ธรรมศาสตร์ หนุนศักยภาพผู้หญิง ม. เดียวในไทย ที่เป็น Signatory ของ UN Women’s WEPs

ธรรมศาสตร์ หนุนศักยภาพผู้หญิง ม. เดียวในไทย ที่เป็น Signatory ของ UN Women’s WEPs

ธรรมศาสตร์ หนุนศักยภาพผู้หญิง ม. เดียวในไทย ที่เป็น Signatory ของ UN Women’s WEPs
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. สร้างชื่อระดับโลก เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ที่ UN Women อนุมัติให้เป็น Signatory ของ UN Women’s WEPs เพื่อร่วมยืนหยัดกับองค์การสหประชาชาติที่จะยุติความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานและชุมชน

อ.ดร.สหวัชญ์ พลหาญ รองคณบดีฝ่ายบริหารและเครือข่ายสัมพันธ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มธ.ได้รับการอนุมัติจากองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2566 ให้คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เป็นผู้ที่สามารถลงนาม (Signatory) คำแถลง CEO Statement of Support เพื่อร่วมยืนหยัดกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะยุติความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานและชุมชน และนำหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี 7 ประการ หรือ the seven Women’s Empowerment Principles (WEPs) ไปใช้ประกอบการบริหารงานของหน่วยงาน

s__36053033

สำหรับการอนุมัติให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้ลงนาม (Signatory) ของ UN Women’s WEPs ทำให้ มธ. เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นผู้ลงนามนี้ และยังเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการให้โลกรู้ว่าสถาบันการศึกษาแห่งนี้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในการปฏิบัติงาน การคัดเลือกบุคลากรอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ด้าน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. รวมถึงโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นหน่วยงานภายในคณะมีนโยบายที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะความเท่าเทียมเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และนักเรียนในบริบทของการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสังคม เพื่อสร้างบุคลากรด้านการศึกษาและพลเมืองที่มีความสามารถและให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมด้วย

ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. มีเจตนาชัดเจนที่ต้องการแก้ไขความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มุ่งมั่นต้องการทำให้สังคมภายนอก โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ตระหนักในประเด็นเหล่านี้ เช่นเดียวกับการดำเนินการที่ผ่านมาของ มธ.ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาตัวอย่างในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด

“การให้ความสำคัญกับหลักการที่เป็นสากลในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายจะช่วยให้เราได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม เพราะการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานและส่งเสริมศักยภาพของคนทำงานทุกเพศจะช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพิ่มโอกาสของการพัฒนาประเทศ และส่งผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook