“เลี้ยงสัตว์แทนลูก” ทาสยอมจ่ายเพื่อลูกทูนหัว ทำธุรกิจสัตว์เลี้ยงบูม
แต่ก่อนเมื่อพูดถึงการมีครอบครัว เราก็จะนึกถึงการวางแผนแต่งงานและมีลูกหลานไว้สืบสกุล แต่เทรนด์ครอบครัวของคนสมัยนี้อาจจะไม่ได้ยึดติดว่าต้องมีคู่ครองหรือมีลูกเป็นเป้าหมายของชีวิตอีกต่อไป หากขอแค่ได้ใช้ชีวิตเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเหมือนลูกน้อยคนหนึ่งก็พึงพอใจแล้ว เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนมีความคิดและค่านิยมเรื่องครอบครัวต่างไปจากเดิม
ปัจจุบันคนไทยนิยมเลี้ยงสัตว์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะน้องหมาและแมว ข้อมูลจากสถาบันวิจัยซีเอ็มเอ็มยู ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,046 คน และสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 100 คน เป็นเพศหญิง 66.8% เพศชาย 22.3% และเพศทางเลือก 10.9% กลุ่มตัวอย่างส่วนมากเป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย อายุระหว่าง 24 – 41 ปี สูงถึง 77.3%
โดยกลุ่มตัวอย่างมักจะเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent) 49% เลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) 34% และเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing) 18% สำหรับประเภทสัตว์เลี้ยงที่มีมากที่สุด ได้แก่ สุนัข 40.4% แมว 37.1% และสัตว์เอ็กโซติก 22.6% ด้วยเหตุนี้เลยทำให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย เติบโตสวนกระแสสถานการณ์ COVID-19 เป็นอย่างมาก
มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการคาดการณ์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทุกปี ชี้ 49% ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มตัวอย่างมักจะเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) โดยมีค่าดูแลลูกทูนหัวเฉลี่ย 1-2 หมื่นบาท/ตัว/ปี นอกจากนี้หลายแบรนด์ยังเลือกใช้สัตว์เลี้ยงช่วยสื่อสารและสร้างภาพจำให้แบรนด์อีกด้วย นอกจากนี้ ซีเอ็มเอ็มยูได้ทำการวิจัยเจาะข้อมูลอินไซต์เหล่าทาส นำมาต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ให้นักการตลาดไว้ใช้มัดใจทาสสายเปย์
ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตสวนกระแส COVID-19 เป็นอย่างมาก โดยยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ว่า ในปี 2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ในขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทยจากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกปี แต่อัตราการเกิดของเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวจำนวนมากที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว
กลยุทธ์ “PETSUMER” มัดใจทาสสายเปย์
นอกจากนี้ หลากหลายแบรนด์เลือกที่จะทำการตลาดในแนวทางของ Pet Marketing เพื่อสื่อสารแบรนด์ถึงกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ โดยกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ “สัตว์เลี้ยง” เข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด โดยภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์และสินค้าอยู่ในโฆษณาจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากถึง 43.82% เพราะสัตว์จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค อีกทั้งยังดูไม่ขายของจนเกินไป
อีกหนึ่งแนวทางการทำการตลาดกับความน่ารักของเจ้านายทั้งหลาย คือ Pet Influencer โดยสัตว์เลี้ยงที่มีอิทธิพลที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาดทั้งช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการ และมอบความบันเทิงให้ผู้ติดตาม แถมความน่ารักจะช่วยดึงดูดผู้ติดตามทั่วโลกออนไลน์ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
โดยพบว่า 39.3% ของกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001-2,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกทั้งสุนัขและแมวเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี และบริการยอดฮิตที่เหล่าทาสเลือกใช้งานมากที่สุด คือ อาบน้ำตัดขนถึง 61% และส่วนใหญ่เลือกบริการต่าง ๆ จากทำเลที่สะดวกเหมาะต่อการเดินทาง จากสถิติของเหล่าทาส จึงพัฒนาออกมาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ให้นักการตลาดไว้ใช้มัดใจทาสสายเปย์ ดังนี้
กลยุทธ์ทางด้านสินค้า และบริการ
- Personalization – ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน
- Easy Access – ความสะดวกและเข้าถึงง่าย คือ หัวใจ
- Trustworthiness – มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
- Social Influence – อิทธิพลจากคนในสังคมสำคัญต่อการตัดสินใจ
กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร
- Uniqueness – สร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ
- Mental Support – การสื่อสารโดยใช้สัตว์เพื่อคลายเครียด
- Engagement – สร้างความผูกพันกับลูกค้าจนเกิด Loyalty
- Rights – ให้ความสำคัญกับสิทธิของสัตว์เลี้ยง
เลี้ยงสัตว์ คนจ่ายไหวและมีข้อผูกมัดน้อยกว่าเลี้ยงเด็ก
สาเหตุหลัก ๆ ที่คนสนใจเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งด้วยหน้าตาสุดน่ารักและนิสัยแสนขี้อ้อนที่ทำให้เหล่าทาสรู้สึกแฮปปี้ที่ได้ใกล้ชิด หากมองถึงดีเทลที่ลึกลงไปอีกยังพบว่าน้อง ๆ เป็นเหมือนเพื่อนเล่นคลายเหงาและช่วยเยียวยาจิตใจให้กับเจ้าของไปในตัว ซึ่งมันทำให้พวกเขารู้สึกมีชีวิตชีวาและบรรเทาความเครียดจากเรื่องน่าปวดหัวรอบตัวได้ดี
หากพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงสุนัขต้องมีเงินอย่างน้อย 600-10,000 บาท/เดือน/ตัว หรือเลี้ยงแมวควรมีเงินอย่างน้อย 350-2,600 บาท/เดือน/ตัว เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงินมากกว่าหลายเท่าตัว ซึ่งในยุคที่เศรษฐกิจซบเซา ยุคแห่งความไม่แน่นอนในสังคมและสภาพแวดล้อมอาจทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองน่าจะรับมือไหวกับค่าใช้จ่ายของสัตว์เลี้ยงมากกว่าค่าใช้จ่ายของเด็กหากตนเองมีลูก จึงเกิดเป็นเทรนด์ที่คนยุคใหม่ไม่ยอมมีลูกเป็นของตัวเอง แต่มักจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงหลากหลายชนิดไว้เสมือนลูกแทน
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ “เวลา” เนื่องจากไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่รักอิสระในการใช้ชีวิต การเลี้ยงสัตว์ตอบโจทย์พวกเขาในการได้ทำสิ่งที่ชอบ และยังพอมีเวลาอิสระทำในสิ่งที่รักอย่างอื่น เช่น แมวสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ อย่างเวลาจะกิน ขับถ่าย หรือทาสแอบไปเที่ยวข้างนอกก็ยังอยู่ได้ แต่การเลี้ยงลูก คนเป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้มีเวลาอิสระส่วนตัวในการทำสิ่งที่ต้องการน้อยลง
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนเราจะตัดสินใจมีลูกหรือมีสัตว์เลี้ยงนั้น คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมทางการเงิน เวลา และเป้าหมายของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางไหน สิ่งที่เหมือนกันของเด็กและสัตว์เลี้ยงคือ ต้องให้ความรักและเอาใจใส่ เพราะพวกเขาต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจ และความรู้สึกไม่ต่างกัน