เพิ่งรู้! คำว่า สวัสดี ก่อนถูกใช้เป็นคำทักทาย ความหมายจริงๆ ไม่เหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน

เพิ่งรู้! คำว่า สวัสดี ก่อนถูกใช้เป็นคำทักทาย ความหมายจริงๆ ไม่เหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน

เพิ่งรู้! คำว่า สวัสดี ก่อนถูกใช้เป็นคำทักทาย ความหมายจริงๆ ไม่เหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่านี่อาจจะเป็นความรู้ใหม่ของหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ สำหรับคำว่า "สวัสดี" ที่เราใช้ในการทักทายกันอยู่ทุกวันนี้ ในเริ่มแรกแล้วคำว่าสวัสดีไม่ได้เป็นคำที่เอาไว้ทักทาย แต่เป็นคำที่เอาไว้อวยพรต่างหาก

ในวันนี้ Sanook Campus เราก็จะพาเพื่อนๆ มาดูที่มาที่ไปของคำว่า สวัสดี ที่เราใช้กันทุกวัน ว่าทำไมจากคำอวยพรถึงกลายมาเป็นคำทักทายจนถึงปัจจุบันนี้

สวัสดีสวัสดี

"สวัสดี" เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า สฺวสฺติ (อ่านว่า ซะ -วัส-สฺติ) เป็นการสนธิคำระหว่าคำว่า สุ- คำอุปสรรค (คำเติมหน้าศัพท์ที่ทำให้ความหมายของศัพท์เปลี่ยนแปลงไป) แปลว่า ดี งาม หรือ ง่าย และคำว่า "อสฺติ" (อสฺ ธาตุ + ติ วิภัตติ) เป็นคำกิริยาแปลว่า มี แผลงคำว่า "สุ" เป็น "สฺว" (สฺวะ) ได้โดยเอา "อุ" เป็น "อวฺ" เป็น "สฺวฺ" ตามหลักไวยากรณ์ แล้วสนธิกับคำว่า "อสฺติ" เป็น "สฺวสฺติ" อ่านว่า สฺ-วัส-สฺ-ติ (svasti) แปลว่า "ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน) " โดย คนอินเดียโบราณเชื่อว่า สวัสดี เป็นเทพีแห่งความสุข ความโชคดี และความสำเร็จ ในภาษาไทย สวัสดี หมายถึง ความรุ่งเรือง ความปลอดภัย มักใช้คู่กับความสุข เป็น ความสุขสวัสดี

คำว่า สวัสดีเป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พบคำนี้ในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด ในจารึกวัดพระเสด็จ และในไตรภูมิพระร่วง กล่าวให้พรผู้รักษาเบญจศีลว่า “…ให้จำเริญสวัสดีทุก ๆ ชาติแล” ซึ่งคำว่า สวัสดี ที่ใช้มาแต่เดิม ไม่ใช่คำทักทาย ผู้ที่เริ่มให้ใช้คำว่า สวัสดี เป็นคำทักทายเมื่อพบหน้ากันและจากกันคือ พระยาอุปกิตศิลปสาร โดยได้เริ่มใช้ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๖ ในหมู่อาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ใช้กันทั่วไปใน พ.ศ. ๒๔๘๖

คำว่าสวัสดีนั้นจะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้ ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่าสวัสดีพร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลต่อทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟัง และยังสามารถเพิ่มเสน่ห์ในตัวบุคคลได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook