ปรับ 3 ป. ลดความเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
กรมควบคุมโรค เชิญชวนคนทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ปรับตามหลัก 3 ป. คือ ปรับสภาพแวดล้อม เปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความเสี่ยงจากโรคออฟฟิศซินโดรม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขครบรอบ 100 ปี การสาธารณสุขไทย ภายใต้แนวคิด “เพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนา” กรมควบคุมโรค จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความสุขและสุขภาพให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่มวัย ทั้งกลุ่มเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยผู้สูงอายุ หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มวัยทำงานพบป่วยโรคออฟฟิศซินโดรมจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะเป็นเวลานาน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556-2560 พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 30.8 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15 ขึ้นไป) ที่ใช้คอมพิวเตอร์ จำนวนถึง 28.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 91.3 ซึ่งปัญหาสุขภาพอันเนื่องจากการทำงานในออฟฟิศมีแนวโน้มสูงขึ้น การนั่งดูจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ อาจส่งผลให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมของคนทำงาน ได้แก่ ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การจัดพื้นที่ทำงานเกินระยะเอื้อมของมือ หรือการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือทำงานท่าเดิมเป็นเวลานาน เป็นต้น ดังนั้น การปรับสมดุลของคนทำงานออฟฟิศจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อลดอาการปวดเมื่อยและลดโรคออฟฟิศซินโดรม วิธีการป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม ขอให้ยึดหลัก “3 ป.” คือ 1. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม 2. เปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางการทำงาน และ 3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การปรับสภาพแวดล้อม คือ 1. ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา 2. วางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอกทำมุม 90 องศา 3. นั่งหลังตรงให้หลังชิดกับพนักพิง 4. วางเท้าลงบนพื้นให้ขาทำมุม 90 องศา 5. วางข้อมือให้ตรง ไม่บิดหรืองอข้อมือ ทั้งนี้การปรับท่าทางขณะพัก ขอให้ยึดหลัก “10-20-60” ทุก 10 นาทีให้พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปเดินเล่นและเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 20 นาที เมื่อครบชั่วโมง (60 นาที) ให้ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและแขน โดยการบริหารต้นคอ สะบัก ไหล่ แขนมือ เอวหลัง และขา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนทุกคน ให้ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมบริเวณโต๊ะทำงานของตนเอง ให้เหมาะสมแก่การทำงาน และปรับอิริยาบถเสมอ ๆ เพื่อลดการปวดเมื่อยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422