Weaponized Incompetence แกล้งทำได้ไม่ดีพอ จะได้เลิกขอให้ทำ!
ในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ปกติแล้วคนที่อยู่ในความสัมพันธ์มักจะพึ่งพาอาศัยกันได้ สามารถร้องขอความช่วยเหลือให้ช่วยทำอะไรบางอย่างได้ หรือแม้แต่กำหนดขึ้นเป็นหน้าที่ เพื่อร่วมกันรับผิดชอบอะไรบางอย่าง แน่นอนว่าคงจะมีทั้งคนที่เต็มใจทำและไม่เต็มใจทำ ในกรณีที่ไม่เต็มใจทำ หลายคนก็เข้าใจว่ายังไงมันก็ต้องทำ ก็จะทำให้ดีตามมาตรฐานเพื่อให้มันจบ ๆ ไป อย่างไรก็ตาม จะมีคนอีกประเภทที่รู้สึกไม่อยากทำและไม่เต็มใจจะทำเอามาก ๆ เลยพยายามสรรหาวิธีหลีกเลี่ยงที่จะได้ไม่ต้องทำ วิธีที่ไม่ต้องปฏิเสธตรง ๆ
วิธีที่คนประเภทนี้ใช้เพื่อที่จะได้ปัดความรับผิดชอบทั้งหมดทั้งมวลที่ตัวเองไม่อยากจะทำให้พ้นตัวโดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยปฏิเสธไปตรง ๆ คือการใช้กลยุทธ์แบบ “แสร้งทำเป็นไร้ความสามารถ” พูดง่าย ๆ ก็คือ อยากให้ช่วยทำก็จะทำแหละ แต่เป็นการทำแบบส่ง ๆ สั่ว ๆ ทำลวก ๆ แบบขอไปที ทำแบบคนไม่รู้ความ ทั้งที่ภาระนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถใด ๆ เลย ทำแบบช้ามากหรือจงใจทำให้มันผิดพลาดมาก ๆ จนน่ารำคาญ ยอมโดนบ่นในช่วงแรก ๆ แต่ในท้ายที่สุด ฝ่ายที่เป็นคนขอความช่วยเหลือหรือมอบหมายหน้าที่ให้ทำก็จะเป็นฝ่ายยอมแพ้ไปเอง ยอมแพ้ก็คือทนรำคาญไม่ไหว เลยเลือกที่จะแบกภาระเองไว้ทั้งหมด เพราะต่อให้ดันทุรังขอให้ช่วยต่อไปก็ต้องมาตามแก้อยู่ดี
อันที่จริง แทบไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมาเสแสร้งแกล้งทำอะไรแบบนี้ เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรกับใครแล้ว มันยังเป็นพฤติกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยกับคนรอบข้างมากกว่าด้วย มันน่ารำคาญและน่าหงุดหงิดที่ต้องมาเห็นใครสักคนพยายามที่จะทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก ทำแบบคนไม่รู้ ทำแบบคนทำไม่เป็น แล้วพอผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เราก็ต้องไปตามแก้ไขอีก พฤติกรรมดังกล่าวสร้างความรู้สึกด้านลบในใจมากกว่าการพูดปฏิเสธมาตรง ๆ เลยว่าไม่อยากทำเสียอีก เวลาที่คนเราจะปฏิเสธที่จะทำอะไรบางอย่าง มักจะอ้างเหตุผลสารพัด ทั้งขี้เกียจบ้าง ไม่ถนัดบ้าง ไม่ชอบ ไม่อยากทำ แต่การแสดงออกหรือบอกมาตรง ๆ อย่างน้อยก็เจรจาตกลงกันได้ ไม่มีความคาดหวังที่จะพึ่งพาด้วย
วางแผนที่จะปัดภาระอย่างแนบเนียนด้วยการทำตัวไร้ความสามารถ
พฤติกรรมแบบที่กล่าวมาข้างต้นถูกเรียกว่า Weaponized Incompetence มันหมายถึงการที่ใครบางคนเสแสร้งแกล้งตีมึนว่าตัวเองไร้ความสามารถ หรือทำได้ไม่ดีพอในเรื่องอะไรสักอย่าง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ผลลัพธ์ก็คือ คนรอบข้างจะต้องรับสภาพด้วยความจำยอม รับเอางานนั้น ๆ มาทำเองให้มันจบ ๆ ไปซะดีกว่า เพราะถึงจะดึงดันให้ทำต่อไป งานที่ได้ออกมาก็ใช้ไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องเหนื่อยไปตามล้างตามเช็ดในภายหลังอีกอยู่ดีนั่นแหละ ดังนั้น ก้มหน้าก้มตาทำเองให้มันจบที่เราคนเดียวตั้งแต่ยังเสียความรู้สึกน้อยกว่าอีก เสียความรู้สึกที่ดันไปคาดหวังว่าคนเหล่านั้นจะสามารถช่วยเหลือเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านี้ให้เราได้
พฤติกรรมแบบ Weaponized Incompetence สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ โดยเราอาจจะเห็นได้บ่อยในที่ทำงาน ที่เราอาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานในทีมเดียวกัน ไว้ใจให้เขารับผิดชอบหน้าที่ส่วนนี้ คนอื่นจะได้ไปทำหน้าที่อื่น ๆ เช่นกัน ซึ่งเราก็คาดหวังว่าเขาจะทำมันได้ดี เพราะมันไม่ได้เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะหรือความสามารถพิเศษเฉพาะตัวทำ เอาเข้าจริงมันเป็นงานทั่วไปชนิดที่ไม่ต้องใช้ IQ ด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้นก็เจอเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวแกล้งทำแบบสั่ว ๆ ส่ง ๆ มาให้ ทำเอาเราผิดหวังจนต้องอุทานออกมาว่า “นี่ล้อกันเล่นปะเนี่ย?” สุดท้ายเราก็ต้องเอางานนั้นกลับมาทำเองแบบไม่เต็มใจ แบกรับภาระมากกว่าเดิม และรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบอยู่กลาย ๆ
นอกจากนี้ Weaponized Incompetence ยังอาจเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ของคู่รักและครอบครัวด้วยเช่นกัน ลักษณะที่เกิดขึ้นก็จะคล้าย ๆ กัน เช่น คู่รักหรือสามี-ภรรยา ที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้อีกฝ่ายช่วยทำอะไรให้สักอย่าง ตั้งแต่เรื่องทั่ว ๆ ไป อย่างการช่วยออกไปซื้อของแทนให้หน่อย แต่อีกฝ่ายกลับซื้อของมาผิดจากที่สั่งทุกอย่าง ไม่ซื้อในสิ่งที่สั่งให้ซื้อ และซื้อสิ่งที่ไม่ได้สั่งกลับมา หรือแม้กระทั่งการขอให้บุตรหลานในบ้านที่โตแล้วช่วยทำงานบ้านง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก อย่างกวาดบ้าน ใช้เวลาทำนานเป็นชั่วโมง แต่พื้นบ้านกลับไม่สะอาดสักนิด ขยะชิ้นโต ๆ ที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็ยังไม่ถูกกวาดทิ้งเลยด้วยซ้ำ
จะเห็นได้ว่าการที่ใครสักคนทำพฤติกรรมแบบ Weaponized Incompetence ใส่อีกฝ่าย เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องทำอะไรก็ตามที่อีกฝ่ายขอให้ทำ หรืออาจจะแย่กว่าด้วยการเพิกเฉยที่จะทำมันเสียเลย โดยมีข้ออ้างทำนองว่า “จะให้ทำก็ทำได้นะ แต่ถ้าทำออกมาไม่ดีเธอก็ต้องทำใหม่อยู่ดี แล้วอย่ามาบ่นละกัน” หรือ “เธอทำได้ดีกว่าฉัน งั้นเธอทำเองดีกว่า” มันค่อนข้างที่จะสร้างความรำคาญและปั่นประสาทให้กับคนฝั่งที่ขอให้ช่วยเหลือไม่น้อยเลย นอกจากจะคาดหวังที่จะพึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้แล้ว เรื่องมันยังจบโดยที่พวกเขาก็ต้องทำมันเองโดยลำพัง แบกรับเรื่องต่าง ๆ อยู่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริง คนที่อยู่ด้วยกันก็ควรจะช่วย ๆ กันมากกว่า
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องขำ ๆ แต่ Weaponized Incompetence นี่แหละตัวปัญหา
เอาเข้าจริง พฤติกรรม Weaponized Incompetence เหมือนจะเป็นสิ่งที่ใครต่อใครน่าจะเคยทำกันมาบ้าง อย่างน้อยสักครั้งในชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกใช้ให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เช่น แกล้งทำเป็นว่าทำงานบ้านไม่ดี ไม่สะอาด เพื่อที่ต่อไปแม่จะได้ไม่ใช้ให้เราทำอีก และเชื่อได้เลยว่าคนจำนวนมากไม่รู้ด้วยว่าพฤติกรรมดังกล่าวนี้จะมีชื่อเรียกอย่างจริงจัง
Weaponized Incompetence คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกโดย Eve Rodsky ซึ่งเป็นแนวคิดที่สร้างความฮือฮาอย่างมากบน TikTok นั่นหมายความว่าพฤติกรรมในรูปแบบดังกล่าวเพิ่งจะถูกนิยามให้มีชื่อเรียกเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง ทั้งที่คนจำนวนไม่น้อยทำพฤติกรรมในลักษณะนี้มานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ในครั้งแรก ๆ ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทำพฤติกรรม Weaponized Incompetence โดยไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้มีเจตนาร้าย อารมณ์แบบถูกขอให้ทำก็ทำไปให้ แต่จะทำแบบอิดออด ทำไปงอแงไปด้วยความไม่เต็มใจ แต่พอทำแล้วมันได้ผลลัพธ์ที่ดี คือการที่พวกเขาจะไม่ถูกขอให้ต้องรับผิดชอบหน้าที่ที่ตัวเองไม่อยากทำอีก พวกเขาจะเคยตัว และทำพฤติกรรมแบบนี้ซ้ำ ๆ เพื่อปัดภาระ
พฤติกรรม Weaponized Incompetence เป็น Passive-Aggressive อย่างหนึ่ง ที่จริง ๆ แล้วมันก็คือความไม่พอใจหรือความขุ่นเคืองใจที่คนคนหนึ่งไม่ยอมแสดงออกมาตรง ๆ แต่แสดงออกในทางอ้อมโดยใช้วิธีที่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกโกรธ หงุดหงิด อึดอัด หรือรำคาญใจ Weaponized Incompetence ในลักษณะนี้จึงเป็นการปฏิเสธที่จะทำอะไรบางอย่างแบบอ้อม ๆ เพื่อให้คนอื่นทำในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ การแกล้งทำบางสิ่งบางอย่างให้ออกมาไม่ดี ก็เพื่อให้อีกฝ่ายหงุดหงิด รำคาญ และผิดหวัง พอถูกความรู้สึกดังกล่าวโจมตีมาก ๆ เข้าก็จะรับเอาไปทำเองให้มันจบ ๆ เรื่องซะ จะได้ไม่ต้องพบเจอกับเรื่องน่ารำคาญนี่อีก
ส่วนใหญ่แล้ว เราจะพบว่ามันเป็นเรื่องที่เบสิกมาก ๆ ที่คนเราจะขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือคนในทีม และมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษหรือ IQ ในการทำเลยด้วยซ้ำไป ใช้แค่ความรับผิดชอบและความใส่ใจเท่านั้น อย่างการซื้อของเข้าบ้าน มันไม่ใช่เรื่องที่มีแต่คนฉลาดเท่านั้นที่ทำได้ แต่เขากลับทำออกมาได้แย่มาก ๆ หรือช้ามาก ๆ ซื้อนั่นซื้อนี่มาผิด จนเราทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาทำเอง รวมไปถึงที่ใหญ่กว่านั้น เวลาที่ต้องช่วยกันวางแผน ช่วยกันคิด หรือตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความคิดเห็นของคนสองคน เขาก็ทำเบลอ ตีมึน หรือไม่ออกความเห็นใด ๆ การที่เขาแสดงออกแบบนี้ ก็เพื่อที่ครั้งต่อไปเราจะได้ไม่ร้องขอให้เขาทำสิ่งนั้นอีก
จุดนี้นี่เองที่ทำให้ Weaponized Incompetence คือตัวปัญหา เพราะมันคือสัญญาณว่าใครคนใดคนหนึ่งในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม กำลังพยายามปัดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบไปให้อีกฝ่าย บีบบังคับด้วยการทำออกมาให้แย่ ๆ เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้ไม่ไว้ใจหรือคาดหวังให้ทำอีก และทำให้อีกฝ่ายต้องยอมรับหน้าที่เหล่านั้นไปแต่โดยดี ถ้าอยากให้งานออกมาดี ก็ต้องรับบทนางแบกอยู่เพียงฝ่ายเดียว
การที่เราไม่สามารถพึ่งพาคนรักได้ในยามที่ต้องการ แน่นอนว่าส่งผลต่อเรื่องความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในตัวกันและกันในทุก ๆ ความสัมพันธ์ เราเคยคาดหวังว่าเขาจะช่วยเหลือเราได้ในเวลาที่เราต้องการ แต่พฤติกรรมที่แสร้งทำงานที่ถูกขอให้ช่วยออกมาให้ไม่ดี เพื่อที่เราเห็นผลงานแล้วจะรู้สึกว่าไม่อยากไหว้วานเขาอีก เมื่อมันสะสมมากเข้ามันก็จะก่อตัวเป็นปัญหาในความสัมพันธ์ จนอาจนำไปสู่ Toxic Relationship เลยทีเดียว มันไม่ต่างอะไรกับการทำร้ายอีกฝ่ายในทางอ้อม การที่ไม่ยอมช่วยเหลือหรือแบ่งเบาอะไรสักอย่างทั้งที่อยู่ด้วยกัน ปัดภาระให้อีกฝ่ายต้องแบกรับหน้าที่ที่เกินกำลังคน คนเดียวจะเอาอยู่