เยาวชนไทยควรทำอย่างไร หากอยากเข้าสู่วงการนวัตกรรมในอนาคต
ในยุคที่นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนคุณค่าและความสะดวกสบายให้มนุษย์ แน่นอนว่านวัตกรรมเหล่านี้ก็ต้องมีการคิดค้นขึ้นมาจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป และสิ่งนี้กำลังสื่อถึงว่าเมื่อนวัตกรรมทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่ ในอนาคตผู้ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมย่อมได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น เพราะนั่นอาจหมายถึงพวกเขาอาจช่วยเปลี่ยนโลกทั้งใบให้ดีขึ้น มีแต่ความสะดวกสบายในหลาย ๆ ด้านไปเลยก็ย่อมได้
เมื่อกล่าวถึงนวัตกรรม ช่วงหลายปีมานี้ที่โลกของเราเจริญด้วยนวัตกรรมที่หลากหลายสาขา แต่นวัตกรรมที่ได้รับการพูดถึงบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ก็คือนวัตกรรมที่เกี่ยวกับอวกาศ และนักธุรกิจระดับโลกหลาย ๆ คนก็ยังให้ความสนใจกับเทรนด์ธุรกิจอวกาศนี้ ซึ่งจะเป็นธุรกิจแบบไหนบ้าง มาลองดูไปพร้อม ๆ กัน
เทรนด์ธุรกิจอวกาศที่ต้องจับตามอง
หากพูดถึงธุรกิจอวกาศ แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก (ฟอร์บส์จัดอันดับเศรษฐีโลกแห่งปี 2022) และยังเป็นนักธุรกิจระดับโลกที่มีกิจการหลากหลายอย่าง รวมถึง “สเปซเอ็กซ์” ธุรกิจขนส่งอวกาศ มีการผลิตยานอวกาศให้คล้ายกับเครื่องบินพาณิชย์ ที่สามารถให้ทุกคนเข้าถึงการบินไปบนอวกาศได้ ซึ่งเป้าหมายของ อีลอน มัสก์นอกจากการส่งผู้คนไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารแล้ว เขายังคิดจะสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารให้ได้ ภายในปี 2024 อีกด้วย
ทางด้านของนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมด้านอวกาศอีกรายหนึ่งก็คือ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon.com เขาตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Amazon และให้ความสำคัญกับบริษัทการเดินทางอวกาศบลูออริจิน แต่วัตถุประสงค์ของเขาเกี่ยวกับธุรกิจอวกาศนั้น แตกต่างกับ อีลอน มัสก์ ตรงที่ว่า เขาต้องการศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์อื่น ๆ และเรื่องของอวกาศอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะนำมาพัฒนาโลก ไม่ใช่การสร้างอาณานิคมอย่าง อีลอน มัสก์
นอกจากนี้ยังมี Porsche SE ที่หลายคนรู้จักกันดีว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจยานยนต์ Volkswagen ทาง Porsche SE ได้ตัดสินใจลงทุนใน บริษัทสตาร์ทอัปด้านการปล่อยจรวดที่ชื่อว่า Isar Aerospace ซึ่งเหตุผลที่ Porsche SE กระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจอวกาศ ก็เพราะว่า ความต้องการที่จะมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง รวมถึงความสะดวกในการจัดการ Big Data และแน่นอนว่า ต้องการที่จะขยายธุรกิจในเรื่องของทัวร์อวกาศอีกด้วย
ทั้งนี้ ยังมีนักธุรกิจระดับโลกอีกมากมายที่หันมาสนใจลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจอวกาศ เพราะในอนาคตธุรกิจจะยิ่งเติบโตไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า ใครไปไวกว่าได้เปรียบก็ย่อมได้ และในฝั่งของประเทศไทยเองก็ถือได้ว่า นวัตกรรมด้านอวกาศอยู่ในความสนใจมากเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่ามีการปลูกฝังกันตั้งแต่ระดับเยาวชน หลายสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญมากขึ้น สำหรับหน่วยงานเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ มาอย่างยาวนาน ต้องยกให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งล่าสุด ได้สนับสนุนการศึกษาและการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมด้านอวกาศของเยาวชนไทยอีกด้วย
ทรู ส่งเสริมการศึกษาด้านนวัตกรรมอวกาศผ่านโครงการทรู แล็บ
หากต้องการให้คนรุ่นใหม่มี DNA ในเรื่องของนวัตกรรม ก็ควรต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา และแน่นอนว่าเรื่องของเครื่องมือต่าง ๆ ในการศึกษาวิจัยจำเป็นต้องพร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา และเมื่อตระหนักถึงความจำเป็นนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำโครงการ “ทรู แล็บ” (โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556) เพื่อส่งเสริมงานวิจัยภาคการศึกษา เชื่อมโยงผลงานนวัตกรรมยุคใหม่ ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ทั้งจัดสร้างศูนย์ทรู แล็บ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย พร้อมวางระบบเทคโนโลยีสื่อสาร เอื้อประโยชน์ให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ค้นคว้าวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อีกทั้งเปิดโอกาสให้นวัตกรไทยจากสถาบันการศึกษาแสดงความรู้ความสามารถพัฒนาผลงานนวัตกรรมตามความต้องการของภาคธุรกิจ สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศได้อย่างแท้จริง
ทรู แล็บ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมงานวิจัยภาคศึกษาและการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ได้ร่วมสนับสนุนคณาจารย์และนิสิตชมรมซียูฮาร์ (CUHAR) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและวิจัยนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง โดย ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านนี้ไว้ว่า
“หลาย ๆ คนหากได้ยินเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศจะคิดถึง เรื่องการยิงจรวด และเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่สำหรับนิสิต ชมรมซียูฮาร์ (CUHAR) มีความเชื่อว่า การที่จะยิงจรวดไปในอวกาศเป็นเรื่องที่คนไทยสามารถทำได้ ครั้งแรกที่ได้ยินน้อง ๆ กลุ่มนี้มาพรีเซนต์ให้ฟัง ผมยังมีคำถามในใจว่าจะเป็นอย่างไร แต่หลังจากฟังที่น้อง ๆ พูด เขามีการใช้เทคโนโลยีหลากหลาย ที่สำคัญทุกคนเก่งกันหมด ทำให้สามารถเชื่อได้เลยว่า เขาจะทำได้สำเร็จ
“น้อง ๆ ในชมรม CUHAR เป็นน้อง ๆ ที่เก่ง ในยุคนี้ที่เราพูดถึงเรื่องนวัตกรรม สองเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือเรื่องของคน วันนี้เราต้องพยายามดึงคนเก่ง ๆ ให้โอกาสคนเก่ง ๆ ได้คิดค้นนวัตกรรม สองคือ มีคนแล้วก็ต้องมีเทคโนโลยีด้วย น้อง ๆ ที่มาในวันนี้เป็นน้อง ๆ ในชมรม CUHAR จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้อง ๆ กลุ่มนี้นอกจากเก่งแล้ว เทคโนโลยีที่เขากำลังศึกษาอยู่ เป็นเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเมื่อคนเก่งได้ทำเรื่องเทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ”
“ขณะเดียวกัน กลุ่มทรู ก็มีโครงการร่วมกับจุฬาฯ ที่ทำเรื่องของ True Lab ในการทำงานวิจัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงสนับสนุนน้องๆ กลุ่มนี้ ในการไปแข่งขันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็มีการต่อยอดความร่วมมือการทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอีกด้วย”
เปิดวาร์ปผลงานน่าทึ่ง สุดยอดนวัตกรรมไทย จรวดความเร็วเสียงจาก “Spaceport America Cup 2022”
ผลงานอันน่าภูมิใจจากเยาวชนไทยชิ้นนนี้คือ จรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผลงานที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็ย่อมได้ เพราะสุดยอดนวัตกรรมนี้เกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถและศักยภาพของกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งเป็น 14 นิสิตชมรมซียูฮาร์ (CUHAR) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มทรูผ่านโครงการทรูแล็บ จนสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยทีมแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก “Spaceport America Cup 2022” ณ เมือง Las Cruces รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขันกว่า 150 ทีมจาก 20 ประเทศทั่วโลก นับเป็นหนึ่งในการแข่งขันจรวดความเร็วเสียงที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและท้าทายมากที่สุดในโลก ทีมเยาวชนต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกมากมาย กว่าจะได้พิชิตชัย นำธงชาติไทยโบกสะบัดสู่สายตาชาวโลกได้อย่างสง่างาม
มาถึงตรงนี้ ก่อนอื่นขอพามาทำความรู้จักกับ จรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” และหนึ่งในเยาวชนผู้ร่วมกันสรรสร้างผลงานชิ้นนี้คือ รชยา ดีเลิศกุลชัย ตัวแทนของน้อง ๆ เยาวชน นิสิตชมรมซียูฮาร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงที่มาว่า
“ตอนแรกหนูและเพื่อน ๆ มีความคิดอยากทำจรวด แต่ก็มีความคิดแย้งเหมือนกันว่า ในประเทศไทยทำไม่ได้หรอก เราก็ไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งอาจารย์ได้แนะนำว่า ถ้าอยากไปแข่งก็ไป ถ้าในประเทศไทยไม่มี ก็ไปแข่งที่ต่างประเทศ”
“หลังจากนั้นทีมก็ช่วยกันหารายการแข่งว่ามีอะไรบ้าง ในที่สุดก็เจอรายการแข่งขันการทำจรวดความเร็วเสียง เป็นการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วก็สมัครเข้าไป สุดท้ายก็ผ่านรอบคัดเลือกค่ะ ต้องอธิบายเพิ่มเติมนะคะว่า จรวดความเร็วเสียง เป็นจรวดชนิดหนึ่งที่ใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งข้อดีก็คือ สามารถใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์ซ้ำได้หลายครั้ง ยิงขึ้นไปแล้วก็นำมาใช้ใหม่ได้ค่ะ”
แน่นอนว่าเยาวชนทุกคนในทีมต่างดีใจ และภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปสร้างชื่อเสียงการประกวดในรายการระดับโลก แต่ก็เป็นดังสัจธรรมของโลกที่ว่า เส้นทางสู่ความสำเร็จ มักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากต้องเจอกับบททดสอบ ซึ่งอุปสรรคที่น้อง ๆ เยาวชนต้องเจอ มีทั้งเรื่องของชิ้นส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องมาซื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น กว่าจะขนส่งถึงที่พักก็คือ 2 วันก่อนการแข่งขัน แล้วยังมีเรื่องของอุปกรณ์บางชิ้นที่เสียหายจากการเดินทาง ระบบไฟต่าง ๆ ต้องช่วยกันแก้ไม่ได้นอนติดกันหลายคืน และที่ชวนลุ้นที่สุด ตัวแทนของน้อง ๆ เยาวชน นิสิตชมรมซียูฮาร์ พศิน มนัส ปิยะ และ รชยา ดีเลิศกุลชัย ได้เล่าว่า
“เรามีเวลาในการปล่อยจรวด 4 วัน แต่ฝนตกไปแล้ว 2 วัน ก็ต้องปิดน่านฟ้า หรือแม้กระทั่งเมฆเยอะพายุเข้าก็ไม่สามารถนำจรวดไปขึ้นแท่นเตรียมยิงได้ และการแข่งขันทั้งหมดมี 150 ทีม คิวเราได้ท้าย ๆ สรุปคือได้ยิงวันสุดท้ายประมาณ 15.00 น. ซึ่งก่อนปล่อยจรวดจะมีการนับถอยหลัง พอนับถึง 0 ปกติผ่านไป 1 วินาทีต้องขึ้นแล้ว นี่ผ่านไป 3 วินาทีก็แล้ว จรวดเราไม่ขึ้น ตอนนั้นลุ้นมาก แต่สุดท้ายจรวดก็ทะยานขึ้นฟ้า ตอนนั้นพูดไม่ออก ดีใจมาก ๆ ”
สุดท้ายแล้วความพยายามไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง เพราะเยาวชน นิสิตชมรมซียูฮาร์ คว้ามาถึง 2 รางวัล นั่นก็คือ Social Media Award จากการทำแฟนเพจ CUHAR - Chulalongkorn University High Altitude Research Club (https://www.facebook.com/cu.highaltitude/) และที่น่าภาคภูมิใจที่สุด นั่นก็คือรางวัลรองชนะเลิศนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง “Dr. Gil Moore Award for Innovation” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของการแข่งขัน
เชื่อว่าความสำเร็จในครั้งนี้ของน้อง ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลาย ๆ คนได้มากทีเดียว ซึ่ง พศิน มนัสปิยะ เผยแรงผลักดันที่ช่วยให้ทำตามความฝันนี้ได้สำเร็จคือ
“ถ้าไม่ได้ลงมือทำ ก็จะไม่ได้ทำสักที และต้องมองว่าถ้ามีโอกาสก็ต้องคว้าไว้ อีกอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้ก็คืออะไรที่ทำเป็น Project base ต้องใช้ความรู้หลาย ๆ ด้าน มาผสมกัน และที่สำคัญอาจได้ความรู้อะไรที่แตกต่างจากที่เคยเรียนปกติในห้องด้วย”
นอกจากนี้ตัวแทนของน้อง ๆ เยาวชน นิสิตชมรมซียูฮาร์ พศิน มนัสปิยะ และ รชยา ดีเลิศกุลชัย ได้กล่าวขอบคุณทรู ผู้อยู่เบื้องหลังแห่งความสำเร็จครั้งนี้ไว้ว่า
“ขอบคุณ True มาก ๆ จากใจจริงค่ะ เพราะว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งก่อนจะได้เจอทรู ก็คือเรื่อง Budget เพราะว่าการสร้างจรวด ต้องใช้งบประมาณเยอะมาก ทั้งค่าวัสดุ ค่าอุปกรณ์ ค่านำเข้าสินค้าต่าง ๆ ทรูเข้ามาช่วยเหลือทั้งหมด รวมถึงตั๋วเครื่องบินไปแข่ง และค่าใช้จ่ายตลอดการอยู่ที่นั่น ซึ่งใช้เงินเยอะมาก ๆ ขอบคุณทาง True ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาตลอด รวมไปถึงซิมทรูมูฟ เอช โรมมิ่งที่ให้มาสำหรับการใช้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยค่ะ”
“ตอนแรกเรื่องเงินทุนเป็นอุปสรรคมากพอสมควร คิดว่างบจะไม่พอ ต้องมานั่งตัดงบกันจนคิดว่าอาจจะไปต่อไม่ได้ พอดีกับทาง True ยื่นมือเข้ามาช่วย ทำให้ Project ไปต่อได้ สำเร็จไปได้ด้วยดี ขอบคุณมาก ๆ ครับ”
ในด้านของ ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวถึงผลงานอันน่าภูมิใจของกลุ่มเยาวชนไทยว่า
“เรามองว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะไปแข่งขันกับ 150 ประเทศ ไม่ว่าผลจะชนะหรือแพ้ สิ่งสำคัญคือเขาจะได้เมล็ดพันธุ์ความคิด ได้ประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว หมายถึงเขาได้ประสบการณ์ไปแข่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ไปเจอประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำ เราจะได้บุคลากรที่มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ในระดับโลก กลับมาเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศ นี่คือการลงทุนด้านคน”
“ครั้งนี้ น้อง ๆ ไม่ได้ไปแค่แข่งขันยิงจรวดขึ้นไปในอวกาศ แต่เขาจะต้องกลับมาทำงานวิจัยด้านอวกาศด้วย ซึ่งงานวิจัยต้องบอกว่าเป็นทั้งการยิงดาวเทียม CubeSat สมัยก่อนดาวเทียมคือยิงลูกใหญ่ ๆ สมัยนี้คือยิงขึ้นไปทีละห้าสิบหกสิบลูก เป็นดาวเทียมลูกเล็ก ๆ แล้วเขาก็สามารถบังคับให้ดาวเทียมไปอยู่ในจุดที่ตัวเองต้องการได้ เพราะฉะนั้นน้อง ๆ กลุ่มนี้ที่ทำงานวิจัยเรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวเลย เพราะต่อไปดาวเทียมจะมาเป็นตัวเครื่องมือสื่อสาร ทดแทนเทคโนโลยีแบบเก่า เรากำลังพูดถึงเทคโนโลยีที่ไม่เกินสิบปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นน้อง ๆ อยู่ปีสามปีสี่ อีกสิบปีข้างหน้าน้อง ๆ จะเป็นบุคลากรที่พร้อมทั้งความรู้และประสบการณ์ พูดง่าย ๆ คือเป็นคนที่เป็นแกนหลักด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการที่เราเข้าไปสนับสนุนให้น้อง ๆ ทำเรื่องใหม่ หนึ่งคือ กลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ด้วย สองคือ งานวิจัยของน้องๆ เองหลายอย่าง ก็น่าที่จะนำมาใช้งานได้ด้วย”
การเดินทางไปแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากเป็นความภูมิใจของประเทศไทยแล้ว ยังถือว่าเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่าของน้อง ๆ เยาวชนไทย ที่จะเก็บเกี่ยวความรู้มาต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมดี ๆ ในอนาคตต่อไป ประสบการณ์ในครั้งนี้นับเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.prachachat.net/world-news/news-616982
https://marketeeronline.co/archives/227944
ขอบคุณภาพจรวดจาก