5 วิธีพัฒนาการสื่อสาร เพื่อเพิ่มความสนิทสนมกับผู้อื่น

5 วิธีพัฒนาการสื่อสาร เพื่อเพิ่มความสนิทสนมกับผู้อื่น

5 วิธีพัฒนาการสื่อสาร เพื่อเพิ่มความสนิทสนมกับผู้อื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“การสื่อสาร” ถือเป็นหัวใจของการทำความเข้าใจกันและกันระหว่างมนุษย์ การสื่อสาร จำเป็นต้องมีการให้ข้อมูล มีการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความเห็น ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจและไม่มีข้อขัดแย้งที่ไม่เข้าใจกัน บ่อยครั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับบุคคลอื่นมีปัญหาก็เพราะขาดการสื่อสารที่มากพอจะให้ทำความเข้าใจ การสื่อสารที่ผิดพลาด หรือแม้แต่การสื่อสารเชิงลบต่อกัน ผลที่ตามมาก็คือต่อให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการไม่พยายามสื่อสารกันให้เข้าใจ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการสื่อสารที่ผิดพลาด และการสื่อสารเชิงลบที่เริ่มจะเป็นพิษเป็นภัยในความสัมพันธ์

เมื่อปัญหาความไม่เข้าใจผู้อื่นอยู่ที่ “การสื่อสาร” เป็นหลัก เราก็ต้องกลับมาพัฒนาและปรับปรุงการสื่อสารของตนเองให้มันดีขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงและลดโอกาสการเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา เพื่อให้การสื่อสารระหว่างเรากับผู้อื่นเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นการสื่อสารชนิดที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา แคร์ความรู้สึกกันให้มาก ๆ เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ของเรากับพันธมิตรของเราให้สนิทสนมกันมากขึ้น

1. คุยกับตัวเองหน้ากระจกแล้วสังเกตเงาที่สะท้อนมา

แน่นอนว่าคุณคงไม่รู้ตัวหรอกว่าเผลอแสดงอาการหรือทำพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้คู่สนทนาของคุณรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจอยู่บ่อยครั้ง หากอีกฝ่ายไม่เคยสะท้อนให้คุณได้รู้ตัว ดังนั้น วิธีที่จะทำให้คุณได้รู้ตัวว่าตนเองเป็นคนที่มีปฏิกิริยาท่าทางการแสดงแบบไหนเวลาที่สื่อสารกับผู้อื่นก็คือ การลองคุยกับตัวเองที่หน้ากระจก สร้างสถานการณ์ให้เหมือนกับกำลังสนทนาในสถานการณ์จริง โดยให้กระจกแทนคู่สนทนา ซึ่งมันจะสะท้อนเงากลับมาว่าบุคลิกของคุณเป็นอย่างไร ทำให้คุณเห็นเองว่าพฤติกรรมอะไรระหว่างสนทนาที่จะทำให้คู่สนทนาไม่ชอบที่จะคุยกับคุณ หากคุณรู้ถึงภาษากายเหล่านั้น คุณก็จะเริ่มเข้าใจพวกเขา และคุณจะหาวิธีปรับปรุงการสนทนาให้เป็นมิตรต่อผู้อื่นขึ้นได้เอง

อะไรที่คุณไม่ชอบให้ผู้อื่นทำกับคุณ คุณก็ไม่ควรที่จะทำกับผู้อื่น คุณต้องคำนึงมารยาทในการสื่อสารที่ดี ซึ่งคุณควรจะเป็นทั้งผู้ฟังและผู้พูด ในระหว่างที่คุณเป็นผู้พูด ให้คุณสังเกตว่าคุณพูดกับผู้ฟังอย่างไร แสดงออกถึงภาษากายที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดี ไม่สุภาพ หรือดูน่ารังเกียจหรือเปล่า คุณเอาแต่พูดเรื่องของตัวเองไม่หยุดจนคนอื่นไม่มีโอกาสได้พูดหรือเปล่า หรือคุณเอาแต่พูดในเรื่องที่ทำให้คนฟังอึดอัดลำบากใจ แล้วในระหว่างที่คุณเป็นผู้ฟัง คุณพยายามตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูด พูดหรือไม่ คุณชอบที่จะขัดหรือแทรกความคิดและการตัดสินของคุณอยู่บ่อย ๆ หรือเปล่า เคยถามตัวเองไหมว่าผู้พูดต้องการจะบอกอะไรฉัน หรือสุดท้ายแล้ว มันเป็นบทสนทนาที่พวกคุณไม่ได้ยินซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง!

2. พูดคำว่า “ขอบคุณ”

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยแค่ไหน หากมีใครสักคนทำอะไรดี ๆ ให้ ต่อให้คุณจะไม่ได้รู้สึกขอบคุณมากขนาดนั้น แต่แค่พูดคำว่า “ขอบคุณ” ออกไป คนฟังก็ใจฟูแล้ว การพูดขอบคุณไม่มีอะไรเสียหาย ไม่มีอะไรที่ไม่ดีสำหรับคำขอบคุณ และคุณไม่ต้องเอาอะไรไปแลกเลยสักอย่าง แต่มันกลับทำให้คนฟังรู้สึกไปในทางบวก ที่สำคัญ แค่คำคำเดียวก็ทำให้คุณเป็นคนที่น่ารักขึ้นอีกเยอะด้วย บ่อยครั้งที่เมื่อความสัมพันธ์ของคนเรายิ่งสนิทสนมและคุ้นเคย เราก็มักที่จะลืมทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเรารู้สึกขอบคุณพวกเขา หรือกับคนที่ไม่รู้จัก ต่อให้สิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ทว่าคำขอบคุณมันคือการแสดงน้ำใจที่แสดงออกถึงความรู้สึกขอบคุณ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกมีกำลังใจ

3. พูดคำว่า “ขอโทษ” อย่างถูกต้อง

คำว่า “ขอโทษ” ไม่เหมือนกับกับคำขอบคุณ มันทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ทั้งบวกและลบ เพราะในบางสถานการณ์ คำขอโทษกลับทำให้ผู้ฟังรู้สึกลบได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นคำขอโทษที่พูดออกมาส่ง ๆ ไร้ซึ่งความจริงใจ ความเสียใจ และความรู้สึกสำนึกผิด นอกจากนี้ หลายคนยังสร้างคำขอโทษที่คลุมเครือ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ด้วยคำว่า “ขอโทษนะ แต่…” อีกด้วย ก็จะยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกไม่ดีมากขึ้นไปอีก แทนที่จะแสดงความเสียใจและรู้สึกผิดต่อพวกเขา กลับทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีทั้งต่อตัวเองและต่อผู้พูดได้เลยทีเดียว อย่าลืมว่าการขอโทษคือการรู้สึกสำนึกผิดและเสียใจ เนื่องมาจากผลกระทบของการกระทำและคำพูดของคุณ ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี

การขอโทษที่ดี จะต้องสามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้พูดและผู้ฟังให้ดีขึ้นได้โดยไม่มีข้อแม้และข้อขัดแย้ง นั่นหมายความว่าผู้พูดต้องพูดคำขอโทษออกมาด้วยความรู้สึกที่รับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ไม่ใช่แบ่งรับแบ่งสู้กล่าวโทษผู้ฟังโดยใช้คำว่า “แต่” เข้ามาประกอบ การพูดขอโทษออกมาแบบส่ง ๆ ทั้งที่ไม่ได้รู้สึกผิดหรือเสียใจเลยด้วยซ้ำ แค่พูดให้ตัวเองพ้นจากความผิด และพยายามจะโยนภาระไปให้ผู้ฟังว่าต้องหายโกรธได้แล้ว (เพราะขอโทษแล้ว) การพูดขอโทษเพียงเพราะต้องการจะนำมาประกอบกับข้อแก้ตัวหรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง การตั้งใจพูดขอโทษซ้ำ ๆ เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ฟังรู้สึกผิดที่รู้สึกแย่ และต้องมารับผิดชอบความรู้สึกผิดของผู้พูดที่เอาแต่ขอโทษซ้ำ ๆ

4. ให้ความสำคัญกับการสัมผัสทางกาย

ในความสัมพันธ์ที่คนทั้งคู่มีความสนิทสนมกันในระดับที่สามารถสัมผัสตัวกันได้ บ่อยครั้งที่การสัมผัสทางกายก็จำเป็นต่อการสื่อสารเช่นกัน เนื่องจากการสัมผัสทางกายเป็น 1 ใน 3 ประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่นอกเหนือจากการมองเห็นและการได้ยิน มีการศึกษามากมายที่พบว่าสัมผัสทางกายส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน เนื่องจากการสัมผัสก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องเอื้อนเอ่ยคำใดอีกฝ่ายก็เข้าใจได้ ในบางสถานการณ์ คุณสามารถรู้สึกไว้ใจเพื่อนที่เข้ามากุมมือของคุณเบา ๆ จนกระทั่งร้องไห้ออกมา รวมถึงรู้สึกอบอุ่นว่าอย่างน้อยก็มีใครสักคนที่คอยสนับสนุนคุณอยู่ข้าง ๆ เพราะสัมผัสจากมือของเพื่อนนั่นเอง แค่กุมมือก็มีความหมายแล้ว

สัมผัสทางกายจึงถือเป็นเรื่องสำคัญและทรงพลังมากกว่าที่คิด (ตราบใดที่ไม่ได้รุ่มร่ามจนเข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศ) การสัมผัสทางกายสามารถกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรักในระยะของความผูกพัน เมื่อฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมาจะทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจในด้านดี เพิ่มความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ความผูกพัน และความรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้สัมผัสอบอุ่นนี้ สร้างความใกล้ชิด ลดความรุนแรง รู้สึกเป็นพรรคพวกเดียวกัน นอกจากนี้การสัมผัสยังช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเซโรโทนินมากขึ้นด้วย ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารต้านซึมเศร้าตามธรรมชาติ ลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล จึงผ่อนคลายความเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน และสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้กัน

5. ทำกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใดก็ตาม คนเราจะสนิทสนมกันได้มากขึ้นก็ต่อเมื่อได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน คุณจะไม่มีทางสนิทกับเพื่อนสนิทได้ถ้าไม่เคยไปเที่ยวด้วยกันเลย พูดง่าย ๆ ก็คือก็เหมือนกับที่เด็ก ๆ คงไม่อาจเติบโตขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ทั้งกายและใจ หากไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่น และการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองนั่นเอง การได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ทำให้คุณได้ค่อย ๆ ทำความรู้จักกัน ได้ใช้เวลาร่วมกับอีกฝ่าย ได้มีอารมณ์ต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความสนุกสนาน ความเศร้า ความผิดหวัง และผ่านอารมณ์เหล่านั้นมาด้วยกัน

ดังนั้น กิจกรรมกระชับความสัมพันธ์จึงถือเป็นการสื่อสารระหว่างกันอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ได้ทุกรูปแบบ ทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เข้าสู่พื้นที่ของความสัมพันธ์ที่ได้ใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดความผูกพันและช่วยให้คุณได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่อมีพวกเขาอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณของการมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและยังเป็นสัญญาณของการมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook