนั้นเท่ากับความแรงของระเบิดนิวเคลียร์ประมาณ 10,000 ล้านลูกเลยทีเดียว

นอกจากนั้น มีความเชื่อกันด้วยว่า เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกในครั้งนั้น ทำให้เกิดไฟป่า แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์ในมหาสมุทร หรือสึนามิ และนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการปล่อยสารเคมีมากมายออกสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังถูกกล่าวโทษว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้พืชและสัตว์กว่า 70% สาบสูญไปและไดโนเสาร์ที่ไม่ได้บินได้เหมือนนกก็ตายไปจนหมด

การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในครั้งนั้นทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่กว้างประมาณ 180 กิโลเมตรและลึกถึง 900 เมตร

แต่นักวิจัยกล่าวว่า หลุมอุกกาบาตที่เพิ่งถูกค้นพบในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนั้นมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยมีความกว้างประมาณ 8.5 กิโลเมตร ถูกฝังลึกถึง 400 เมตรใต้ก้นทะเลนอกชายฝั่งสาธารณรัฐกินีในแอฟริกาตะวันตก

นักวิทยาศาสตร์พบหลุมอุกกาบาตดังกล่าวโดยการใช้เครื่องมือวัดแผ่นดินไหว ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อวัดแผ่นดินไหวและตรวจรับสัญญาณการสั่นสะเทือนอื่น ๆ บนโลก

ทั้งนี้ หลุมอุกกาบาตนั้นถูกค้นพบโดย อวิสดีน นิโคลสัน (Uisdean Nicholson) นักธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัย Heriot-Watt ที่กรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ โดยในขณะนั้น นิโคลสัน กำลังทำงานอยู่ในโครงการทำแผนที่มหาสมุทรที่เกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของก้นทะเล

การกระจายตัวในลักษณะนี้ คือ สาเหตุที่ทำให้ทวีปแอฟริกาและอเมริกาแยกตัวออกจากกัน ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของมหาสมุทรแอตแลนติกนั่นเอง

นิโคลสัน ระบุในแถลงการณ์ว่า เขาเคยตีความข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวมากแล้วมากมาย แต่ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลย และรู้สึกประหลาดใจที่เห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวอธิบายถึงหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ซึ่งมีลักษณะที่ผิดปกติมาก

นิโคลสัน กล่าวต่อไปว่า หลุมอุกกาบาตนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า เกิดขึ้นมาจากดาวเคราะห์น้อย แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า นักวิจัยจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนที่จะสามารถยืนยันทฤษฎีนั้นได้ โดยทางทีมงานของเขาได้วางแผนที่จะเดินทางไปที่หลุมอุกกาบาตนั้นเพื่อเจาะลึกลงไปพื้นทะเลเพื่อเก็บตัวอย่างแร่เสียก่อน

รายงานของนักวิจัยที่ นิโคลสัน อ้างถึงนั้น เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อไม่นานมานี้

ขณะเดียวกัน เวโรนิกา เบรย์ (Veronica Bray) สมาชิกอีกคนของทีมวิจัย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ที่ University of Arizona ได้ใช้การจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่ว่า

การจำลองสถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่า หลุมดังกล่าวเกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาด 400 เมตรที่พุ่งชนเข้ากับน้ำลึกลงไป 500 ถึง 800 เมตร ซึ่งน่าจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 900 เมตร และแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง 6.5 ตามมาตราริกเตอร์

เบรย์ตั้งข้อสังเกตว่า ผลกระทบของหลุมอุกกาบาตที่เพิ่งค้นพบนี้น่าจะน้อยกว่ากรณีของดาวเคราะห์ที่พุ่งชนพื้นที่ที่ปัจจุบันคือเม็กซิโกอย่างมาก และว่า การค้นพบครั้งใหม่นี้ทำให้เธอสงสัยว่า ยังมีหลุมอุกกาบาตอื่น ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ค้นพบอีกหรือไม่

ส่วนนิโคลสันก็กล่าวว่า ทีมวิจัยของเขาได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่หลุมอุกกาบาตทั้งสองจะมีความเชื่อมโยงกัน โดยนักวิจัยเชื่อว่า หลุมอุกกาบาตที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้อาจเกิดขึ้นจากการแตกตัวของดาวเคราะห์น้อยดวงหลักก็เป็นได้

ฌอน กูลิค (Sean Gulick) ผู้เชี่ยวชาญด้านหลุมอุกกาบาตที่ University of Texas วิทยาเขตออสตินเรียกการค้นพบนี้ว่า เป็นการค้นพบที่ "น่าตื่นเต้น" ที่อาจนำไปสู่การตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นไปได้อื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

กูลิค กล่าวว่า “แม้ว่าจะมีการพุ่งชนโลกไปแล้วเป็นเวลานานถึง 4,000 ล้านปี แต่เราค้นพบหลุมอุกกาบาตเพียง 200 แห่งเท่านั้น” ดังนั้น “จึงเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นทุกครั้งที่มีการค้นพบหลุมที่เกิดจากการพุ่งชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการตรวจสอบ เช่น ในมหาสมุทร”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook