ส่งประวัติสมัครงานอย่างไรให้ได้งาน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหางานอยู่ การเขียนประวัติส่วนตัว ทั้งการศึกษาและประสบการณ์เพื่อสมัครงานอย่างไรให้ถูกใจฝ่ายบุคคลเป็นเรื่องที่ควรจะเรียนรู้ก่อนจะลงมือเขียน เพราะไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานมานานแล้ว หรือเพิ่งเรียนจบ การเขียนจดหมายสมัครงานที่ต้องระบุประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานควรจะเป็นการสื่อสารที่ชัดเจน ถูกต้อง และไม่เกินจริงจนเกินไป วิธีการส่งประวัติสมัครงานให้ได้งาน มีการเขียนอย่างไรบ้างมาดูกันเลย
1. เลือกรูปที่เป็นทางการ
ด่านแรกที่ฝ่ายบุคคลจะพิจารณาคือ รูปถ่ายที่ไม่ใช่เซลฟี แต่เป็นรูปถ่ายอย่างเป็นทางการ มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแต่งกายด้วยชุดสุภาพสอดคล้องกับสายงานที่เลือก งดใช้ภาพถ่ายสวมชุดครุย และที่สำคัญห้ามใช้ภาพถ่ายจากการเซลฟีเด็ดขาด เพราะนี่คือจดหมายสมัครงาน เป็นการส่งข้อความอย่างเป็นทางการของคุณไปสู่ว่าที่นายจ้างในอนาคต
2. จัดวางข้อความให้สะอาดตา และ ธรรมดาคือดีที่สุด
ฝ่ายบุคคลหลายที่มีเสียงบ่นเรื่องการทำจดหมายสมัครงานแบบใส่ค่าพลังในประวัติการทำงาน ความสามารถหรือ ประสบการณ์ แม้จะมีดีไซน์ที่ดูทันสมัย แต่ปรากฏว่าฝ่ายบุคคลมักจะคัดทิ้ง และให้ค่ากับจดหมายสมัครงานที่ใส่รายละเอียดการศึกษา ความสามารถ และประสบการณ์การทำงาน ได้อย่างชัดเจนและมีการจัดวางที่สะอาดตา ไม่สั้นหรือยาวเกินไปมากกว่า
ดังนั้น สีสันที่ใช้ควรเป็นไปในโทนที่ดูเรียบง่ายสบายตาไม่ฉูดฉาด เพียง 2-3 สีในเฉดที่ไม่ขัดแย้งกัน หรือเลือกใช้เป็นสีขององค์กรที่กำลังเข้าหาเพื่อให้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันแรงกล้า แบ่งพื้นที่บนหน้ากระดาษให้เหมาะสม ใช้สัญลักษณ์หรือไอคอนเข้ามาช่วยในการสื่อความหมาย ใส่ประวัติส่วนตัวสัก 10 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งพื้นที่อื่น ๆ ให้กับทักษะและความสามารถที่คู่ควรกับงาน เลือกตัวอักษรที่อ่านง่ายและเป็นทางการ หลีกเลี่ยงตัวอักษรการ์ตูน เพราะความน่ารักเกินไปอาจทำให้ดูขาดวุฒิภาวะไปอย่างน่าเสียดาย
3. ความสามารถพิเศษ คือใบเบิกทางให้คุณได้งาน
ความสามารถพิเศษ คือองค์ประกอบสำคัญที่จะดึงดูดฝ่ายบุคคล อาทิ คุณมีความสามารถในภาษาที่ 3 อาทิ คุณสมัครงานในตำแหน่งฝ่ายการตลาด คุณใช้ภาษาได้ดีอยู่แล้วในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันคุณได้ภาษาจีนด้วย ถือเป็นความสามารถพิเศษ ที่ทำให้คุณได้รับการพิจารณา หรือตำแหน่ง Content Creator แล้วคุณมีใบประกาศเรียนออนไลน์จาก Google Garage ในคอร์ส Digital Marketing ถือเป็นความสามารถพิเศษเช่นกัน
ความสามารถพิเศษไม่ได้มาพร้อมกับปริญญาบัตร แต่เป็นสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมาได้เองด้วยการเลือกที่จะศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียน หรือ เข้าอบรมออนไลน์ให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งใบประกาศแนบท้ายจะทำให้คุณ ได้รับการพิจารณาที่ดีเป็นอย่างยิ่งจากฝ่ายบุคคล
4. ศึกษารายละเอียดตำแหน่งที่จะสมัครและบริษัทเรียกไปสัมภาษณ์งาน
อย่าลืมที่จะศึกษารายละเอียดหน้าที่การทำงานจากข้อมูลที่ผู้รับสมัครมีให้ และใส่ทักษะรวมถึงประสบการณ์ที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่สมัครให้มากที่สุด บอกให้ชัดเจนว่าคุณสามารถใช้ความรู้เฉพาะด้านที่มีเพื่อการทำงานในตำแหน่งนี้ได้อย่างไร เด็กจบใหม่สามารถใส่กิจกรรมเด่น ๆ หรือโครงการที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมาลงไปได้ อย่างประวัติการฝึกงาน การเป็นอาสาสมัคร หรือกิจกรรมที่เคยร่วมกับมหาวิทยาลัย เป็นต้น
5. ระวังการสะกดคำผิดและใช้คำไม่เหมาะสม
สิ่งที่ฝ่ายบุคคลใส่ใจมากเป็นพิเศษคือการสะกดคำและการใช้คำ เพราะเป็นด่านแรกที่จะทำให้รู้ว่าผู้สมัครนั้นมีความใส่ใจ และมีการศึกษาอยู่ในระดับไหน และยังสะท้อนความเป็นจริงจากประวัติส่วนตัวว่าเป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบไวยากรณ์ภาพรวม และแก้ไขให้ถูกต้องอีกครั้ง จัดหน้าให้เรียบร้อยก่อนส่งออกไปใช้งาน