เตรียมตัวให้พร้อมอย่างไร ถ้าพรุ่งนี้ต้องเริ่มงานวันแรก

เตรียมตัวให้พร้อมอย่างไร ถ้าพรุ่งนี้ต้องเริ่มงานวันแรก

เตรียมตัวให้พร้อมอย่างไร ถ้าพรุ่งนี้ต้องเริ่มงานวันแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเปลี่ยนจากการเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา กลายเป็น First Jobber สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้เจอคือการเริ่มงานวันแรก แม้จะเป็นคนที่ผ่านงานมาแล้ว หากต้องไปทำงานที่ใหม่การเริ่มงานวันแรกมักทำให้ใจเต้นแรงได้เสมอ และนี่คือวิธีการเตรียมตัวเตรียมใจ ของคุณให้พร้อมเพื่อการทำงานวันแรกเพื่อให้มีแรงสู้กับงานต่อไปในวันข้างหน้า

เริ่มจากตัวเอง เปิดใจให้กว้าง

เมื่อคุณได้รับการตอบรับเข้าทำงาน นอกจากจะเตรียมตัวศึกษาเกี่ยวกับบริษัทและเนื้อหาของงานล่วงหน้าแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ คุณต้องเปิดใจให้กว้างสำหรับเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ อย่ากลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และอย่ายึดติดกับสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ให้คุณพึงระลึกไว้เสมอว่า เพื่อนร่วมงานทุกคนมาจากสังคมที่ต่างกัน พื้นฐานนิสัย ทัศนคติ รวมถึงการแสดงออกย่อมต่างกันออกไป บางคนนิ่ง บางคนโผงผาง บางคนเน้นพูด บางคนเน้นการกระทำ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่คุณต้องเรียนรู้ถือเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่คุณต้องก้าวผ่าน ดังนั้น ถ้าคุณเริ่มจากตัวเอง เปิดใจให้กว้างเข้าไว้ พอใจพร้อม กายก็พร้อมที่จะลุยแล้ว

เชื่อมสะพานมิตรภาพด้วยรอยยิ้ม

เจอหน้าเพื่อนร่วมงานวันแรกคุณอาจจะรู้สึกเคอะเขิน เก้ ๆ กัง ๆ วางตัวไม่ถูก ทำหน้านิ่ง ๆ ปกติก็ถูกมองว่าหยิ่งว่าเหวี่ยง จนกลายเป็นกำแพงขวางกั้นระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว ลองมาใช้ “รอยยิ้ม” เปลี่ยนกำแพงให้เป็นสะพานเชื่อมไปสู่มิตรภาพกันดีกว่า เพราะรอยยิ้มสามารถสร้างความประทับใจแรก ส่งผลให้เพื่อนร่วมงานมีความรู้สึกเชิงบวกต่อคุณ และรู้สึกถึงความเป็นมิตรที่คุณหยิบยื่นให้ ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า ถ้ามีคนยิ้มกับคนไม่ยิ้ม คุณจะกล้าเข้าไปหาใครมากกว่ากัน แต่ถ้าคุณเป็นคนยิ้มยาก ลองฝึกยิ้มหน้ากระจกดู เคล็ดลับ คือ ต้องยิ้มจากภายในด้วยความจริงใจ อย่าแสยะยิ้มหรือยิ้มแกน ๆ ไม่อย่างนั้นแทนที่จะได้มิตร คุณอาจจะได้ศัตรูมาแทน

แนะนำตัวเองก่อน

บางคนโชคดีไปทำงานวันแรกมี HR หรือหัวหน้าพาไปแนะนำตัวกับเพื่อนร่วมงานให้ช่วยดูแลน้องใหม่อย่างคุณ แต่ถ้าโชคร้ายไม่มี แถมทุกคนดูยุ่งกับงานจนไม่มีใครมาสนใจคุณ คุณคงได้แต่นั่งลีบ ๆ เกร็ง ๆ อยู่ที่โต๊ะ สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเองไม่มีตัวตนไปเรื่อย ๆ แต่ควรหาโอกาสเข้าไปแนะนำด้วยรอยยิ้มและความกระตือรือร้น เช่น “สวัสดีค่ะ/ครับ ดิฉัน/ผมชื่อ…เพิ่งมาทำงานวันแรกในตำแหน่ง…มีอะไรช่วยแนะนำด้วยนะคะ/นะครับ” ที่สำคัญ คือ ดูจังหวะดี ๆ ระวังอย่าทะเล่อทะล่าเข้าไปตอนที่เพื่อนร่วมงานกำลังยุ่ง เพราะอาจจะไม่มีใครปลื้ม และไม่ต้องแนะนำยาวหรือเจาะลึกเกินไป เช่น ชอบสีอะไร ชอบกินอะไร รอค่อย ๆ ทำความรู้จักกันไปเรื่อย ๆ ดีกว่า

บันทึกชื่อเพื่อนร่วมงานไว้ในความจำ

หลังจากมีการแนะนำตัวกันเรียบร้อยแล้ว คุณควรพยายามจำชื่อเพื่อนร่วมงานให้ได้ภายในครั้งแรก เพราะจะเป็นการบ่งบอกว่าคุณใส่ใจ ทำให้เพื่อนร่วมงานประทับใจ และสามารถลดกำแพงที่มีต่อกันได้ ถ้าคุณเป็นคนจำชื่อคนไม่เก่งหรือเพื่อนร่วมงานมีจำนวนมาก แนะนำให้ใช้เทคนิคจำจุดเด่นและกลับมาจดไว้ในสมุดโน้ต วิธีที่จะทำให้คุณจำชื่อเพื่อนร่วมงานได้เร็วขึ้น หรือถ้าจำไม่ได้จริง ๆ ก็สามารถถามชื่ออีกครั้งด้วยความสุภาพ แต่ไม่ควรถามทุกครั้งที่มีการสนทนา เพราะจะเป็นการเสียมารยาทและทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกรำคาญได้

อย่าปฏิเสธมื้อกลางวันกับเพื่อนร่วมงาน

เวลางานทุกคนต่างโฟกัสเรื่องงานเป็นหลัก ช่วงพักทานข้าวกลางวันจึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่คุณจะได้ทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน คุณอาจจะใช้โอกาสนี้ขอคำแนะนำเรื่องการทำงาน ถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ หรือพูดคุยเรื่องทั่วไปเพื่อสร้างความสนิทสนมระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อเพื่อนร่วมงานเอ่ยปากชวนไปทานข้าวด้วยกันคุณจึงไม่ควรปฏิเสธ หรือปลีกวิเวกไปคนเดียว นั่นอาจจะยิ่งทำให้คุณกับเพื่อนร่วมงานรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินกันมากขึ้น

รู้จักเทคนิคและจังหวะในวงสนทนา

หากคุณไม่รู้จะเข้ากลุ่มกับเพื่อนร่วมงานอย่างไรดี ให้ลองเริ่มจากการเป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งใจฟัง และแสดงความคิดเห็นกลับไปบ้าง จากนั้นอาจจะสร้างความรู้สึกคุ้นเคยด้วยการชวนคุยเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น ดิน ฟ้า อากาศ แล้วค่อย ๆ ต่อยอดไปสู่เรื่องที่สนใจร่วมกัน รู้จังหวะว่าตอนไหนควรพูด ไม่พูดแทรก พูดโอ้อวดว่าคุณรู้ดีกว่าทุกเรื่อง ไม่ผูกขาดบทสนทนาไว้คนเดียว และที่ต้องกาดอกจันไว้เลย คือ อย่าถามซอกแซกเรื่องส่วนตัวตั้งแต่วันแรกที่ได้คุยกัน เพราะจะทำให้คุณถูกมองว่าไม่มีกาลเทศะ และทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่ดีต่อคุณได้

วางตัวให้เป็นกลาง

ส่วนใหญ่ในบริษัทก็จะแบ่งเพื่อนร่วมงานเป็นกลุ่มต่าง ๆ คงหลีกเลี่ยงการนินทาหรือการพูดลับหลังกันได้ยาก เมื่อคุณเข้ามาทำงานวันแรก จะไม่มีทางรู้ข้อเท็จจริงว่าแท้จริงแล้วใครเป็นอย่างไร ใครดีไม่ดี ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในวงสนทนา ทางที่ดีที่สุดคือ คุณควรวางตัวเป็นกลาง อย่ากระโจนเข้าไปร่วมวงหรือแสดงความคิดเห็น ไม่งั้นคนซวยอาจจะไม่ใช่ใครแต่จะเป็นคุณเอง

คอยสังเกตบุคลิกและนิสัยของเพื่อนร่วมงาน

ทราบหรือไม่ว่าการสังเกตบุคลิกและนิสัยของเพื่อนร่วมงานแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร จะช่วยคุณได้มากในการเข้ากลุ่ม และอยู่ในที่ทำงานอย่างราบรื่นปลอดภัยขึ้น เช่น รู้ว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้ปากร้ายแต่ใจดี คุณก็จะไม่ถือสาหาความเก็บมาเป็นอารมณ์ รู้ว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้มีนิสัยชอบเอาเปรียบ คุณก็หาทางหลีกเลี่ยง หรือรู้ว่าถ้าเพื่อนร่วมงานคนนี้เริ่มอยู่ในโหมดจริงจัง คุณก็ไม่ควรไปตอแยล้อเล่นด้วย เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook