อยากทำงานสบายใจ อย่าให้ใครในที่ทำงาน “ยืมเงิน”
หนึ่งในเรื่องที่สร้างความลำบากใจขั้นสุดระหว่างเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในที่ทำงานเดียวกันก็คือ การเจอเพื่อนร่วมงาน “ขอยืมเงิน” อันที่จริง ไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนร่วมงานหรอก ใครก็ตามที่ถือว่าเป็นคนสนิทกันในระดับหนึ่งแล้วเริ่มมีการมาขอหยิบยืมเงินกันเนี่ย ก็มักจะลงท้ายด้วยการผิดใจกันมาหลายรายแล้ว
เข้าใจดีว่าการถูกขอยืมเงิน ในหลาย ๆ สถานการณ์มันยากที่จะปฏิเสธ อาจจะเป็นเพราะคุณเป็นคนขี้เกรงใจ ปฏิเสธใครไม่เป็น ไม่รู้จะเอาตัวรอดด้วยวิธีไหน หรือบางทีก็อาจจะมาด้วยการยืมเล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้ง 5-10 บาท แต่ยืมแล้วแกล้งลืมหรือเนียนไม่คืนก็มีถมเถไป ซึ่งเศษเงินเหรียญนั้น ถ้าถูกยืมแล้วไม่คืนหลายครั้งเข้า มันก็หลายเงินอยู่เหมือนกัน
สิ่งที่ต้องจำไว้ให้ดีก็คือ “เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร” และมันอาจจะบานปลายเมื่อไรก็ได้ ยิ่งกับคนที่ได้ชื่อว่า “เพื่อนร่วมงาน” ที่ต้องทำงานด้วยกันทุกวันด้วยแล้ว นี่อาจจะเป็นสงครามที่น่าปวดหัวที่สุด แล้วสุดท้ายอาจลงเอยด้วยการเลิกคบ มองหน้ากันไม่ติด หรือกลายเป็นคนที่เกลียดขี้หน้ากันไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ ฉะนั้น ทางที่ดีอย่าให้เรื่อง “เงิน” เข้ามาเป็นตัวทำลายมิตรภาพระหว่างกันเลยจะดีกว่า Tonkit360 จึงมีเหตุผลดี ๆ 5 ข้อว่าทำไมถึงไม่ควรให้เพื่อนร่วมงานยืมเงิน!
1. มีครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อ ๆ ไป
ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม มันจะยากแค่ตอนเริ่มต้นเท่านั้น หากสามารถผ่านด่านแรกไปได้ ด่านต่อ ๆ ไปหรือครั้งต่อไปมันก็จะไม่ยากแล้วล่ะ กับเรื่องขอยืมเงินก็เหมือนกัน พอได้ครั้งแรก ครั้งต่อ ๆ ไปก็จะตามมา ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ขี้เกรงใจหรือปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น เลยจำให้ยืมง่าย ๆ ลูกหนี้คุณก็จะเป็นหน้าเดิม ๆ ตลอดไป พอเงินขาดมือ หมุนเงินไม่ทัน ติดหนี้พนันบอล เขาก็จะมาหาคุณตลอดเพราะรู้ว่ามาแล้วได้ เผลอ ๆ อาจจะไปชวนคนอื่นในออฟฟิศมาเป็นลูกหนี้คุณเพิ่มอีก ด้วยมุกเด็ดว่า “ทีกับคนนั้นยังให้ยืมเลย” ถ้าไม่อยากเป็นเจ้าหนี้คนทั้งออฟฟิศ อย่าใจอ่อนให้ใครยืมทั้งนั้น
2. ทวงยากลำบากใจ
ในออฟฟิศมีคนหลายวัย หลายตำแหน่งงาน คนที่อายุอาวุโสกว่าคุณมาก ๆ หรือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า หากคุณเผลอหลวมตัวให้คนเหล่านี้ยืมเงิน พอถึงเวลาที่ควรต้องคืน คุณก็ไม่ค่อยกล้าทวงหรอก ทั้งกังวลเรื่องมารยาทว่าจะใช้คำไหนทวงดี จะน่าเกลียดไปหรือเปล่า ไหนจะเพราะมันเป็นการทวงเงิน ถ้าเขาพูดมาทำนองว่าแค่นี้ก็ทำเป็นทวง ขี้งก ขี้หวง คนเค็ม ใจดำ แล้งน้ำใจ อะไรประมาณนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบโต้อย่างไรไปต่อไม่ถูก หรือถ้าเขาเล่นบทดราม่า สารพัดปัญหาชีวิตรุมเร้า ทำซะคุณรู้สึกผิดที่ทวงเงินหรือลำบากใจทุกครั้งที่เจอหน้าลูกหนี้ แบบนี้เสียสุขภาพจิตมาก ๆ เลยนะ
3. ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เสี่ยงไม่ได้คืน (ในเร็ว ๆ นี้)
จำภาพตอนที่เขาเล่นบทเศร้า น้ำตาไหลพรากเพราะเดือดร้อนมาก พินอบพิเทาอย่างสุดซึ้งตอนจะยืมเงินได้ไหม ทำเอาคุณใจอ่อนต้องหยิบให้ไป โปรดรู้ไว้ว่าภาพมันจะฉายซ้ำเดิมในเวลาต่อมา เพียงแต่คุณจะได้สลับบทบาทกับลูกหนี้ของคุณ ทั้งที่คุณอยู่ในสถานะเจ้าหนี้ เพราะถ้าเขามาแบบตีมึน หน้าด้าน ทำไมล่ะก็ไม่มีจะคืนอะ ไม่หนีด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่จ่าย ขยันทวงก็ทวงไปสิ เตรียมใจได้เลยว่าเปอร์เซ็นต์จะไม่ได้เงินก้อนนั้นคืนนั้นสูงมากทีเดียว ถ้าพวกเล่นยื่นใบลาออกเงียบ ๆ แล้วหายไปเลย หรือกว่าจะได้คืนก็คือทวงกันให้ตายไปข้าง แน่นอนว่าคงมองหน้ากันไม่ติดแล้ว
4. เสียเพื่อนร่วมงานที่ทำงานเข้าขากัน
เป็นที่รู้กันดีว่าบางคนเหมาะจะเป็นแค่เพื่อนร่วมงานแต่ไม่ควรคบเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงานที่ดีไม่ได้แปลว่าจะเป็นเพื่อนที่ดี ในทางกลับกันคนที่เป็นเพื่อนสนิทก็อาจจะทำงานร่วมกันไม่ได้ก็ได้ หากลูกหนี้ของคุณคนนี้ดันเป็นคนที่ทำงานเก่งมาก ถ้าเรื่องของการทำงานแล้วเขาคือคนที่เก่งทุกอย่าง มาเสียก็ตรงที่เป็นพวกขี้ยืมเงิน (แถมยืมแล้วคืนยากหรือยืมแล้วไม่คืน) หากคุณได้ลองตกเป็นเหยื่อเจ้าหนี้ของเขาแล้ว ชนิดที่ว่ารู้ซึ้งถึงนิสัยไม่ดีข้อนี้ของเขา ต่อให้ทำงานดี เป็นคนเก่ง ทำงานเข้าขากันดีแค่ไหน คุณก็คงจะไม่อยากทำงานร่วมกับเขาอีกหรอก
5. เสียความรู้สึก
ใด ๆ แล้ว การได้วางตัวอยู่ในสถานะเจ้าหนี้กับคนในออฟฟิศนั้น ไม่ได้รู้สึกเท่หรือเป็นต่ออะไรเลย ดีไม่ดีคุณอาจจะเป็นคนที่เสียเปรียบที่สุดก็ได้ แบบเสียทั้งเงิน เสียงทั้งเพื่อนร่วมงาน เสียการเสียงาน ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้คุณเสียความรู้สึก ยิ่งถ้าลูกหนี้ของคุณบางคนยังใช้ชีวิตกินหรูอยู่สบายอวดของแพง แต่ไม่ยอมจ่ายหนี้คืนคุณ แบบนี้คุณก็ไม่สามารถมองเขาด้วยสายตาแบบเดิมได้ ความสนิท ความเชื่อใจที่เคยมีให้กันมันจะติดลบไปหมด ต้องจำไว้ว่าเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร มันอาจทำให้คุณเสียใจที่สุดก็ได้ เพราะได้บทเรียนครั้งใหญ่และเสียค่าโง่ที่จริง ๆ แล้วไม่ควรเสีย