5 เคล็ดลับญี่ปุ่นเกี่ยวกับ “การเก็บไข่ในตู้เย็น” ให้อยู่ได้นาน

5 เคล็ดลับญี่ปุ่นเกี่ยวกับ “การเก็บไข่ในตู้เย็น” ให้อยู่ได้นาน

5 เคล็ดลับญี่ปุ่นเกี่ยวกับ “การเก็บไข่ในตู้เย็น” ให้อยู่ได้นาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไข่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีที่หาซื้อได้ง่ายในญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ไข่ในญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น คนญี่ปุ่นจึงหันมาสนใจวิธีการเก็บถนอมไข่เพื่อคงความอร่อยไว้ได้นานๆ พร้อมกับวิธีการยืดอายุไข่ไม่ให้เสียง่ายมากขึ้น มารู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเก็บไข่ในตู้เย็นและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการเก็บถนอมไข่จากอาจารย์ Chiyoko Tokue อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรโตเกียวกันค่ะ

1. ไข่จะเสียง่ายขึ้นถ้าเก็บไว้ในช่องเก็บไข่ที่ประตูตู้เย็น

โดยทั่วไปตู้เย็นมักจะออกแบบมาให้มีช่องวางไข่ที่ประตูตู้เย็นเพื่อให้สามารถหยิบไข่ออกมาใช้ได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วการเก็บไข่ไว้ในช่องวางไข่ที่ประตูตู้เย็นจะทำให้ไข่เสียได้ง่าย เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิและการสั่นสะเทือนเมื่อเปิดและปิดตู้เย็น การเก็บไว้ด้านในของตู้เย็นจะช่วยยืดอายุไข่ให้นานขึ้น ทั้งนี้ก็ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ปนเปื้อนอยู่ที่เปลือกไข่ปนเปื้อนไปยังอาหารชนิดอื่นในตู้เย็นได้

2. เก็บไข่ให้ด้านป้านของไข่อยู่ด้านบน

ในไข่จะมีโพรงอากาศ (Air cell) ซึ่งเป็นช่องว่างที่อยู่บริเวณด้านป้านของไข่ การเก็บไข่โดยให้ด้านป้านของไข่อยู่ด้านบนจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในไข่ได้ง่ายจึงช่วยยืดอายุของไข่ได้นานขึ้น

3. ไข่ต้มเน่าเสียได้ง่ายกว่าไข่ดิบ

คนจำนวนมากคิดว่าการเก็บไข่ต้มไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานกว่าไข่ดิบ แต่จริงๆ แล้วไข่ต้มจะเสียได้ง่ายกว่าไข่ดิบ เนื่องจากในไข่ขาวดิบมีเอนไซม์ที่ช่วยต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้ หากต้มไข่ก็จะทำให้เอนไซม์ดังกล่าวสูญเสียสภาพและเป็นเหตุให้ไข่เสียได้ง่ายกว่า

4. ไม่ควรล้างไข่ก่อนนำมาเก็บ

ไข่อาจมีเชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อนอยู่ แต่ก็ไม่ควรล้างไข่ก่อนเก็บ เพราะการล้างจะทำให้ผิวชั้นเปลือกนอกของไข่ลอกออกส่งผลให้แบคทีเรียเข้าสู่ไข่ได้ง่ายขึ้น

5. สามารถรับประทานไข่หมดอายุได้หรือไม่

วันหมดอายุของไข่คำนวณตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการสุขาภิบาลอาหาร เพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อซาลโมเนลลาที่อาจติดมากับไข่ หรือในอีกแง่หนึ่งคือตามช่วงเวลาที่เอนไซม์ชื่อไลโซไซม์ (Lysozyme) ในไข่ขาวคงสภาพการทำงานเพื่อขจัดเชื้อที่ปนเปื้อนเข้าไปในไข่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นสามารถรับประทานไข่ดิบได้ โดยทั่วไปวันหมดอายุของไข่จะถูกกำหนดให้เร็วกว่าเวลาที่ไข่จะเสียจริง ดังนั้นจึงสามารถรับประทานไข่ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพก็ควรปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน

โดยทั่วไปแล้วไข่เป็นวัตถุดิบที่หมดค่อนข้างไวเพราะไข่เป็นอาหารที่อร่อยทุกเมนูและมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนยกเว้นวิตามินซี แต่ในกรณีที่ไม่มีเวลาทำกับข้าวและซื้อไข่เก็บไว้นานก็ลองใช้การเก็บไข่ตามคำแนะนำด้านบนดูค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook