เปิดที่มา สำนวน เถียงไม่ตกฟาก คำว่า ฟาก จริงๆ แล้วคือไม้ไผ่นะ
เรียกว่าเป็นคำที่ได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กเลยทีเดียวสำหรับสำนวนไทย คำว่า เถียงคำไม่ตกฟาก ที่ผู้ใหญ่มักจากเอามาใช้กับเด็ก ที่มักจะพูดตอบโต้กับผู้ใหญ่ ไม่ยอมหยุดปาก ถึงแม้คำว่า เถียงคำไม่ตกฟาก จะถูกใช้กันมานานแล้ว แต่เราก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ไม่ตกฟาก จากสำนวน เถียงคำไม่ตกฟาก จริงๆ แล้วแปลว่าอะไร
วันนี้ Sanook Campus เราก็จะพาเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจของความหมายของคำว่า เถียงคำไม่ตกฟาก กันซักหน่อย ว่าคำดังกล่าวนี้มีที่มาที่ไปจากไหนกันแน่
เถียงคำไม่ตกฟาก
เถียงคำไม่ตกฟาก เป็นสำนวนไทยมีความหมายคือ เด็กที่ดื้อ เถียงได้ไม่หยุดปาก มักจะใช้กับเด็กที่เถียงผู้ใหญ่อยู่เสมอ แต่ก็ใช้ได้ในหลายบริบท ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กกับผู้ใหญ่เสมอไป
ฟาก แปลว่าอะไร
คำว่าฟากนั้นในสมัยก่อน ตามบ้านเรือนของชาวไร่ชาวนา มักที่จะไม้ไผ่ทั้งต้นมาผ่าครึ่งแล้วทุบให้ตัวไม้แผ่ออกมาเป็นแผ่นๆ แล้วนำไม้ที่ได้มาปูเป็นพื้นบ้าน หรือใช้เป็นฝาผนังบ้าน ซึ่งจะเรียกสิ่งนี้ว่าฟาก
ตกฟาก แปลว่าอะไร
ตกฟาก มาจากเวลาคนท้องแก่กำลังจะคลอด จะให้นอนบนแคร่ไม้ไผ่ที่พื้นทำจากฟาก และอยู่ในท่าเตรียมคลอด คนท้องแก่นอนรอเวลาจนถึงกำหนดคลอด พอเด็กคลอด ก็จะรับเด็กมาวางบนพื้นฟาก จึงนับเป็นเวลาตกฟาก แต่เด็กบางคนคลอดยาก ไม่ยอมคลอด โบราณบอกว่าเด็กแบบนี้เป็นเด็กดื้อ ไม่ยอมตกฟาก หรือแปลว่า ไม่ยอมคลอดออกมาง่ายๆ นั่นเอง