สังคมผู้สูงวัยยุคใหม่ “ลำพังแต่สุขใจ”

สังคมผู้สูงวัยยุคใหม่ “ลำพังแต่สุขใจ”

สังคมผู้สูงวัยยุคใหม่ “ลำพังแต่สุขใจ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2564 ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ไทยก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปแล้ว นอกจากจำนวนประชากรไทยโดยรวมจะเริ่มลดลง ไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่าร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2584

ทั้งนี้มีผลสำรวจที่น่าสนใจจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ใคร? ควรดูแลผู้สูงอายุไทย ให้อยู่ดีมีสุข ปี 2566” โดยผลสำรวจดังกล่าวระบุว่าสถาบันหรือหน่วยงานที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 53.05 ระบุว่าสถาบันครอบครัว รองลงมาร้อยละ 41.91 ระบุว่าหน่วยงานภาครัฐ เช่น บ้านพักคนชรา ร้อยละ 3.59 ระบุว่าวัด มูลนิธิ สมาคม องค์กรเอกชน (NGOs) และร้อยละ 1.45 ระบุว่าหน่วยงานภาคธุรกิจ/เอกชน

สำหรับความคิดเห็นต่อบุคคลในครอบครัวที่ควรเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ พบว่าร้อยละ 35.96 ระบุว่าลูกสาวคนโต/ลูกสาวคนรอง รองลงมาร้อยละ 23.89 ระบุว่าลูกชายคนโต/ลูกชายคนรอง ร้อยละ 19.08 ระบุว่าลูกทุกคน ร้อยละ 8.40 ระบุว่าญาติ พี่ น้อง หรือลูกพี่ ลูกน้อง ร้อยละ 5.88 ระบุว่าหลาน ร้อยละ 3.74 ระบุว่าคู่สมรส และร้อยละ 3.05 ระบุว่าดูแลตัวเอง

ด้านความต้องการเกี่ยวกับการให้บริการดูแลผู้สูงอายุจากหน่วยงานภาครัฐ ตามผลสำรวจนั้นระบุว่าผู้สูงอายุต้องการให้รัฐดูแลเรื่องการบริการทางการแพทย์มากที่สุด รองลงมาคือการเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งกิจกรรมที่ต้องการไป

โดยพบว่าร้อยละ 84.81 ระบุว่าบริการทางการแพทย์/รักษาพยาบาล รองลงมาร้อยละ 31.68 ระบุว่า บริการด้านการเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งกิจกรรมที่ต้องการไป (รถบัส รถตู้ หรือรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ) ร้อยละ 31.60 ระบุว่าบริการด้านการฟื้นฟูบำบัดทางกายภาพ (รวมทั้งสถานที่ออกกำลังกาย) ร้อยละ 26.03 ระบุว่าบริการด้านโภชนาการ (เช่น จัดส่งอาหารสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะของการผูกปิ่นโต หรืออาหารกล่องถึงบ้านผู้สูงอายุ) ร้อยละ 24.05 ระบุว่าบริการบ้านพัก/ที่อยู่อาศัย (เช่น คอนโด หรือบ้านสำหรับครอบครัวผู้สูงอายุ) ร้อยละ 22.90 ระบุว่าบริการด้านการปรึกษาทางการเงิน (เช่น ให้คำแนะนำการออม การซื้อกองทุน เป็นเคาน์เตอร์พิเศษเฉพาะผู้สูงอายุ) และร้อยละ 21.91 ระบุว่าบริการด้านการปรึกษาทางจิตใจ (เช่น มีจิตแพทย์เฉพาะทาง)

จากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นว่าการส่งเสริมผู้สูงอายุปัจจุบันและอนาคตให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ยาวนานที่สุดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการรับมือสังคมผู้สูงวัย เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลงหรือครองตัวเป็นโสดมากขึ้น รวมถึงการย้ายถิ่นไปทำงานและการแยกครอบครัวจากพ่อแม่ ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่ลำพังมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมผู้สูงอายุยุคใหม่ให้ดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรง ให้สามารถใช้ชีวิต “ลำพัง แต่สุขใจ”

การใช้ชีวิต “ลำพัง แต่สุขใจ” เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ลำพังได้อย่างมีความสุขกับตนเองและชุมชนรอบตัว โดยสามารถสื่อสารกับคนในครอบครัวได้อย่างใกล้ชิดแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกัน ผ่านการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร (Social media) อาทิ ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Smart phone) เครื่องคอมพิวเตอร์ เข้าอินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้สูงอายุก้าวทันโลกสมัยใหม่ (Smart Older) เข้าสังคม และใกล้ชิดกับลูกหลานและเพื่อนฝูงได้มากขึ้น

เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายในการสื่อสารระหว่างบุคคลกันได้อย่างต่อเนื่อง ทันเวลา และทำให้ผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุในยุค Digital ได้อย่างกลมกลืนร่วมกับคนวัยอื่น ๆ (Digital Ageing) นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรสร้างเสน่ห์ให้กับตนเองด้วยการมีทัศนคติเชิงบวกและมีพฤติกรรมสูงวัยเชิงสร้างสรรค์ เพื่อที่จะได้เป็นที่รักและดึงดูดลูกหลานให้อยากเข้ามาหาและอยู่ใกล้ชิด

ในขณะที่ลูกหลาน ก็ควรมีความรัก ความกตัญญู รู้หน้าที่ มีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และให้การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุ ยังสามารถเป็นผู้สูงวัยหัวใจวัยรุ่น (Young @ Heart) ด้วยการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา และเป็นผู้สูงวัยที่เปี่ยมพลังหรือพฤฒพลัง (Active Aging) โดยดูแลสุขภาวะตัวเองทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและมีความกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook