ทักษะชีวิตที่ควรสอนให้เด็กรู้ สำคัญต่อการเติบโตในโลกยุคใหม่
“โลกทุกวันนี้มันช่างน่ากลัว” พ่อแม่หลาย ๆ คนรู้สึกกังวล กลุ้มอกกลุ้มใจเหลือเกิน เมื่อลูกน้อยถึงวัยโตพอที่จะออกไปรู้จักกับสังคมใหม่ เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน พ่อแม่รู้ดีว่าตัวเองไม่สามารถที่จะตามประกบดูแลลูกได้เกือบตลอดเวลาเหมือนตอนที่เด็กอยู่บ้าน อีกทั้งยังยากที่เปิดใจเชื่อและไว้วางใจครูที่อยู่ที่โรงเรียน เพราะมันมีข่าวที่ครูทำร้ายเด็กนักเรียนออกมาให้เห็นอยู่บ่อย ๆ นี่นา ขนาดโรงเรียนเอกชนที่ค่าเทอมแพงหูฉี่ก็ยังเชื่อใจครูไม่ได้เลย แล้วอย่าคาดหวังว่าครูที่มีหน้าที่ดูแลเด็กหลายสิบคนจะดูแลเด็กได้ทั่วถึง จะมาเอาใจใส่ลูกเราเป็นอย่างดี มันเป็นเรื่องยาก
ส่วนใหญ่แล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่มักจะมีความคิดเหมือน ๆ กันว่า “ใครจะมาดูแลลูกฉันได้ดีเท่ากับตัวฉันเอง” และมันก็ควรเริ่มต้นจากตํวพ่อแม่เองที่จะต้องดูแลลูกให้ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงพ่อแม่ไม่อาจตามดูแลลูกได้ตลอด 24 ชั่วโมง เด็กที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้น พวกเขาก็อยากมีอิสระบางอย่างและความเป็นส่วนตัวจากพ่อแม่ และการไปโรงเรียนก็ทำให้เด็กห่างจากอกพ่อแม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บางทีพวกเขาอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องเอาตัวรอดเอง แล้วพ่อแม่จะต้องสอนทักษะชีวิตพื้นฐานอะไรให้ลูกได้บ้างล่ะ
ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ
แน่นอนว่าสำหรับเด็กเล็ก ๆ วัยอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น พ่อแม่อาจยังไม่จำเป็นที่จะต้องสอนลงลึกถึงขั้นเพศศึกษาหรอก มันก็ออกจะเกินไปหน่อยกับเด็กตัวแค่นั้น ไว้ลูกโตขึ้นมาอีกนิด ประสบการณ์ชีวิตในสังคมนอกบ้านมากขึ้น ค่อยสอนลงลึกก็ยังไม่สาย แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กรู้คือ “พฤติกรรมแบบไหนของคนอื่น ๆ ที่เด็กจำเป็นต้องปฏิเสธให้เป็นและขอความช่วยเหลือ” เช่น การถูกเนื้อต้องตัว การโอบ การกอด การหอม เมื่อตกอยู่สถานการณ์ที่เข้าเค้าว่าเด็กกำลังถูกลวนลามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ สอนว่าอย่าให้ใครมาแตะต้องบริเวณอวัยวะสงวนโดยเฉพาะเพศตรงข้าม คำพูด คำชวนแบบไหนที่ส่อไปในเรื่องเพศ การกระทำแบบไหนคือการทำอนาจาร เป็นต้น
เพราะข่าวเกี่ยวกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เราเห็นเป็นประจำทุกวันนี้ เกินครึ่งกระทำโดยคนใกล้ตัว คนที่เด็กไว้ใจ โดยที่เด็กเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองกำลังโดนกระทำมันคืออะไร การที่เด็กออกไปอยู่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น ต้องจากอกพ่อแม่ไปใช้ชีวิตที่โรงเรียน บางทีพ่อแม่ก็ไม่อาจรู้เลยว่าวัน ๆ ลูกโดนกระทำอะไรบ้าง จริงอยู่ที่ถ้าเกิดอีกฝ่ายใช้กำลังขึ้นมา กำลังเด็กก็คงไม่อาจต่อสู้ได้ แต่การสอนในสิ่งพื้นฐานเหล่านี้จะทำให้เด็กระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะแยกออกว่าใครไม่ควรที่จะเข้าใกล้หรืออยู่ด้วยตามลำพัง ถ้าถูกขอให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ในขั้นแรก เด็กต้องปฏิเสธว่า “ไม่” ให้เป็น แล้วขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่คนอื่น และมีอะไรอย่าปิดบังพ่อแม่ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือกันได้ทัน
อย่าไว้ใจคนอื่น
พ่อแม่หลาย ๆ คนอาจจะสอนลูกว่า “อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า” จะบอกว่ายุคนี้สมัยนี้มันไม่ครอบคลุมอีกต่อไปแล้ว เพราะบางทีคนใกล้ตัวเด็กก็เป็นคนที่ร้ายที่สุดก็มี เห็นหน้ากันอยู่ทุกวัน สนิทสนมกัน วันดีคืนดีกลับกลายเป็นปีศาจมานักต่อนักแล้ว สุดท้ายก็จะมาจบลงที่ว่า “เห็นว่าเป็นคนซื่อ ๆ เป็นคนดี ไว้ใจได้ ไม่คิดเลยว่าจะเป็นคนแบบนี้” อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง แล้วเด็กน่ะไม่ได้มีวิจารณญาณมากเท่ากับผู้ใหญ่ เด็กมองสถานการณ์ไม่ออกหรอกว่าตอนนี้ตัวเองกำลังไม่ปลอดภัย รู้แค่ว่าคนนี้เป็นคนรู้จักของพ่อแม่ เป็นคนคุ้นเคยเด็กก็เลยไว้ใจ การที่เด็กถูกสอนมาแค่ว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า ทำให้เด็กไม่ทันได้ระมัดระวังคนใกล้ตัว
เพราะฉะนั้นเปลี่ยนใหม่ สอนลูกว่า “อย่าไว้ใจคนอื่น” จะดีกว่า ใครที่หน้าไม่เหมือนพ่อไม่เหมือนแม่ อย่าเชื่อใจคนอื่นเต็มร้อยเด็ดขาด คุณต้องรู้นะว่าโลกใบนี้มันเลวร้ายขนาดที่พ่อแท้ ๆ ยังข่มขืนลูกในไส้ของตัวเองได้เลย ข่าวมีให้เห็นถมถืด มันแปลว่าลูกสาวยังไม่อาจไว้ใจพ่อแท้ ๆ ของตัวเองได้เต็มร้อยเลยด้วยซ้ำ นั่นแหละ แล้วเด็กจะไว้ใจใครได้ สอนเด็กว่าพยายามอย่ารับของจากใคร อย่ากินของที่คนอื่นยื่นให้ อย่าไปกับใครเพียงเพราะเขาบอกว่าพ่อแม่ให้มารับ ตราบใดที่พ่อแม่ไม่ได้บอกล่วงหน้าไว้ว่าจะไหว้วานให้ใครมารับ แค่คำพูดของบุคคลนั้นห้ามไปกับเขาเด็ดขาด แล้วให้ไปหลบอยู่กับครูก่อน เด็กนั้นยังไร้เดียงสา พวกเขาไม่รู้หรอกว่าใครมาดีมาร้าย บางทีผู้ใหญ่ยังมองไม่ออกเลย
หากถูกลืมไว้ในรถ
“เด็กถูกลืมทิ้งไว้บนรถเป็นเวลา…ชั่วโมง จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด” เหตุการณ์น่าสลดใจนี้เกิดขึ้นถี่ยิบเกินไปแล้วในสังคมไทย และที่น่าเศร้าใจที่สุดคือเด็กที่ถูกลืมทิ้งไว้บนรถส่วนตัว โดยที่คนเป็นพ่อเป็นแม่นี่แหละที่ลืมลูกตัวเองเอาไว้เสียเอง อันนี้คือแย่มากถึงมากที่สุด มันค่อนข้างสะท้อนถึงการเป็นพ่อแม่ที่ไม่พร้อมจะปกป้องดูแลลูกขนาดนั้น ปล่อยลูกทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้สนใจลูกของตัวเองเท่าที่ควร เด็กถูกลืมไว้บนรถนักเรียนหรือรถคนอื่นว่าแย่แล้ว แต่มันก็ยังเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้ว่าเป็น “คนอื่น” เข้าใจได้ว่าเป็นลูกของคนอื่นก็เลยไม่ใส่ใจเท่าที่ควร อันที่จริงพ่อแม่ก็รู้ดีว่าคงไม่มีใครที่จะดูแลลูกได้ดีเท่าตัวเอง ดังนั้น เมื่อเด็กต้องตายเพราะพ่อแม่สะเพร่าเอง มันเลยยิ่งน่าเศร้าใจ
เรื่องนี้ ถ้าจะให้พูดกันจริง ๆ มันก็คงยาว ในกรณีที่เด็กต้องมาจากไปก่อนวัยอันควรด้วยพฤติกรรมที่มักง่าย สะเพร่า ไม่รอบคอบของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ธรรมชาติของเด็กน่ะดูแลปกป้องตัวเองแทบไม่ได้อยู่แล้ว พ่อแม่ก็เลยผิดเต็มประตูที่ไม่ดูแลลูกให้ดี ดังนั้น การสอนวิธีการเอาตัวรอดขั้นพื้นฐานให้เป็นทักษะชีวิต จึงเป็นเรื่องที่จะช่วยชีวิตเด็กได้มากขึ้น ในกรณีที่ปกติพ่อแม่เลี้ยงดูลูกอย่างดีแล้ว แต่ในตอนที่เด็กไปโรงเรียนพ่อแม่ไม่อาจตามไปประกบลูกได้ เกิดวันหนึ่งเด็กอาจนอนหลับอยู่บนรถตู้รับส่งนักเรียนโดยที่คนขับไม่รู้ว่าเด็กยังลงรถไม่หมด จำเป็นที่พ่อแม่ต้องสอนให้พวกเขารู้จักวิธีเอาตัวรอดหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น กดแตรรถ เคาะกระจก ลดกระจก ปลดล็อกประตู เป็นต้น
เด็กติดจอ
เด็กและเยาวชนที่เกิดและโตในยุคสมัยนี้ พวกเขาโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี ทำให้สามารถเข้าถึงสมาร์ตโฟนได้อย่างง่ายดายคล้ายเกิดมาคู่กัน ซึ่งบางทีจุดเริ่มต้นทั้งหมดมันก็มาจากผู้ใหญ่ที่ “เลี้ยงลูกด้วยมือถือ” ให้เด็กคลุกคลีอยู่กับมือถือตั้งแต่ตัวน้อย ๆ เปิดหน้าจอทิ้งไว้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีอะไรทำ จะได้อยู่กับที่ไม่ก่อกวนทำความวุ่นวายใด ๆ ส่วนผู้ใหญ่จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ทำให้ระหว่างนั้นเด็กก็หมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต เพราะเข้าใจว่าคือของเล่นอย่างหนึ่ง แล้วในวันหนึ่งที่พ่อแม่เห็นว่าลูกชักจะติดจอเกินไปแล้ว จะแยกลูกออกจากโทรศัพท์ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะคุณเป็นคนยัดเยียดมือถือให้เป็นเพื่อนเล่นลูกเอง แทนที่จะให้พวกเขาได้เรียนรู้อะไรตามวัย
ด้วยความที่ยังไม่ประสีประสาและรู้ไม่เท่าทันภัยออนไลน์ เด็กไม่สามารถแยกแยะได้เองหรอกว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม พ่อแม่จึงต้องเป็นคนที่คอยควบคุมดูแลให้อยู่ในสายตา ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยขนาดที่ไม่มองเลยว่าเด็กเปิดอะไรขึ้นมาดูบ้าง คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่มีทั้งดีและไม่ดี ยิ่งใช้ก็ยิ่งติด ซึ่งถ้าผู้ปกครองไม่ควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานเลย ถึงเวลานั้นก็ยากเกินเยียวยา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น ที่ต้องสอนให้เด็กใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เริ่มต้นจากการคัดกรองคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เด็กเสพด้วยตนเอง หูตาไวว่าลูกเปิดอะไรดูบ้าง เมื่อเห็นลูกเปิดอะไรที่ไม่เหมาะสม ต้องสอนด้วยว่ามันไม่ดี ไม่เหมาะสมอย่างไร
การเลือกคบเพื่อน
“เพื่อน” คือ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อเด็กและวัยรุ่นมากที่สุด เริ่มต้นจากการเข้าสังคมใหม่ ๆ ได้ทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ นอกเหนือจากคนในครอบครัว จึงมีแนวโน้มที่เด็กจะติดเพื่อน และติดเอาพฤติกรรมของเพื่อนมาด้วยหากเลือกคบเพื่อนที่ไม่ดี เพราะพยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแก๊ง ให้เข้ากับคนอื่น ๆ ในกลุ่ม จึงชักชวนกันไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร พ่อแม่จึงจำเป็นต้องให้เวลาในการสอดส่องบุตรหลานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยที่ต้องไม่จับผิดจนเด็กรู้สึกอึดอัด ไม่ใช่การเรียกมาคุยแล้วบอกให้เลิกคบเพื่อนคนนั้น แบบนั้นพวกเขาอาจจะเตลิดได้ แต่ต้องค่อย ๆ สอนอย่างเข้าใจ รู้ผิดชอบชั่วดี เพื่อนประเภทไหนไม่ควรคบ ถ้าเห็นว่าไม่ดี พวกเขาจะถอยออกมาเอง
อีกกรณีที่น่าสนใจ คือการที่เด็กไว้ใจเพื่อนสนิทของตัวเองมากเกินไป ด้วยเข้าใจว่าเพื่อนนั้นเป็นคนที่ไว้ใจได้ เป็นทุกอย่างในชีวิต ทำให้เหตุการณ์ลักษณะที่ว่า “ถูกเพื่อนหลอก” มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่นานมานี้ มีเด็กมัธยมชาวไต้หวันที่หลอกเพื่อนสนิทไปขายที่กัมพูชาเพราะเห็นแก่เงินจำนวน 4 แสนบาท หรือข่าวที่เด็กหญิงหลอกเพื่อนสนิทตัวเองไปให้แก๊งเพื่อนผู้ชายข่มขืน เพื่อแลกกับเงินไม่กี่บาทก็เคยมีให้เห็นในบ้านเรา พ่อแม่จึงต้องสอนให้ลูกรู้จักที่จะเผื่อใจที่จะไม่ไว้ใจใครเต็มร้อยบ้าง คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ ไม่มีอะไรจะมาการันตีได้เลยว่าคนเราจะไม่เห็นอย่างอื่นสำคัญกว่ามิตรภาพ เพื่อนที่บุคคลสำคัญ แต่ต้องเลือกคบให้เป็น เพื่อนกินหาง่าย แต่เพื่อนตายอาจหาไม่มีเลย
มารยาทในที่สาธารณะ
“ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” พ่อแม่โปรดท่องคำนี้ให้ขึ้นใจ การสอนมารยาทในการเข้าสังคม การสร้างข้อตกลงเมื่อพาเด็กออกนอกบ้านเป็นเรื่องสำคัญ นี่คือภาระของพ่อแม่ที่ต้องรับผิดชอบ หากเด็กไม่แสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ออกมา ถ้าเด็กแสดงพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น พ่อแม่ต้องรับมือให้ได้ คุมลูกให้อยู่ รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องเลยที่คนอื่นจะต้องมาเดือดร้อน และต้องอดทนกับพฤติกรรมของเด็กที่ไหนก็ไม่รู้ ทั้งที่เขาเคยอยู่กันอย่างสงบสุข และจะมาบอกว่า “ไม่มีลูกไม่รู้หรอก” ก็ไม่ได้ เพราะถ้าคุณคิดจะมีลูก คุณจะต้องไม่บกพร่องในการทำหน้าที่พ่อแม่ ลูกของตัวเอง ต้องดูแลให้ได้
จริง ๆ แล้ว คนอื่น ๆ น่ะเขาก็พยายามจะเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของเด็กที่จะดื้อ ซน เอาแต่ใจ ร้องไห้งอแง พูดไม่ฟัง หรือเหวี่ยงวีนก้าวร้าวเมื่อถูกขัดใจ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ แต่สิ่งที่เขาไม่เข้าใจก็คือ ทำไมคนเป็นพ่อเป็นแม่ถึงไม่สอนหรือควบคุมดูแลลูก ซึ่งยิ่งเด็กแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้ออกมารุนแรงมากกว่าปกติ มันก็อาจจะชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องในการทำหน้าที่พ่อแม่และความผิดพลาดในการเลี้ยงดูลูกได้เช่นกัน ปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้เด็กเป็นคนเอาแต่ใจ พูดยาก พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง ก้าวร้าว ก็เพราะถูกเลี้ยงมาแบบตามใจจนเคยตัวนั่นเอง ดังนั้น คนที่เขาจะต่อว่าไม่ใช่ตัวเด็กหรอก เป็นพ่อแม่ของเด็กต่างหากว่าเลี้ยงลูกยังไงให้เป็นแบบนี้