โรคง่วงนอนมากผิดปกติ Hypersomnia
อาการง่วงนอน อาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อ พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่หากใครมีอาการที่รุนแรงกว่านั้นเช่น ง่วงนอนทั้งวัน อยากนอนตลอดเวลา ระหว่างทำกิจกรรมก็หลับ ใครมีอาการแบบนี้อาจจะเข้าค่าย Hypersomnia หรือ โรคง่วงนอนมากผิดปกติ
โรคง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia) คืออะไร?
ภาวะที่มีความง่วงนอนมากผิดปกติคือ รู้สึกง่วงนอนมากทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน มีอาการง่วงอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ติดต่อกันเกิน 3 เดือน โดยไม่สามารถฝืนตัวเองให้ตื่นได้ ทั้งๆ ที่ได้นอนเพียงพอแล้ว (เกิน 9 ชั่วโมง) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะนอนหลับเกิน 10 ชั่วโมง และมีการงีบหลับหลายครั้งในเวลากลางวัน มีอาการงัวเงียมากหลังตื่นนอนในตอนเช้า ตื่นยาก หรืองัวเงียมากแม้กระทั่งหลังตื่นจากการงีบหลับกลางวัน ตื่นมารู้สึกไม่สดชื่น เพลีย ไม่มีแรง และอารมณ์หงุดหงิด
สาเหตุของโรคง่วงนอนมากผิดปกติ
- อดนอนมาเป็นเวลานาน และบ่อยๆ จนร่างกายพักผ่อนไม่พอ ทำให้นอนเท่าไรก็ไม่รู้จักพอสักที
- นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น เดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากันมากๆ
- ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ ทำให้ร่างกายนอนมากผิดปกติ
- นอนกรน มีภาวการณ์หยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ
- สมองได้รับบาดเจ็บหรือโรคเกี่ยวกับทางสมองต่างๆ
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ฯลฯ
โทษจากโรคง่วงนอนผิดปกติ
- สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
- การทำงานของกระดูกกล้ามเนื้อและข้อลดประสิทธิภาพลง หากไม่ได้มีการเคลื่อนไหวนานๆ อาจมีผลทำให้กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาข้อต่างๆ เคลื่อนไหวได้ยากตามมาได้
- น้ำหนักเกินมากกว่าเดิม เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น อันอาจนำไปสู่โรคต่างๆ อาทิเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
- กลายเป็นคนซึมเศร้า การนอนมากๆ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะ “เคมีอารมณ์ สารความสุข” จำพวก “เซโรโทนิน (Serotonin)” และ “เอนดอร์ฟิน (Endorphin)” ลดต่ำลง
วิธีป้องกันโรคง่วงนอนมากผิดปกติ
วิธีป้องกันโรค เข้านอนให้เป็นเวลา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หลีกเลี่ยงการนอนตอนกลางวัน ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ส่วนใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษาอย่างถูกวิธี