ทำไมน้องอยู่ในทะเล! รู้จัก 2 ปลาสายพันธุ์น้ำจืด ที่โผล่ในโปสเตอร์ The Little Mermaid
เรียกว่ากลายเป็นเรื่องราวที่ทำให้ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ถกเถียงกันอย่างจริงจัง หลังจากที่มีการปล่อยภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) ฉบับคนแสดง ที่ชาวเน็ตได้จับสังเกตว่าโปสเตอร์ที่ปล่อยออกมาค่อนข้างขัดแย้งกับความเป็นจริง ตรงที่เส้นเรื่องของภาพยนตร์อยู่ในท้องทะเล แต่มีปลาน้ำจืดอยู่บนโปสเตอร์ถึง 2 ชนิด
โดยในวันนี้ Sanook Campus เราก็จะพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับปลาน้ำจืดทั้ง 2 ชนิด ที่ได้เข้าไปอยู่บนโปสเตอร์ภาพยนตร์ เงือกน้อยผจญภัย ด้วยความผิดพลาดหรืออาจจะตั้งใจของทางค่าย ให้มากขึ้นกันซักหน่อย ว่าจริงๆ แล้วน้องคือปลาอะไรกันแน่
ปลาช่อนอเมซอน
ปลาอะราไพม่า หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า ปลาช่อนยักษ์อเมซอน เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาอะราไพม่า (Arapaimidae) ในอันดับปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes)
ปลาอะราไพม่า (Arapaima) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน (Channa stiata) มาก เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดงส้ม ตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ส่วนหัวมีลักษณะแข็งและมีน้ำหนักมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง ในขณะที่ปลายังเล็กพื้นลำตัวจะมีสีเขียวเข้ม และลำตัวส่วนที่ค่อนไปทางหางจะเป็นสีดำ และรูปร่างจะออกไปทางทรงกระบอก เมื่อโตขึ้นบริเวณลำตัวและส่วนที่ค่อนไปทางหาง ครีบ และหาง จะปรากฏสีชมพูปนแดงหรือสีบานเย็นประแต้มกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อจวนตัว ปลาอะราไพม่าจะใช้ส่วนหัวที่แข็งพุ่งชนและกระโดดใส่ด้วยความรุนแรงเพื่อป้องกันตัว
ปลาอะราไพม่าพบในแม่น้ำแอมะซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า ปีรารูกู (pirarucu) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่ประเทศเปรูจะเรียกว่า ไปเช (paiche) เป็นไม่มีหนวด ซึ่งแตกต่างจากปลาชนิดอื่นๆ ในวงศ์เดียวกัน และเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ไวมาก ภายในเวลาเพียง 1–2 ปี สามารถมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 3–5 เท่าได้ ปลาที่โตเต็มที่เท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร น้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม
ปลาหมอลิวูเลคตัส
ปลาหมอริวูเลตัส (Andinoacara rivulatus) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาที่มีอุปนิสัยไม่ดุร้ายก้าวร้าวมากนักเมื่อเทียบกับปลาหมอสีชนิดอื่น สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยง
มีลักษณะเด่น คือ มีลวดลายสีฟ้าสะท้อนแสงที่หน้า เมื่อปลาโตเต็มที่ลวดลายดังกล่าวจะยิ่งแตกเป็นลายพร้อยมากขึ้น รวมถึงบริเวณริมฝีปากด้วย ขอบครีบหลังและครีบก้นมีขลิบสีแดงพาดยาวไปจนถึงความยาวสุดของครีบหลัง บริเวณลำตัวมีลายเหมือนตาข่ายและมีจุดสีดำขนาดใหญ่ที่กลางลำตัว ในบางตัวอาจจะเป็นลายยาว และบริเวณแผ่นปิดเหงือกจะมีแถบสีดำยาวตั้งแต่ตาไปจนถึงแก้ม แต่สีดังกล่าวจะซีดลงได้เมื่อปลาตกใจหรืออยู่ในภาวะเครียด
ปลาหมอริวูเลตัส มีความยาวเมื่อโตเต็มที่ราว 25-30 เซนติเมตร โดยเฉพาะในปลาตัวผู้จะมีสีสันและลำตัวขนาดใหญ่กว่าตัวเมียมาก และมีส่วนหัวที่โหนก ขณะที่ตัวเมียมีความยาวได้แค่ครึ่งของตัวผู้ คือ ราว ๆ 12 เซนติเมตร และไม่มีโหนกที่ส่วนหัว