วันตรุษจีน 2567 วันไหว้ วันจ่าย วันเที่ยว วันที่เท่าไร ห้ามทำอะไรบ้าง
วันตรุษจีน เป็นเทศกาลวันปีใหม่ของชาวจีน เพราะตรงกับวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน และผู้ที่มีเชื้อสายจีนทุกคนให้ความสำคัญกับวันนี้อย่างมาก คล้ายกับวันสงกรานต์ของไทยนั่นเอง วันตรุษจีนปี 2567 วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันที่เท่าไร และมีข้อห้ามอะไรบ้างที่ไม่ควรทำ และควรทำอะไรในวันตรุษจีนเพื่อเป็นสิริมงคล
วันตรุษจีนปี 2567 วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันที่เท่าไร
วันตรุษจีน หรือวันปีใหม่จีน ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็น "วันเที่ยว" สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนจะพากันออกไปท่องเที่ยว และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม สีสันสดใส ไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่
ตรุษจีนเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน จุดกำเนิดของตรุษจีนนั้นมีประวัติหลายศตวรรษและมีความสำคัญเพราะตำนานและประเพณีหลายอย่าง ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติที่สำคัญอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว
วันจ่าย ตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567
วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปีก่อนถึงตรุษจีน เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องออกไปจับจ่าย ซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าเหล่านั้นจะปิดร้านเพื่อหยุดพักผ่อนยาว รวมถึงไม่จำเป็นต้องจุดธูปเพื่ออัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู้เอี๊ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันก่อน เพราะเจ้าไม่ได้เดินทางไปที่ไหนเมื่อ 4 วันที่แล้ว
วันไหว้ตรุษจีน หรือ วันไหว้เจ้า ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
ตอนเช้ามืด จะเริ่มพิธีการไหว้ ป้ายเล่าเอี๊ย โดยเป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด และไก่ อาจะเพิ่มตับ และปลาก็จะเป็นเนื้อสัตว์ห้า อย่าง ร่วมกับเหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตอนสาย จะทำพิธีการไหว้ ป้ายแป๋บ้อ เป็นการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเป็นการแสดงความกตัญญูตามความเชื่อและคติของจีน ซึ่งในการไหว้ครั้งนี้จะใช้เวลาไม่เกินเที่ยง มีเครื่องประกอบการไหว้ คือ ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนใหญ่จะทำตามสิ่งที่ผู้ล่วงรับชอบรับประทาน) รวมทั้งมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่อเป็นการอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ จากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเพื่อความเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาครอบครัว หรือวงศ์ตระกูลที่จะรวมตัวกันได้มากที่สุด ปิดท้ายด้วยการแลกอั่งเปาหลังจากที่ได้รับประทานอาหารร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตอนบ่าย จะทำพิธีการไหว้ ป้ายฮ่อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องประกอบการไหว้จะเป็นจำพวก ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล
วันเที่ยวตรุษจีน หรือ วันตรุษจีน ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567
วันเที่ยว หรือวันถือ นั่นก็คือ วันขึ้นปีใหม่ โดยเป็นวันที่หนึ่ง เดือนที่หนึ่งของปี ในวันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน วันตรุษจีนเป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นวันที่มีสิริมงคล ให้งดทำบาป ซึ่งจะมีการถือคติบางอย่างที่สำคัญ อาทิ งดการพูดจาที่ไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน
วันตรุษจีนห้ามทําอะไรบ้าง
- ห้ามสระผมหรือตัดผม เนื่องจากคำว่า "ผม" พ้องเสียงและพ้องรูปกับคำว่า "มั่งคั่ง" ดังนั้น การสระหรือตัดผมในวันตรุษจีน มีความหมายว่า การนำความมั่งคั่งออกไป
- ห้ามพูดคำหยาบและทะเลาะ คนจีนจะงดพูดคำหยาบและสิ่งที่ไม่ดี รวมถึงพูดเรื่องความตายหรือผี เพราะเชื่อว่า และจะนำความโชคร้ายมาให้ทั้งปี
- ห้ามกินโจ๊กและเนื้อสัตว์ ในสมัยก่อนคนจนมักจะกินโจ๊กในตอนเช้า ดังนั้น การกินโจ๊กในตอนเช้าของวันตรุษจีน เหมือนกับการขัดขวางความร่ำรวย ขัดลาภ ขัดโชคจึงไม่ควรกินโจ๊กในเช้าของวันตรุษจีน ตลอดจนรวมถึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยเนื่องจากเชื่อว่า เทพเจ้าที่ลงมาในตอนเช้าของวันตรุษจีนนั้นจะกินแต่มังสวิรัติ
- ห้ามซักผ้าในวันตรุษจีน คนจีนเชื่อว่า เทพเจ้าแห่งน้ำ เกิดในวันตรุษจีน ดังนั้น การซักผ้าในวันตรุษจีนเปรียบเสมือนการลบหลู่ท่าน
- ห้ามใส่ชุดขาวดำ เสื้อผ้าที่เป็นสีขาวดำ เป็นสัญลักษณ์ของความตาย ดังนั้นการใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ หมายถึง ลางร้าย โดยคนจีนจะนิยมใส่เสื้อผ้าสีแดง เพราะเชื่อว่า สีแดง คือ สีแห่งความโชคดี
- ห้ามให้ยืมเงิน คนจีนเชื่อว่า การยืมเงินในวันนี้ จะทำให้ทั้งปีมีคนเข้ามาขอยืมเงินตลอด และถ้าใครที่ติดเงินใคร ควรที่จะคืนเงินก่อนวันตรุษจีน เพราะเชื่อว่า จะมีหนี้สินตลอดปี
- ห้ามทำของแตก เพราะเชื่อว่า เป็นลางร้ายถึงครอบครัวจะแตกแยก หรือมีคนเสียชีวิตในครอบครัว หากทำของแตกโดยไม่ได้ตั้งใจ มีวิธีการแก้เคล็ดโดยการพูดว่า "luo di ka hua" ที่แปลว่า ดอกไม้จะเบ่งบานเมื่อตกลงสู่พื้น
- ห้ามซื้อรองเท้าใหม่ คนจีนจะไม่ซื้อรองเท้าใหม่ในเดือนแรกของวันตรุษจีน เพราะคำว่า รองเท้า ในภาษาจีนออกเสียงว่า Hai มีเสียงคล้ายกับการถอนหายใจ จึงเชื่อว่า เป็น "สัญญาณของการเริ่มต้นปีที่ไม่ดี"
- ห้ามร้องไห้ คนจีนเชื่อว่า จะทำให้พบกับเรื่องไม่ดี และเสียใจทั้งปี
- ห้ามใช้ของมีคม ชาวจีนเชื่อว่า การใช้ของมีคมตัดสิ่งของ คือ การตัดโชคดีไปด้วย
- ห้ามเข้าไปในห้องนอนคนอื่น คนจีนเชื่อการเข้าห้องนอนผู้อื่นในวันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้าย
วันตรุษจีนควรทําอะไรบ้าง
- ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ผีไม่มีญาติ วันที่ชาวจีนต้องไว้เจ้านั้นเราเรียกว่า "วันซาจั๊บ" โดยมักจะทำในช่วงเช้าหลังจากที่ไหว้เจ้าในบ้าน คือ ตีจูเอี๊ยะและไหว้บรรพบุรุษ แล้วในตอนเที่ยงจึงไหว้ผีไม่มีญาติ โดยของไหว้จะมีทั้งอาหารคาว เช่น เป็ด ไก่ รวมถึงอาหารหวานด้วย จะมากหรือจะน้อย ก็ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ไหว้
นอกจากนี้ก็ยังต้องมีเครื่องกระป๋อง ข้าวสาร และเกลือ เพื่อให้ผีไม่มีญาติได้นำออกไปและเมื่อไหว้เสร็จก็ต้องจุดประทัด จากนั้นจึงเอาข้าวสารมาผสมกับเกลือแล้วนำมาโปรยเพื่อขับไล่สิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป - รวมญาติกินเกี๊ยว สิ่งที่สำคัญมากอีกหนึ่งประการของวันตรุษจีน คือ เป็นวันนัดรวมญาติ เพราะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องเดินทางมาร่วมโต๊ะกินเกี๊ยวด้วยกันในวันซาจั๊บ
ซึ่งถือเป็นมื้อสุดท้ายก่อนจะถึงวันปีใหม่หรือ "วันชิวอิก" (วันแรกของปีใหม่ของชาวจีน คือ วันชิวอิก) และเหตุที่ต้องเป็น "เกี๊ยว" ก็เพราะรูปร่างของเกี๊ยวมีลักษณะเหมือนกับ "เงิน" ของจีน จึงแฝงความหมายเป็นนัยว่าให้มั่งมีเงินทองนั่นเอง - กินเจมื้อเช้า คือ มื้อแรกของปี ในวันชิวอิก (วันแรกของปีใหม่ของชาวจีน) คนจีนจะกินเจเป็นอาหารมื้อแรก ซึ่งถือว่าเป็นมื้ออาหารแรกของปี โดยมีเชื่อว่าจะได้บุญเหมือนกับกินเจตลอดทั้งปี
- ทำพิธีรับ "ไฉ่ สิ่ง เอี้ยะ" เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและเป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ จึงมักจะมีการทำพิธีรับเทพซึ่งเปรียบได้กับการทำพิธีรับโชคลาภ โดยทั่วไปมักจะทำพิธีในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนไปจนถึงตีหนึ่งของวันซาจั๊บ
- ติดตุ๊ยเลี้ยง หรือ คำอวยพรปีใหม่ เมื่อก่อนคนจีนที่พอมีความรู้จะเขียน "ตุ๊ยเลี้ยง" เอง โดยใช้หมึกดำหรือสีทองเขียนคำอวยพรลงบนกระดาษสีแดง ท่านใดไม่มีความรู้ด้านภาษาจีน ก็สามารถไปจ้างมืออาชีพเขียนให้ได้ โดยแหล่งใหญ่ก็อยู่ในย่านไชน่าทาวน์ หรือ เยาวราชนั่นเอง
ส่วนคำอวยพรที่นิยมเขียน ประกอบด้วยตัวอักษร 7 ตัว เขียนเป็นคำกลอน โดยมากจะอวยพรให้ "ทำมาค้าขึ้น หรือ ให้มั่งมีเงินทอง" จากนั้นจะนำมาติดตามสองข้างประตูบ้าน และต้องมีอีก 1 แผ่นสำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก
แผ่นนี้จะต้องเขียนคำว่า "ชุก ยิบ เผ่ง อัง" ซึ่งมีความหมายว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย นอกจากนี้ ชาวจีนยังนิยมติดภาพเด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย ที่เรียกว่า "หนี่อ่วย" ซึ่งถือเป็นภาพมงคลของจีนที่มักติดบริเวณประตูหน้าบ้าน - ใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส ในวันมงคลเช่นนี้ชาวจีนนิยมใส่เสื้อผ้าใหม่ สีสันสดใส เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีแต่สิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ เข้ามาในปีใหม่นี้ด้วย โดยการเลือกเสื้อสีสดก็เปรียบได้กับความสว่างสดใสและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งสีที่เป็นที่นิยมที่สุด ก็คือ "สีแดง" หมายถึง ความมงคล มั่งคั่ง
- ส้ม 4 ผล อวยพรผู้ใหญ่ ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในวันชิวอิก (วันแรกของปีใหม่จีน) คือ ทุกคนจะต้องนำส้ม 4 ผล ไปกราบขอพรผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าบ้านเองก็จะเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้รวมถึงลูกสมอจีนเอารอรับแขกอยู่แล้ว และเมื่อมีผู้มาอวยพรพร้อมกับส้ม 4 ผล เจ้าบ้านก็จะรับส้มมา 2 ผล พร้อมกับนำส้มในบ้านตนเองไปวางคืนให้กับแขก 2 ผล
- รับอั่งเปา วันตรุษจีนถือเป็นอีกวันสำหรับเด็กๆ ที่ต่างตั้งตารอคอยวันนี้มาตลอด เพราะเป็นวันที่จะได้รับซองแดงใส่เงินขวัญถุง จากผู้ใหญ่เพื่อให้โชคดีตลอดทั้งปี โดยมารยาทก่อนจะรับซองแดงต้องอย่าลืมกล่าวคำว่า "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" เพื่ออวยพรผู้ใหญ่ก่อนเสมอ
- ไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นอกจากในวันซาจั๊บแล้ว ในวันชิวอิกนี้ก็ยังต้องมีการไหว้ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย และที่สำคัญก็ยังต้องไหว้เจ้าเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้ชีวิตของคุณและครอบครัวประสบแต่ความสุข ความเจริญในชีวิต
อ่านเพิ่มเติม