ไขปริศนาเห่า-หอน! นักวิจัยชาวเผยสาเหตุที่สุนัขบางพันธุ์ชอบหอน
เมื่อฟานนิ เลอฮอคสกี (Fanni Lehoczki) นักพฤติกรรมสัตว์ชาวฮังการีสังเกตว่าเสียงหอนที่ทำอยู่เป็นประจำของเจ้า “บิซซู” สุนัขสายพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ ของเธอ ไม่ได้ไปกระตุ้นสุนัขตัวอื่น ๆ ให้หอนรับแบบหมาป่าอยู่เสมอ จนทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เหตุใดสุนัขบางตัวจึงดูเหมือนว่าจะหอนมากกว่าสุนัขตัวอื่น ๆ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอิธเวิส โลแรน (Eotvos Lorand University) ในกรุงบูดาเปสต์ ซึ่งเป็นที่ที่เลอฮอคสกีกำลังศึกษาวิจัยเพื่อดูว่า สุนัขบางสายพันธุ์มีแนวโน้มที่จะหอนมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ หรือไม่ และเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความใกล้ชิดทางพันธุกรรมระหว่างสุนัขกับหมาป่าหรือไม่
เลอฮอคสกีและทีมนักวิจัยของเธอได้ทำการศึกษาว่าสายพันธุ์ อายุ และเพศของสุนัขส่งผลต่อพฤติกรรมการหอนของพวกมันได้อย่างไร โดยการทดสอบสุนัขพันธุ์แท้ 68 ตัวด้วยการเปิดเสียงหมาป่าหอนเป็นเวลา 3 นาทีและสังเกตปฏิกิริยาของพวกมัน
ทั้งนี้ สุนัขในการทดลองมาจาก 28 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สายพันธุ์โบราณ เช่น ชิบะอินุ ไซบีเรียน ฮัสกี้ อลาสกัน มาลามิวท์ และปักกิ่ง ไปจนถึงบูลเทอร์เรีย และบ็อกเซอร์
เลอฮอคสกีกล่าวต่อไปว่า "การค้นพบที่สำคัญก็คือ สุนัขที่มีสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับหมาป่ามีแนวโน้มที่จะตอบสนองด้วยการหอนมากกว่า และพวกมันยังแสดงสัญญาณของความเครียดมากกว่าสุนัขที่มีความเกี่ยวพันธุ์กับหมาป่าน้อยกว่าอีกด้วย และว่าเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงสำหรับสุนัขที่มีอายุมากกว่า 5 ปีเท่านั้น แต่จะไม่มีความแตกต่างใด ๆ ระหว่างสายพันธุ์ในบรรดาสุนัขที่อายุยังน้อย ดังนั้นนักวิจัยจะต้องศึกษาค้นคว้าในประเด็นนี้ต่อไป"
ส่วนสุนัขที่มีอายุมากกว่าในสายพันธุ์โบราณจะตอบสนองด้วยการหอนที่ยาวนานขึ้น และแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดมากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่สายพันธุ์สมัยใหม่ดูเหมือนจะตอบสนองด้วยการเห่า
นอกจากนี้แล้ว การวิจัยยังสรุปได้ว่าสายพันธุ์ที่หอนมากกว่า ก็จะแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเครียดมากกว่า เช่นการหาว เขย่าตัว เลียปากหรือเกาตามร่างกายของมัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นครั้งแรกที่นักวิจัยทำการศึกษาเกี่ยวกับเสียงหอนของสุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ และ "การเลี้ยงสุนัขในบ้านและการคัดเลือกพันธุ์สุนัขโดยมนุษย์นั้นได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการส่งเสียงของสุนัข ตลอดจนสัญชาตญาณและการสร้างเสียงหอนของพวกมันอีกด้วย