ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย และวิธีการแก้หนี้อย่างยั่งยืน

ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย และวิธีการแก้หนี้อย่างยั่งยืน

ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย และวิธีการแก้หนี้อย่างยั่งยืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนี้ครัวเรือนของคนไทยนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ เพราะภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประชากรไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะต้องแบกหนี้ที่ตนเองก่อไว้ และไม่สามารถออกจากวังวนหนี้ได้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุถึง 8 ข้อเท็จจริงที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีอีก 3 วิธีการสำหรับการแก้หนี้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย

1. เป็นหนี้เร็ว

คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25-29 ปี) มากกว่า 58 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้ และมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนี้เสีย (non-performing loan : NPL) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์/มอเตอร์ไซค์ ที่บางส่วนไม่นำไปสร้างรายได้ ทำให้เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งรวมนักเรียน นักศึกษา เป็นหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

2. เป็นหนี้เกินตัว

เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของต่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีหนี้เกินกว่า 5-12 เท่าของรายได้ต่อเดือน จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มาจากหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ หนี้สองประเภทนี้จึงถือเป็นศูนย์กลางของปัญหากับดักหนี้ของคนไทย ที่สำคัญหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมีดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนสั้น ทำให้มีหนี้ที่ต้องชำระคืนต่อเดือนสูง ลูกหนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย เห็นได้จากจำนวนบัญชีของลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย เป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

3. เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง

4 ใน 5 ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้มักได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่รู้และไม่เข้าใจเงื่อนไขการได้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ทั้งกรณีปกติและกรณีผิดนัดชำระ นอกจากนี้ ลูกหนี้บางส่วนยังได้รับข้อมูลด้านเดียว เช่น โปรโมชันผ่อนน้อย แต่ไม่ระบุให้ชัดว่าต้องผ่อนนาน ทำให้ลูกหนี้อาจตกอยู่ในวังวนการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น

4. เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น

กว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ ทำให้ต้องไปกู้จากทั้งในและนอกระบบเพื่อดำรงชีพ และส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ เพราะรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งพบในหลายกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร อาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้าง บริการ และพนักงานโรงงาน

5. เป็นหนี้นาน

มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในภาคเกษตรที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลานาน รวมทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลที่ลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์) ทำให้หมดหนี้ได้ช้า เช่น ถ้าผ่อนชำระหนี้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ 3 เปอร์เซ็นต์ จะต้องใช้เวลาถึง 7 ปี จึงจะผ่อนหมด

6. เป็นหนี้เสีย

ลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย เกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด-19 (คิดเป็นลูกหนี้ 3.1 ล้านคน และมียอดหนี้รวม 4 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นบัญชีหนี้เสียที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 20 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้ในภาคเกษตร

7. เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น

เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ และอาจถูกอายัดทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนหนึ่งชี้ว่าลูกหนี้ไม่มีตัวช่วยหาทางออก เข้าไม่ถึงการไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งก่อนฟ้อง หลังฟ้อง และหลังมีคำพิพากษา และในกรณีที่ลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว ก็ยังไม่มีช่องทางให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไม่ได้ทำธุรกิจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือล้มละลาย ซึ่งแม้การเป็นบุคคลล้มละลายจะมีข้อจำกัดในการกู้ใหม่ แต่ก็ช่วยให้ลูกหนี้มีทางออกได้

8. เป็นหนี้นอกระบบ

42 เปอร์เซ็นต์ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท จากการที่เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน เจ้าหนี้ไม่เห็นข้อมูลรายได้จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และหากจะปล่อย อาจคิดดอกเบี้ยสูง จึงเลือกกู้นอกระบบเอง เพราะสะดวก ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน แม้ดอกเบี้ยจะแพง และใช้/ขอสินเชื่อในระบบเต็มแล้ว จนต้องกู้หนี้นอกระบบไปจ่ายหนี้ในระบบ

3 หลักการ ในการแก้หนี้ให้ได้ผลยั่งยืน

การแก้หนี้ที่เหมาะสมเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1. ทำอย่างครบวงจร

ให้เหมาะกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อประสบปัญหาการชำระหนี้ เพื่อกันปัญหาวนซ้ำเป็นงูกินหาง

2. ทำถูกหลักการ

มีแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ รวมถึงทำในเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียในระยะยาว ดังนี้

– แก้ให้ตรงจุด เพราะการทำมาตรการแบบเหวี่ยงแห/เป็นวงกว้างนานเกินไป จะทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถนำทรัพยากรไปช่วยผู้ที่เดือดร้อนหนักกว่าได้ และต้องแก้ให้เหมาะกับสถานการณ์/ปัญหาของลูกหนี้ เช่น การให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อแก้ปัญหารายได้ในช่วงวิกฤติ แม้มีข้อดีที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น แต่ต้องระวังการเกิดปัญหาหนี้ที่อาจชำระไม่ได้ในระยะยาว กลายเป็นหนี้เรื้อรังหรือหนี้เสีย ทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบยากขึ้น

– ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ เช่น พักชำระหนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นเพียงการผลักปัญหาไปในอนาคต เพราะหนี้เดิมไม่ลดและมีภาระเพิ่มจากดอกเบี้ยที่เดินอยู่ตลอดด้วย รวมถึงอาจเสียวินัยทางการเงินเพราะชินกับการไม่ต้องจ่ายหนี้และอาจก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่เจ้าหนี้อาจมีสภาพคล่องไม่พอปล่อยสินเชื่อใหม่ หรือช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง ๆ

– ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบประวัติข้อมูลเครดิต ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประวัติลูกหนี้ในการพิจารณาสินเชื่อ จนไม่กล้าปล่อยกู้ ทำให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้น หรือหากกู้ได้ จะโดนคิดดอกเบี้ยแพง เจ้าหนี้ต้องร่วมใจช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เหมาะกับลูกหนี้แต่ละราย และลูกหนี้ต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหนี้ ปฏิบัติตามสัญญาใหม่อย่างมีวินัย และบริหารเงินอย่างถูกต้อง

3. ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน

เพื่อแก้ปัญหาหนี้ให้ครบทุกประเภท ทั้งหนี้ที่ ธปท. กำกับดูแล ซึ่งคิดเป็น 4 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือนในระบบ ได้แก่ หนี้ที่อยู่กับ ธพ. SFIs และนอนแบงก์และหนี้ส่วนอื่น เช่น หนี้สหกรณ์ หนี้กยศ. และหนี้กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงหนี้นอกระบบ จึงต้องการความร่วมมือจากผู้กำกับดูแลหนี้ประเภทต่าง ๆ รวมทั้งภาครัฐอื่น ๆ เจ้าหนี้ภาคเอกชน และที่สำคัญตัวลูกหนี้เอง เพื่อให้การแก้หนี้เกิดขึ้นได้ครบวงจร และเห็นผลตามเป้าหมายของการแก้หนี้ให้ยั่งยืน ที่สำคัญ ต้องแก้ปัญหาจากมิติด้านรายได้และรัฐสวัสดิการ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตร เช่น ชลประทานการเกษตร และประกันภัยพืชผล ควบคู่ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook