เฉลยแล้ว หม้อหุงข้าวรู้ได้ยังไงว่าข้าวสุกแล้ว จึงตัดไปที่สวิตช์การอุ่นข้าว
เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะมีความสงสัยการทำงานของหม้อหุงข้าวที่เราใช้กันทุกๆ วันนั้นมันมีกลไกการทำงานยังไง ในการหุงข้าวสารจากเม็ดแข็งๆ สู่ข้าวสวยนุ่มๆ ที่ทำให้เราได้อิ่มท้องกัน โดยในวันนี้ Sanook Campus เราก็ได้หาข้อมูลมาไขข้อสงสัยให้เพื่อนๆ กันแล้ว
หม้อหุงข้าวไฟฟ้ามีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนทั้งหลาย คือ มีขดลวดนิโครมที่จะเกิดความร้อนเมื่อมีกระแสไฟฟ้าผ่านความร้อนที่เกิดขึ้นจะส่งต่อมายังแผ่นความร้อนซึ่งอยู่ด้านในของก้นหม้อชั้นนอก และส่งต่อไปยังหม้อชั้นในเพื่อทำให้ข้าวสุก
ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัดเจนก็คือ ตัวหม้อชั้นนอกทำหน้าที่เป็นเตา หม้อชั้นในเป็นหม้อข้าว และแผ่น ความร้อนเป็นเชื้อเพลิง หม้อหุงข้าวจะตัดสวิตช์ปิดตัวเองโดยอัตโนมัติเมื่อข้าวสุก หรือตัดไปที่สวิตช์การอุ่นข้าว ซึ่งการทำงานตรงจุดนี้เป็นกลไกที่อาศัยหลักการทำงานของ อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิหรือเทอร์โมสตัท (Thermostat)
หม้อหุงข้าวรู้ได้ยังไงว่าข้าวสุกแล้ว
โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิน้ำเดือดจะอยู่ที่ 100 องศา ตราบใดที่น้ำยังมีอยู่ น้ำจะดูดความร้อน แล้วคายออกมาเป็นไอน้ำตลอดเวลา ทำให้อุณหภูมิภายในหม้อ ไม่เกิน 100 องศาตลอดเวลา (ค่านี้ เปลี่ยนไปตามแรงดันของหม้อแต่ละยี่ห้อ)
จนกระทั่งน้ำระเหยหมด อุณหภูมิที่ก้นหม้อ จะค่อยๆ สูงขึ้นเพราะไม่มีน้ำช่วยดูดความร้อนอีกต่อไป จนตัวตัดไฟทำงาน เมื่อถึงอุณหภูมิที่กำหนด หรือสามารถสรุปได้ว่า มันไม่รู้ว่าข้าวสุก แต่หม้อหุงข้าวรู้ว่าน้ำหมดจากความร้อนที่สูงขึ้นนั่นเอง