First Jobber กับคำถามที่ว่า “ทำไมต้องยื่นภาษี”

First Jobber กับคำถามที่ว่า “ทำไมต้องยื่นภาษี”

First Jobber กับคำถามที่ว่า “ทำไมต้องยื่นภาษี”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกคนที่มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นฟรีแลนซ์ ต่างก็มีภาระหน้าที่ทางสังคมในฐานะพลเมืองของประเทศ หรือที่เราเคยเรียนกันในวิชาสังคมศึกษาส่วนของหน้าที่พลเมือง ว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมือง อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่ทุกคนที่มีรายได้จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือที่เรียกกันว่า “ยื่นภาษี” แม้ว่ารายได้จะไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม

นั่นทำให้มนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่หรือเหล่า First Jobber ที่อาจจะเพิ่งจบใหม่แล้วเริ่มทำงานได้เพียงปีเดียวหรือยังไม่เต็มปี และมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว อาจจะรู้สึกสงสัยว่ารายได้ก็แค่นี้เอง ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีด้วยซ้ำ แล้วจะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเพื่ออะไรกันล่ะ

การยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้

หากคุณเป็นผู้ที่มีรายได้ กฎหมายสรรพากรกำหนดให้คุณต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อแสดงรายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ซึ่งอยู่ในขั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษี ก็มีหน้าที่ที่ต้องยื่นภาษีตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน ตรงจุดนี้เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานหลายคนอาจเข้าใจผิด เงินเดือนเริ่มต้นปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000 บาท คิดเป็นรายได้ต่อปีอยู่ที่ 216,000 บาท หลังจากคำนวณหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่รัฐกำหนดแล้ว ก็มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี แม้จะไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เพราะคุณจะไม่ได้มีรายได้อยู่เพียงเท่านี้ไปตลอดชีวิต ในอนาคตเมื่อคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี คุณก็จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อที่จะเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่มันอาจจะเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นได้ว่าที่ผ่านมาคุณทำงานมีรายได้มาตั้งหลายปีแต่ไม่เคยทำเรื่องยื่นภาษีเลย และถ้าหากมีการตรวจสอบ คุณอาจจะโดนสรรพากรเรียกไปตรวจสอบ คุณเสี่ยงต่อการโดนเรียกเก็บภาษีและดอกเบี้ยย้อนหลัง เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบว่าเลี่ยงภาษี และแม้ว่าคุณจะมีรายได้สุทธิที่ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีมาตลอดก็ตาม คุณก็โดนโทษปรับ 2,000 บาท

แค่ไม่ยื่นภาษีก็มีความผิด

เพราะว่าการยื่นภาษีเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งถ้าไม่ทำตามก็จะถือว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษ ในกรณีที่มีหน้าที่ยื่นแต่ไม่ยื่น โดยที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี จะมีโทษปรับ 2,000 บาท แต่ถ้าไม่ยื่น และพบว่าคุณมีรายได้ที่ถึงเกณฑ์จะต้องเสียภาษี คุณจะมีโทษปรับ 2,000 บาท บวกกับดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์/เดือน หรือ 18 เปอร์เซ็นต์/ปี เริ่มนับตั้งแต่วันที่หมดเขตยื่นภาษีถึงวันที่เพิ่งมายื่นภาษี และอาจร้ายแรงถึงขั้นถูกตรวจสอบว่าเลี่ยงภาษี ก็จะมีอัตราโทษที่สูงขึ้น

อันที่จริง แค่คุณทำเรื่องยื่นภาษีช้า นอกช่วงเวลาที่ทางกรมสรรพากรเปิดให้ยื่นภาษี ซึ่งเป็นเวลาราว ๆ 3 เดือน คุณก็โดนปรับแล้ว แน่นอนว่าค่าปรับนั้นอาจจะมากหรือจะน้อย ก็แล้วแต่คนว่ามีกำลังจ่ายแค่ไหนในกรณีที่คุณมีรายได้น้อยมาก ๆ แต่ต่อให้คุณเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ทว่ารายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องยื่นภาษีคุณก็มีหน้าที่ต้องยื่น (เว้นเพียงกรณีเดียวที่คุณไม่ต้องยื่นภาษี คือมีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน หรือไม่เกิน 120,000 บาท/ปี) ดังนั้น หากคุณโดนปรับตามความผิดกรณีไม่ยื่นภาษี จะอ้างว่ากฎหมายรังแกคนจนไม่ได้ หากคุณทำเรื่องยื่นภาษีเสียตั้งแต่แรก คุณก็จะไม่ต้องเสียอะไรอยู่แล้วถ้ารายได้คุณไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี ยกเว้นแค่ “เสียเวลาศึกษาทำความเข้าใจ”
รักษาผลประโยชน์ทางการเงินของตัวเอง

การยื่นภาษีจะเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับมนุษย์เงินเดือนในภายภาคหน้า เพราะในอนาคต คุณไม่มีทางรู้ได้ว่าตนเองจะต้องทำธุรกรรมทางการเงินอะไรบ้าง การยื่นภาษีเป็นประจำทุกปี จะทำให้คุณมีหลักฐานเพื่อยืนยันรายได้ที่ชัดเจน ซึ่งก็คือแบบภาษี ภ.ง.ด.90/91 นั่นเอง มันเป็นเอกสารราชการที่สำคัญและเชื่อถือได้ว่าคุณเป็นคนที่มีรายได้จริง ๆ หรือถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ ภ.ง.ด.90/91 ก็จะเป็นเอกสารที่ช่วยยืนยันรายได้แทนสลิปเงินเดือนได้ ทำให้คุณสามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินได้ เพราะสถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติให้คุณได้ง่ายกว่า ยิ่งถ้าคุณต้องจ่ายภาษีด้วยแล้ว สถาบันการเงินจะเห็นว่าคุณมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้ได้ (เพราะรายได้คุณถึงเกณฑ์จ่ายภาษี)

นอกจากนี้ คุณยังควรรักษาผลประโยชน์ตัวเอง ในกรณีที่คุณเคยโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วด้วย เพราะคุณมีโอกาสที่จะได้เงินจำนวนนั้นคืน เพราะภาษี ณ ที่จ่ายจะถูกหักออกจากจำนวนภาษีสิ้นปีที่คุณต้องจ่าย และถ้าคุณถูกหักภาษีส่วนนี้มากเกินกว่าจำนวนภาษีสิ้นปีที่คำนวณออกมาได้ คุณจะได้รับเงินคืน เนื่องจากเป็นส่วนที่ทางรัฐกำหนดไว้เพื่อลดจำนวนเงินก้อนที่คุณต้องจ่ายจำนวนมากในครั้งเดียวของการเสียภาษี ดังนั้น การเก็บใบทวิ 50 ไว้ยื่นภาษี จะทำให้คุณมีโอกาสได้เงินคืนภาษี แต่ถ้าคุณไม่ยื่น คุณก็จะไม่ได้คืน

เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองต่อประเทศชาติ

เหตุผลในการยื่นภาษี ไม่ว่าคุณจะเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม นอกจากความสบายใจที่ตนเองได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทำตามหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศแล้ว คุณอาจยังไม่รู้ว่าข้อมูลในการยื่นภาษีนั้นมีประโยชน์ต่อชาติมหาศาล เพราะการยื่นเอกสารหลักฐานเหล่านี้จะทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลเป็นตัวเลขรายได้ของประชากรในประเทศ ซึ่งรัฐสามารถนำเอาไปวิเคราะห์ได้หลายอย่างเพื่อการบริหารประเทศ เช่น การวางแผนเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายต่าง ๆ สวัสดิการรัฐ เป็นต้น

แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้ที่ต้องเสียภาษี (รายได้ถึงเกณฑ์ต้องจ่าย) เงินภาษีที่สรรพากรจัดเก็บไปนั้นก็จะถูกส่งเข้าไปเป็นงบประมาณการคลังสำหรับบริหารประเทศ นั่นหมายความว่าเงินที่คุณจ่ายภาษีไป คุณก็ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศ ภาษีจากคุณถือเป็นแหล่งรายได้ของแผ่นดิน แม้ว่าคุณเองจะมีอคติในการจ่ายภาษี เพราะอาจไม่พอใจหรือรู้สึกว่ารัฐไม่ได้นำเอาภาษีไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร แต่การหลบเลี่ยงภาษีก็เป็นการทำผิดกฎหมายเสียเอง ในกรณีนี้ ถ้าคุณไม่อยากจะจ่ายภาษีหรือจ่ายน้อย ก็ควรทำตามกติกาให้ถูกต้อง เช่น การหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ มาตัดทอนออกเพื่อให้รายได้สุทธิน้อยลง ถือเป็นสิทธิ์ที่รัฐมอบทางเลือกให้ทุกคนสามารถทำได้ตามเงื่อนไข

ประโยชน์ในเรื่องของการวางแผนทางการเงินของมนุษย์เงินเดือน

จริง ๆ แล้ว เรื่องของภาษีเป็นหนึ่งในขั้นตอนการวางแผนทางการเงิน เนื่องจากการยื่นภาษีจะต้องมีการคำนวณรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและรายการลดหย่อนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยรายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ มีรายการที่เกี่ยวกับการออมและการลงทุน รวมถึงการลดหย่อนในกลุ่มประกันอยู่ด้วย ทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพ พูดง่าย ๆ ก็คือ หากคุณต้องการลดรายได้สุทธิของตัวเองลง (อาจเพราะต้องการจ่ายภาษีให้น้อยลง) คุณก็ต้องพยายามหาสิ่งที่สามารถนำมาขอลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด ทำให้คุณต้องหันไปหารายการที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีก อย่างพวกการลงทุนระยะยาว การป้องกันความเสี่ยง และการลงทุนเพื่อการเกษียณ

แม้ว่าจุดประสงค์แรกของคุณอาจจะเป็นการลดหย่อนภาษีที่ตัวเองต้องจ่ายเท่านั้น (ในกรณีที่รายได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่าย) แต่การลงทุนระยะยาว การป้องกันความเสี่ยง และการลงทุนเพื่อการเกษียณ มันก็ให้ประโยชน์ต่อตัวคุณเองในระยะยาวทั้งสิ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณก็จะรู้เองว่าสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ต่อคุณในอนาคต มีเงินก้อน ซึ่งเป็นเงินออมและเงินที่ได้จากการลงทุนใช้หลังเกษียณ ได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ ในยามเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งส่งต่อมรดกให้ทายาทหลังเสียชีวิต มันจึงเป็นการลงทุนที่ประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ไปไหนเสีย สร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับมนุษย์เงินเดือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook