โซเชียลมีเดียกับสารพัดภัยสังคมที่มาในยุคออนไลน์

โซเชียลมีเดียกับสารพัดภัยสังคมที่มาในยุคออนไลน์

โซเชียลมีเดียกับสารพัดภัยสังคมที่มาในยุคออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังคมทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นอกจากโลกจริง ๆ ที่ใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวัน ต่างคนต่างก็มีโลกเสมือนอีกใบที่คิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว อยากจะใช้ทำอะไรก็ได้ อยากจะเสพอะไรก็ได้ เพราะมีอิสระ ทั้งที่โลกออนไลน์นั้นมันกว้างใหญ่เกินกว่าที่เราจะประเมินได้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราทำหรืออะไรก็ตามที่เรารับมา มันดีหรือไม่ดี เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนจริง ๆ ของเราหรือเปล่า หรือแค่หลงมัวเมาอยู่กับภัยสังคมที่แฝงมากับโซเชียลมีเดียที่ออนไลน์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว การสร้างภาพ การโกหกหลอกลวงมีปรากฏในสื่อออนไลน์ทุกวี่วัน และบางสิ่งบางอย่างก็อาจจะต้องเตือน ๆ กันบ้าง เพราะหลายอย่างมันเป็นภัยสังคมได้เลย

กลลวงจาก fake news

ในยุคที่ข้อมูลมีอยู่มากมายมหาศาล และในยุคที่คนสามารถทำสงครามกันด้วยปลายปากกาหรือปลายนิ้วที่พิมพ์ ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ข่าว” ถูกด้อยค่าความน่าเชื่อถือลงไปทุกที ข่าวจริงข่าวปลอมปนกันมั่วไปหมด เพราะต่างคนต่างต้องการรายงานข่าวและแชร์ข้อมูลกันอย่างเร่งรีบ ทั้งสื่อจริงสื่อเทียมต่างแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งเรื่องความสดใหม่ ทำให้ข่าวบางส่วนไม่ได้รับการกลั่นกรองคุณภาพและความถูกต้องก่อนที่เผยแพร่ด้วยซ้ำ ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ข้อมูลบิดเบือนต่าง ๆ จึงถูกนำเสนอต่อสาธารณชนให้ได้รับทราบในวงกว้าง มีการเผยแพร่ต่อ จนทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งหลงเชื่อข่าวปลอมไปแบบไม่รู้ตัว และกว่าที่จะรู้ว่าข้อมูลที่ตนเองได้รับมาไม่ถูกต้อง ก็เกิดความเสียหายเสียแล้ว

นอกจากนี้ การที่สื่อหลักนำเสนอข้อมูลที่ได้มาจากโซเชียลมีเดีย โดยนั่งเฝ้าหน้าจอแล้วหยิบยกข้อมูลที่ไหลผ่านในโซเชียลมีเดียขึ้นมาเล่นให้เป็นข่าว ต่างจากสื่อในยุคก่อนที่ต้องออกภาคสนามเพื่อหาข่าวจากแหล่งข่าว ข้อมูลบางส่วนไม่ได้มีการตรวจสอบทั้งคุณภาพและความถูกต้อง เมื่อนำมานำเสนอก็มีการใส่ความคิดเห็นของผู้เล่าข่าวลงไปเพื่อให้เกิดความน่าสนใจชวนติดตาม ทำให้ความคิดเห็นถูกทำให้กลืนไปกับข้อเท็จจริง และก็เป็นสื่อหลักเสียเองที่อาศัยความน่าเชื่อถือนำเสนอข่าวปลอมจนผู้เสพข่าวเข้าใจว่าเป็นข่าวจริง เมื่อไม่มีการตรวจสอบอีกครั้ง ในที่สุดข่าวปลอมถูกทำให้กลมกลืนกับข่าวจริงจนแยกลำบาก และหากพบว่าเป็นข่าวปลอม สื่อก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบใด ๆ

การปลุกปั่นทางความคิดความเชื่อ

ข้อมูลที่ไหลอย่างรวดเร็วในโซเชียลมีเดีย มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นข้อมูลในเชิงยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดและกลายเป็นความขัดแย้งได้ในที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ ที่ทำให้คนส่วนมากคล้อยตามได้ง่ายเพียงแค่ข้อมูลนั้น ๆ มีคีย์เวิร์ดที่ถูกจริตผู้รับสาร เช่น การเมือง ศาสนา เชื้อชาติ เพศ เป็นต้น ดังนั้น การนำเสนอข่าวปลอมหรือข่าวบิดเบือนในลักษณะของโฆษณาชวนเชื่อเพื่อจูงใจผู้รับสารเห็นด้วยแบบเข้าใจผิด หรือแม้แต่เป็นข่าวที่ใส่อคติลงไป เพื่อสนับสนุนความคิดความเชื่อตามอคติของผู้ใช้สื่อ จะทำให้ข่าวดังสร้างความเข้าใจผิด ๆ ต่อผู้รับสารในวงกว้าง คนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยทำสงครามคีย์บอร์ด กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

เมื่อได้เสพข่าวหรือข้อมูลที่แฝงไปด้วยเจตนาปลุกปั่น หากผู้รับสารไม่มีวิจารณญาณมากพอที่จะพิจารณาข้อมูลที่ตนเองได้มา ก็อาจตกเป็นเหยื่อและเป็นเครื่องมือของใครสักคนที่ควบคุมความคิดอยู่เบื้องหลังได้ง่ายมาก การที่เราหลงเชื่อข้อมูลที่ได้มาอย่างเต็มที่ ไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ปิดหูปิดตาเพราะเชื่อว่าข้อมูลที่ตนได้มานั้นถูกต้องที่สุด รับข้อมูลด้านเดียวซ้ำ ๆ โดยไม่มีการโต้แย้ง ไม่มีการเตือน ไม่มีข้อเสนอแนะอื่น ติดอยู่ในห้องของเสียงสะท้อนของตนเองแบบฝังหัว ถูกล้างสมอง แม้หลายคนจะรู้ภายหลังว่าข้อมูลที่ตนได้มาเป็นเรื่องไม่จริง แต่ก็ถูกอคติที่ได้รับมาก่อนหน้านี้บดบังจนไม่สนใจความถูกผิดแล้ว สร้างความเกลียดชังและก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม

ยุ่งเรื่องคนอื่นมากเกินไป

บ่อยครั้งที่คนในโซเชียลมีเดียทะเลาะกันและตั้งทีมเข้าข้างฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ที่เป็นตัวละครอยู่ในดราม่าต่าง ๆ แสดงความเกลียดชัง ด่าทอ โต้เถียงกันแรง ๆ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เนื่องจากโซเชียลมีเดียเอื้อให้คนในสังคมรับรู้เรื่องราวของคนอื่น ๆ มากเกินไป โดยเฉพาะประเด็นดราม่าต่าง ๆ อาจจะเป็นเรื่องของคนดังในสังคม หรือแม้แต่คู่ขัดแย้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ ถ้าหากกลายเป็นกระแสที่พูดถึงในสังคม ก็มักจะมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ใช้ทั้งตรรกะและตรรกะวิบัติ เป็นลูกหาบที่อวยฝ่ายหนึ่งและด่าอีกฝ่ายหนึ่ง สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ของตนเองอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่ถูกใจทีมฝ่ายตรงข้ามก็เปิดสงครามคีย์บอร์ดขึ้นอย่างง่ายดาย

การมีโซเชียลมีเดียที่เชื่อมต่อและย่อโลกทั้งใบให้อยู่ในสองฝ่ามือ ทำผู้คนรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลกได้ง่ายและเร็วมาก อีกทั้งยังมีความกระหายที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นตาม “ความเห็นส่วนตัว” โดยที่อาจจะไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองก่อนว่าควรหรือไม่ควร และไม่สนใจว่าสิ่งที่ตัวเองพิมพ์ออกไปแสดงให้เห็นทัศนคติในด้านลบของตัวเองมากเพียงใด แค่อยากมีส่วนร่วมในปัญหาของคนอื่น ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งในหลาย ๆ เรื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อคนทั่วไปในสังคม เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของใครสักคนที่ทำให้คนในสังคมรู้สึกอยากรู้อยากเห็นก็เท่านั้น จึงอาจนำมาซึ่งการด่าสนุกปาก แต่จบด้วยการขึ้นศาล ไหว้สวยรวยกระเช้า

อาชญากรรมทางเพศ

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียและแอปสำหรับหาคู่ ถือเป็นตัวช่วยหาคู่ยอดฮิตในยุคดิจิทัล สำหรับเพิ่มโอกาสในการหาความรักของคนโสดที่มีอยู่เกลื่อนเมือง รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยับขึ้นมาเป็นคนรักจริง ๆ สำหรับคนที่อยากจะก้าวข้ามความโสดแบบเร่งด่วน และหมดความหวังในการบังเอิญเจอแฟนแบบที่เดินชนกันแล้วปิ๊งกันเหมือนเมื่อก่อน เพราะแค่ไถ ๆ ปัดซ้ายปัดขวาบนจอมือถือ ก็มีโอกาสที่จะได้พบกับคนที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างชวนให้ “แมตช์กัน” ได้ทำความรู้จักกันจนพร้อมที่จะไปต่อ จากนั้นก็เลื่อนสถานะขึ้นมาเป็นคนคุย คุยจนนัดเจอตัวจริง แล้วถ้ายังยืนยันที่จะไปต่อ ก็จะตกลงคบหาเป็นคนรัก หากเป็นคนที่ใช่จริง ๆ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแต่งงาน ความรักแบบนี้มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย

แต่การพบรักออนไลน์มันก็เป็นหนทางที่เสี่ยงดวงอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอรักแท้จากออนไลน์ และไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอกับคนดี การเจอรักจากออนไลน์ทำให้เรากรองคนได้ยากขึ้นกว่าการพบเจอกันตัวเป็น ๆ เราไม่รู้เลยว่าคนที่เข้าหาเรานั้นมีจุดประสงค์ใดแอบแฝงหรือไม่ เราอาจเจอมิจฉาชีพที่แฝงมาปอกลอกให้เสียทรัพย์ก้อนโตจนเสียใจ เข้ามาเพื่อหลอกลวงมากกว่าจะมาสร้างความรักไปด้วยกัน และน่ากังวลมากกว่าหากไปเจอเข้ากับพวกอาชญากรที่แฝงตัวอยู่กับคนธรรมดา มันหมายถึงเราเสี่ยงชีวิต การถูกล่อลวงจนเกิดเป็นอาชญากรรมทางเพศ ลวงให้ส่งภาพอนาจาร ลวงไปข่มขืน/รุมโทรม การกักขังหน่วงเหนี่ยว ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย และอาจถูกฆ่าตายได้

หลอกลวงให้สูญเสียทรัพย์สิน

มิจฉาชีพออนไลน์ก็เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความทันสมัยของเทคโนโลยีนี่แหละ อินเทอร์เน็ตช่วยให้โลกของเรากว้างขวางขึ้นมาก และโซเชียลมีเดียก็เชื่อมสังคมออนไลน์ของผู้คนมากมายเข้าด้วยกัน ซึ่งบัญชีโซเชียลมีเดียนั้นเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราไว้เยอะมาก และหลาย ๆ คนก็มักจะมีพฤติกรรมเปิดเผยด้านต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวในชีวิตของตัวเองผ่านการโพสต์ การแชร์ การกดไลก์ การแสดงความคิดเห็น ทำให้ความเป็นส่วนตัวน้อยลง เมื่อมิจฉาชีพได้ข้อมูลเหล่านี้มาอยู่ในมือไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม อาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงได้โดยง่าย แม้กระทั่งข้อมูลพฤติกรรมว่าเราชอบกดไลก์ให้ใครบ่อย ๆ หรือแชร์คอนเทนต์ประเภทไหนบ่อย ๆ ล้วนสร้างเรื่องหลอกลวงเราได้หมด

ดังนั้น โซเชียลมีเดียนับเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพและอาชญากรชื่นชอบ เพราะสามารถติดตามสถานะของเหยื่อหรือพฤติกรรมของเหยื่อได้ง่ายกว่าช่องทางใด ๆ ในอีกแง่มุม โซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่ที่สร้างอาชญากรรายใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้อายุน้อยที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเรื่องดีเลวเป็นอย่างไร เมื่อบังเอิญได้ข้อมูลของเหยื่อมาก็เกิดความคิดในทางที่มิชอบ ความอยากรู้อยากลองทำให้ริอ่านเป็นอาชญากรโดยรู้เท่าไม่ถึงการ สิ่งยั่วยวนใจมันเยอะ โดยที่ขั้นตอนของการก่ออาชญากรรมอาจไม่ใช่แค่ต้องทำตัวเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ส่งข้อความหลอกลวงมาเท่านั้น แต่สามารถควบคุมอุปกรณ์ของเราได้โดยง่าย เพียงอาศัยข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาจากโซเชียลมีเดีย

ไลฟ์โค้ชบนความจอมปลอมกับภาพที่สร้างขึ้น

ในโซเชียลมีเดีย เรามักจะพบกับเรื่องเล่าในทำนองที่ว่า “ชีวิตเปลี่ยน-เปลี่ยนชีวิต-พลิกชีวิต” อยู่เสมอ ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเจ้าของเรื่องจะสถาปนาตัวเองขึ้นมาอย่างไร โดยส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าเป็นประสบการณ์ของตนเอง ที่เพิ่งเห็นผ่านตากันเมื่อไม่นานมานี้ คือการจั่วหัวว่าไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาตรี (หรือไม่ต้องเรียนจบสูง ๆ) ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ มีเงินหลักล้านซื้อของแบรนด์เนม กินหรูอยู่แพง ขับรถราคาหลายล้าน หรือไม่ก็ชีวิตที่ผ่านมาเคยลำบากมาก่อน จนกระทั่งได้มาพบทางสว่างในอะไรสักอย่าง ชีวิตจึงเปลี่ยนมารวยได้แบบทุกวันนี้ เหล่านี้กลายเป็นเรื่องเล่าชั้นดีที่กล่อมผู้คนได้มากมาย บางคนที่ยังไม่โดนจับโป๊ะ ก็ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็น “ไลฟ์โค้ช” เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หากมีสติและใช้วิจารณญาณให้มากขึ้นสักหน่อย เราจะเห็นว่าเรื่องเล่าเหล่านั้นล้วนปลูกฝังค่านิยมที่บิดเบี้ยวทั้งสิ้น ตัวอย่างเรื่องของการศึกษา การศึกษาเป็นรากฐานที่ดีของชีวิตที่ดี แต่กลับปลูกฝังว่าไม่จำเป็นต้องเรียนสูง ๆ ก็ประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีได้ แน่นอนว่าคนที่ประสบผลสำเร็จทั้งที่เรียนไม่จบก็มี แต่เปอร์เซ็นต์มีมากน้อยแค่ไหน การสร้างภาพจอมปลอมด้วยการแต่งตัวแบบ “ทรงเอ-ทรงซ้อ” ทำให้คนโลภหวังรวยทางลัด รวยแบบไม่ต้องพยายามมาก โดยไม่เห็นสิ่งที่แฝงมากับเรื่องเล่าพวกนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนให้เข้าสู่วงการพนัน การหลอกขายคอร์สสร้างความรวย การหลอกให้เข้าไปเป็นสมาชิกของวงแชร์ การออมทอง หรือแม้แต่ลัทธิความเชื่อประหลาด ๆ

ชักนำสู่การทำเรื่องผิดกฎหมาย

แม้ว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะมีกฎและนโยบายการใช้งานที่ชัดเจน มีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาตรวจจับการทำผิดกฎของแพลตฟอร์ม แต่เหตุใดเราถึงเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่เกลื่อนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการพนัน การโพสต์ขายอาวุธปืน โฆษณาชวนเชื่อในเชื่อหลอกลวงประชาชน การไลฟ์ภาพยนตร์-การ์ตูน-ซีรีส์แบบผิดลิขสิทธิ์ การโพสต์ขายบริการทางเพศ การเผยแพร่คลิปลามกอนาจารของเหยื่อข่มขืน และอื่น ๆ อีกมากมาย โซเชียลมีเดียไม่อาจกรองให้เราได้ทั้งหมด และบางส่วนก็จงใจปล่อยผ่านแค่มีการใช้เงินซื้อการโปรโมต ในกรณีที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มไม่มีภูมิต้านทานมากพอ ไม่มีวิจารณญาณ หรือแม้แต่การเห็นผิดเป็นชอบ ก็อาจจะเดินเข้าสู่วงการเหล่านี้

คนที่จะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายที่สุด คือเด็กและเยาวชนที่น้อยประสบการณ์ ความคิดความอ่านยังไม่มากพอ การได้เห็นสิ่งผิดกฎหมายแบบสาธารณะเช่นนี้ทำให้พวกเด็ก ๆ เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ผิด และยิ่งถ้าหากไม่มีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ อบรมสั่งสอน เด็กและเยาวชนสามารถเข้าสู่วงจรพวกนี้ได้ง่ายมาก ๆ ในขณะที่พวกผู้ใหญ่บางคนเองก็อาจจะหลงผิด เห็นผิดเป็นชอบ ยอมทำเรื่องผิดกฎหมายด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา และเมื่อโดนกฎหมายลงโทษก็อ้างนั่นอ้างนี่เพื่อขอความเห็นใจจากสังคม บ้างก็มาสายเฟียสที่แสดงออกว่ารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นผิดกฎหมายแต่ก็มั่นหน้าทำอยู่ดี ซึ่งในโซเชียลมีเดียมีคนประเภทนี้เป็นจำนวนมาก โดยที่กฎหมายบ้านเราก็กวาดล้างไม่หมดด้วย

การอวดรู้ทั้งที่ไม่รู้/รู้ไม่จริง/รู้แบบผิด ๆ

อีกภัยความมั่นที่เราเห็นได้บ่อยตามคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย ที่มักจะมีคนประเภทที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้รู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งที่จริง ๆ ไม่ได้รู้ลึกรู้จริงขนาดนั้น หรืออาจไม่ได้มีความรู้เลยด้วยซ้ำ อาศัยว่ามีความคิดเห็นที่อยากจะแสดงให้คนอื่นได้รู้ก็เท่านั้น นี่เป็นกับดักของหลุมพรางจากทฤษฎีหลุมแห่งความกลวง หรือ Dunning Kruger Effect เป็นพฤติกรรมประเภทมั่นหน้ามั่นโหนกจนเกินเหตุ เพราะที่รู้ก็รู้ไม่จริงแต่พยายามบอกว่าตัวเองรู้ และแสดงให้โลกรู้ด้วยว่าตนเองนั้นรู้ (แบบผิด) จนเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจากความไม่รู้จริง แต่คิดว่าตนเองนั้นรู้ ให้ค่าเกินจริง (Overestimate) ต่อความรู้ของตัวเอง มองว่าเป็นเรื่องไม่ยาก

นอกจากนี้ยังมีพวก Armchair Quarterback ด้วย โดยเปรียบเทียบถึงคนที่ชอบแสดงความคิดเห็นด้วยความรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ แบบที่ได้ยินคนอื่นพูดให้ฟังหรืออ่านจากหนังสือ แต่ในความเป็นจริงคนประเภทนี้ไม่เคยใช้ชีวิตหรือทำงานในแวดวงที่เขาแสดงความคิดเห็น ไม่มีประสบการณ์จริง ไม่เคยลงมือทำ แต่สามารถอวตารอวดอ้างให้ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกสถานการณ์ที่กำลังติดเทรนด์ และหลงอยู่ในความรู้แบบที่รู้ไม่ลึก รู้ไม่จริง รู้มาผิด ๆ ถูก ๆ แต่คิดว่าตัวเองรู้แน่แท้ชนิดที่กู่ไม่กลับ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้แสดงความคิดเห็น ได้รับการยอมรับด้วยการกดไลก์ กดแชร์ มีคนคล้อยตามก็เท่านั้น ซึ่งบางคนถึงขนาดก๊อปเอาข้อมูลคนอื่นมาดัดแปลงเป็นของตัวเองได้หน้าตาเฉย รับเครดิตเต็ม ๆ

โลกของคนขี้อวดและขี้อิจฉา

คนที่คุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียดี จะรู้ว่าคนจำนวนมากให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และตัวตนบนโลกออนไลน์ อะไรก็ตามที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย จะถูกกลั่นกรองมาแล้วว่าจะทำให้คนอื่นเข้ามาสนใจได้หรือไม่ อาจจะเป็นชีวิตที่ไม่ว่าใครเห็นก็ต้องอิจฉา หรือชีวิตที่ใครเห็นก็ต้องสงสาร เมื่อได้รับฟีดแบ็กกลับมาเป็นยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือคอมเมนต์ในทางบวก ก็ทำให้รู้สึกประสบความสำเร็จ แต่ทว่าตัวตนจริง ๆ ล่ะ มีความสุขหรือเปล่า หรือกำลังเพลิดเพลินอยู่กับความสุขจอมปลอม และในที่สุด บางคนก็ถูกจับโป๊ะได้ว่าเป็นพวกลวงโลก พฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดจากการที่ไม่ได้รู้สึกพอใจในตัวเอง สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพจิต

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ขี้อวดทั้งที่ตนเองไม่ได้มีอะไรให้อวดขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ไม่อยากน้อยหน้าใคร จึงพยายามสร้างตัวตนที่มีความสุขท่ามกลางสิ่งที่เอามาใช้อวด เช่น รถหรูที่เช่ามา กระเป๋าแบรนด์เนมที่ยืมคนอื่นมาอีกที คนที่เห็นก็หารู้ไม่ว่าของเหล่านั้นจริง ๆ แล้วคนที่โพสต์ไม่ใช่เจ้าของ ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มที่เป็นประเภทขี้อิจฉา เห็นใครได้ดีกว่าไม่ได้ เห็นใครที่มีชีวิตดีกว่าก็ต้องเที่ยวไปค่อนแคะ ตามแซะตามจิก ตามอบรมสั่งสอนให้ความรู้ไปเสียหมดทุกสถานการณ์ หรือเห็นใครมีความสุขไม่ได้จะต้องเข้าไปแทรกกลาง ทำให้เสียบรรยากาศในการอยู่ร่วมกัน จริงจังไปกับทุกเรื่องที่เป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความกลวงนี้ขึ้นมา

การหลอกลวงให้ตัวเองดูน่าเชื่อถือ

ประเด็นล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น สำหรับข่าวนักวิจัยไทยหลายคนใช้เงินซื้องานวิจัยผีเพื่อให้ปรากฏชื่อตนเองในผลงานวิจัยหลายชิ้น คล้ายกับหลายคนที่มีความพยายามที่จะทำให้ตนเองดูเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ใช้เงินแสวงหาการยอมรับจากคนอื่น ๆ และใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ที่ดี ที่น่าเชื่อถือพวกนั้นในการไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดที่สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่ปรากฏในโลกออนไลน์ คนเหล่านี้จึงมักจะสร้างโปรไฟล์ของตนเองขึ้นมาเพื่อให้ภาพลักษณ์ของตนเองที่ปรากฏต่อสาธารณะเป็นไปในทางบวก และอวดภาพเหล่านั้นลงโซเชียลมีเดียเพื่อให้มีคนชื่นชม นับหน้าถือตา โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันผิดวิธีการ ผิดขั้นตอน และถ้าหากโป๊ะแตกถูกจับได้ ตัวเองก็อาจจะไม่มีที่ยืนได้ในที่สุด

ไม่ว่าใครก็อยากให้คนอื่นเห็นตัวเองในภาพลักษณ์ที่ดี มีความสวยงาม ต้องการการยอมรับ การชื่นชม การนับหน้าถือตา มีความน่าเชื่อถือ แต่การเดินทางที่ผิดโดยไม่สนใจผิดถูก มันก็คือการหลอกลวงอยู่ดี ภาพลักษณ์แสนดีที่เพียรพยายามสร้างอย่างผิดวิธี ไม่อาจสร้างความภาคภูมิใจได้ดีเท่าสิ่งที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งหมด สุดท้ายแล้วก็มีเพียงความกลวงเท่านั้นที่ปรากฏต่อคนอื่น และตามมาด้วยการหมดความน่าเชื่อถือ กลายเป็นแค่คนลวงโลก ขี้โกง ขี้โกหก ไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง ดังนั้น อย่าลืมว่าทุกวันนี้โลกของโซเชียลมีเดียมันไปไกลและไปเร็ว สิ่งใดที่ไม่เป็นความจริง ในสักวันหนึ่งจะถูกเปิดโปงได้ในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook