ทำไมคนโกหกถึงชอบหงุดหงิด ทั้ง ๆ ที่เราต่างหากที่ควรโกรธ?

ทำไมคนโกหกถึงชอบหงุดหงิด ทั้ง ๆ ที่เราต่างหากที่ควรโกรธ?

ทำไมคนโกหกถึงชอบหงุดหงิด ทั้ง ๆ ที่เราต่างหากที่ควรโกรธ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดยเฉลี่ยคนเราจะโกหกอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อวันเป็นปกติไม่ว่าจะเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ และมักเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพื่อน ครอบครัว หรือในคู่รัก

ซึ่งการโกหกที่มักพบเจอปัญหาได้บ่อยและคุ้นเคยกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นในความสัมพันธ์ของคู่รัก 1 ในเหตุผลของการทะเลาะกันมักมาจากสาเหตุของการโกหก จนนำไปสู่ trust issue และหลายคนมักประสบปัญหาเมื่อเวลาเราจับได้หรือรู้ทันการโกหก และเริ่มพูดถึง กลับกลายเป็นคนที่ถูกหงุดหงิดใส่ซะงั้น ทำไมเป็นเราล่ะ?

เราทุกคนล้วนโกหก

เหตุผลของการโกหกมีตั้งแต่เพื่อผลประโยชน์ทั้งด้านการเงิน การเรียน หรือการใช้ชีวิต เพื่อความสะดวกสบาย เพื่อปกปิดความผิดหรือสิ่งที่ได้ทำ เพื่อปกป้องตนเองและผู้อื่น หรือโกหกแบบไม่มีเหตุผลเลยก็ได้ เช่น วันนี้มาสาย ทั้งที่ความจริงแล้วเราตื่นสาย แต่กลับบอกว่ารถติด หรือบอกเพื่อนว่าวันนี้เราไม่ว่าง แต่จริง ๆ เราแค่อยากนอนอยู่เฉย ๆ เป็นต้น ซึ่งเหตุผลการโกหกของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป

ใช่ว่าการโกหกจะเป็นสิ่งไม่ดี เพราะบางครั้งเราก็โกหกเพื่อสีสันในชีวิต ไม่ได้ซีเรียสในผลของการโกหก เพราะไม่ได้มีเจตนารุนแรงแอบแฝงแต่อย่างใด แต่ในบางความสัมพันธ์และในบางเรื่อง การโกหกกลับเป็นประเด็นที่ค่อนข้างซีเรียสมาก ๆ ก็อยู่ที่ว่าคนโกหกทำไปเพื่ออะไร แล้วมีเหตุผลอะไร

คนโกหกกลายเป็นคนที่ใส่อารมณ์จากความผิด

การโกหกในเรื่องที่ทำผิดมา ปฏิกิริยาการปกป้องตัวเองจากปัญหาที่จะเกิด หรือไม่ยอมที่จะเป็นฝ่ายผิดในเรื่องนั้น ๆ จะเริ่มทำงานออกมาในรูปแบบของการแสดงพฤติกรรมต่อต้านว่าเราโกหก Dr. Lillian Glass นักวิเคราะห์พฤติกรรม ได้ให้เหตุผลในปฏิกิริยาของคนโกหกที่มักแสดงออกมา คือ การแสดงความก้าวร้าวเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจในเรื่องที่ถูกกล่าวหา

Dr. Leanne ten Brinke นักจิตวิทยาด้านนิติวิทยาศาสตร์มหาลัยในแคลิฟอร์เนีย ก็ได้กล่าวว่า คนโกหกมักจะก้าวร้าว แสดงความโมโหออกมาพร้อมที่จะเป็นศัตรูกับคุณอยู่ตลอด พวกเขาจะรู้สึกกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข จนอาจส่งเสริมให้เขาพลิกจากฝ่ายผิดมาเป็นฝ่ายโกหกเราแทนได้

เมื่อมีความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่าโกหก คนเราจะมีสัญญาณความกลัวที่แสดงออกมา

เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย ๆ สัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดคาดว่าและกลัวว่าจะถูกจับได้ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนที่โกหก กลายเป็นคนที่ก้าวร้าวใส่คนที่จับผิดได้ซะงั้น ทั้ง ๆ ที่ควรพูดคุยกันด้วยความใจเย็น และอธิบายด้วยเหตุผล แต่ต่อมความรู้สึกในความกลัวนั้น ทำให้การแสดงออกตรงข้ามกับที่ควรได้รับ

‘ใจดีกับคนอื่น ใจร้ายกับคนใกล้ตัว’

‘หันกลับมาเมื่อไหร่ก็เจอ’

คนเรามักแสดงพฤติกรรมที่แท้จริงเมื่ออยู่ในที่ ที่รู้สึกปลอดภัย หรือกับคนที่เรารู้สึกว่า เราทำอะไรไปสุดท้ายเขาก็จะอยู่กับเราอยู่ดี บวกกับความคาดหวังจากในตอนที่รู้จักกันในตอนแรก ที่เต็มไปด้วยความสุภาพ ความเกรงใจ ที่เราต่างสร้างความประทับใจให้กัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต เมื่อมีความสนิทใจกันมากพอ การแสดงตัวตนที่แท้จริงก็ค่อย ๆ ออกมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ที่มักปลดปล่อยกับคนใกล้ตัวมากกว่าคนไกลตัว จนบางครั้งอาจทำให้อีกฝ่ายคิดว่าตนเป็นสนามอารมณ์ไปซะแล้วหรือเปล่า

ในความสัมพันธ์ของคู่รัก ด้วยความคาดหวังที่จะให้เขาเป็นคนอารมณ์เย็นเหมือนช่วงแรกที่ความเกรงใจมันเอ่อล้นจนหาความหงุดหงิดไม่เจอ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งที่ความรู้สึกถูกปลดให้เผยนิสัยที่แท้จริง การใส่อารมณ์ต่อกัน จะสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม ความเย็นที่มีค่อย ๆ กลายเป็นไอน้ำ

ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่แตกต่างกันไป วิธีการโกหกและการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่ถูกจับได้ก็ต่างกัน ถึงแม้โดยส่วนใหญ่จะถูกหงุดหงิดกลับมาแต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน ด้วยพื้นฐานของมนุษย์และสถานการณ์ที่เจอมาแตกต่างกัน การปรับตัวและความเข้าใจ โดยเฉพาะความเกรงใจต่อกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับใครที่เจอสถานการณ์เหล่านี้อยู่ลองคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ หรือจับเข่ากันอย่างจริงจังในปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook