6 ลักษณะของครอบครัวที่มีสุขภาวะที่ดี

6 ลักษณะของครอบครัวที่มีสุขภาวะที่ดี

6 ลักษณะของครอบครัวที่มีสุขภาวะที่ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวจะมีแนวทางการเลี้ยงลูกและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว มีองค์ประกอบบางอย่างที่สามารถนำไปสู่สภาพแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีในครอบครัวได้ หรือก็คือแนวทางการอยู่ร่วมกันในครอบครัวอย่างมีความสุข เกิดเป็นระบบครอบครัวที่ดีขึ้นมา ในทางตรงกันข้าม หากเราใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวที่ไม่ดี ครอบครัวที่ไม่ให้ความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัย ไม่ให้ความรัก ไม่มีความอบอุ่น ไม่เคยมีการอบรมเลี้ยงดูสั่งสอน จะทำให้สมาชิกต้องประสบกับบาดแผลที่คนในครอบครัวเดียวกันเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งมันเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นกว่าปัญหาในครอบครัวตามมาได้

ทุกคนต่างเคารพกัน

การเป็นสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในที่นี้ไม่ใช่แค่การแสดงความนับถือแบบเด็กเคารพผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องเคารพเด็กด้วยการไม่ล่วงเกินสิทธิ์ของเด็กด้วย ไม่ใช่ทำอะไรตามอำเภอใจเพราะถือว่าตนเองเป็นผู้ปกครอง ทุกคนในบ้านควรมีตัวตน มีความเป็นส่วนตัว และมีมารยาทต่อกันในแบบที่มนุษย์พึงมีต่อกัน ทุกคนต้องเข้าใจและเคารพในสิ่งเหล่านั้น ผู้ใหญ่ที่ต้องการให้เด็กนับถือก็ต้องทำตัวให้น่าเคารพนับถือ เป็นแบบอย่างที่ดีในทุก ๆ ด้าน ส่วนนี้จะส่งผลต่อเด็ก ๆ ที่มีบทบาทเป็นผู้ที่เรียนรู้จากต้นแบบ

สมาชิกทุกคนมีตัวตน แสดงความคิดเห็นได้

สมาชิกในครอบครัวควรได้รับอนุญาตในการมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นของตัวเอง โดยที่ทุกคนจะต้องเคารพความคิดเห็นเหล่านั้นด้วย แม้ว่าในท้ายที่สุดคนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เพราะทุกคนอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ก็ควรมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่เช่นเดียวกัน ชอบอะไรไม่ชอบอะไรสามารถพูดได้บอกได้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเป็นเด็กก็ใช่ว่าจะต้องเงียบและก้มหน้าทำตามสิ่งผู้ใหญ่กำหนดเท่านั้น ดังนั้น ผู้ใหญ่จะต้องสอนให้เด็กได้คิดและแสดงออก ให้พวกเขารู้จักว่าตัวเองเป็นใคร และมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในบ้านเหมือนกัน สอนให้พวกเด็ก ๆ รู้จักรักษาสิทธิ์ของตัวเอง

มีกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมและเหมาะสมกับวัย

ทุกสังคมที่มีสมาชิกอยู่รวมกันหลาย ๆ คน จำเป็นต้องมีกฎหรือเงื่อนไขบางอย่างเป็นข้อกำหนดและแนวทางให้ทุกคนปฏิบัติตามหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขที่สุด ไม่เว้นแม้แต่สังคมเล็ก ๆ อย่างบ้าน ที่ต่อให้ทุกคนจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ก็มีโอกาสที่จะไปละเมิดสิทธิ์ของสมาชิกอีกคนจนทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกันได้ หากไม่มีกฎเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ถึงอย่างนั้น กฎที่ตั้งจะต้องสอดคล้องกับวัยด้วย มิเช่นนั้น จะสร้างสภาพแวดล้อมที่สับสนวุ่นวาย เด็กยังคงต้องเรียนรู้และเติบโต การปฏิบัติตามกฎของผู้ใหญ่จะเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเด็ก ๆ ให้ปฏิบัติตามกฎเช่นเดียวกัน

ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้อย่างเหมาะสม

ทุก ๆ ความต้องการและทุก ๆ ความคิดเห็นของทุกคนในบ้าน จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะตอบสนองด้วยการตอบรับหรือปฏิเสธ สมาชิกคนอื่น ๆ ต้องพยายามตอบสนองความต้องการของคนอื่น ๆ ในบ้านให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ อย่าแสดงการเมินเฉยหรือไม่สนใจกัน ถึงอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบรับทุกครั้งไป แต่ถ้าหากจะตอบสนองด้วยการปฏิเสธ ก็ควรจะมีเหตุผลที่เข้าใจได้แนบท้ายไปด้วย ว่าทำไมความต้องการหรือความคิดเห็นเช่นนี้ถูกปฏิเสธ เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจตรงกัน ไม่คับข้องใจต่อกัน

ทุกคนรู้สึกปลอดภัย

ครอบครัวควรจะเป็นทั้ง safe zone และ comfort zone สำหรับเหล่าสมาชิกในบ้านทุกคน การอยู่บ้านจะต้องมีความปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน ปลอดภัยในการเรียนรู้ การเติบโต และเมื่อทำผิดพลาด ก็ปลอดภัยมากพอที่จะยอมรับผิดได้โดยไม่ต้องกลัวการลงโทษที่เกินเหตุ ทุกคนต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงโทษเมื่อทำเรื่องผิดพลาด และเข้าใจว่าการอยู่ในบ้านหลังนี้จะต้องมีความมั่นคงและปลอดภัยเสมอ

การลงโทษที่เหมาะสมและมีการให้อภัย

เมื่อทำผิดก็ต้องถูกลงโทษอย่างเหมาะสม เพื่อให้เข้าใจว่าทำไม่ได้ และนำไปสู่การปรับปรุงตัว นี่คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้และเติบโต มันเป็นผลลัพธ์ของการละเมิดกฎ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งจะต้องถูกจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย หลีกเลี่ยงวิธีประจานให้อับอาย และทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่าการลงโทษจะเกิดขึ้นเมื่อทำพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้หรือทำผิดข้อตกลง หลังจากถูกลงโทษแล้ว ทุกคนจะได้รับการให้อภัยสำหรับความผิดพลาดด้วย เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook