คุณพ่อก็มีสิทธิลาคลอด เรื่องดี ๆ ที่พ่อแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม
กฎหมายหรือข้อกำหนดในการลาคลอดของผู้ชายเพื่อไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และในต่างประเทศมีการประกาศใช้มากว่า 10 ปี หากแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่พนักงานชายสักเท่าไรนัก มีเพียงที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีรายงานว่าจำนวนพนักงานชายลาคลอดเพื่อไปดูแลภรรยาและบุตรที่เพิ่งเกิดนั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับในเมืองไทย จุดเริ่มต้นการลาคลอดของผู้ชายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งกระทรวงแรงงานประกาศขอความร่วมมือสถานประกอบการให้ลูกจ้างลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร โดยการขอความร่วมมือในครั้งนั้นทางกระทรวงแรงงานได้ระบุว่า
“ปัจจุบันสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้ผู้ชายและผู้หญิงต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น เพื่อให้ผู้ชายแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการดูแลงานบ้านและมีบทบาทของความเป็นพ่อในการช่วยภรรยาเลี้ยงดูแลพัฒนาลูกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้ภรรยามีเวลาให้นมลูกได้อย่างเต็มที่ และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ภรรยามีกำลังใจและมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นผลดีต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
“รวมทั้งทำให้ลูกจ้างและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีส่งผลต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม กระทรวงแรงงานจึงขอความร่วมมือนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ทั้งนี้ให้นายจ้างใช้ดุลยพินิจพิจารณากำหนดจำนวนวันลาของลูกจ้างเพื่อไปช่วยเหลือภรรยานับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตรตามความเหมาะสมได้”
ซึ่งพัฒนาการของการลาคลอดของผู้ชายนั้นมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2565 เมื่อทางคณะรัฐมนตรีให้สิทธิข้าราชการชายและลูกจ้างข้าราชการมีสิทธิในการลาคลอดเพื่อไปช่วยภรรยาในการเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด โดยมีสาระสำคัญในการให้สิทธิผู้ชายลาคลอดนั้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็ก เพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี
โดยข้อกำหนดดังกล่าว จะให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ)
ทั้งนี้ บทบาทของพ่อในช่วงที่แม่คลอดบุตรนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถเป็นกำลังใจที่ดีและแบ่งเบาภาระของภรรยาได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้พ่อซักผ้าอ้อมหรือดูแลลูกแทน แต่แค่โอบกอดให้กำลังใจภรรยาก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ขณะเดียวกัน เวลาที่คุณพ่อมีปฏิสัมพันธ์กับทารกน้อยมากขึ้น ในช่วงสองสามเดือนแรกที่คลอดออกมา
สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็ก เพราะคุณพ่อมือใหม่มักจะมีความกระตือรือร้นในการเลี้ยงลูก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ มีอายุได้ 2 ขวบ และสิ่งสำคัญที่สุด คือการที่ลูกได้เรียนรู้ Role Model จากคุณพ่อการที่พ่อได้เลี้ยงลูก เล่นกับลูก ทำกิจกรรมกับลูกมากขึ้น ก็ช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ Role Model หรือ มีคุณพ่อเป็นต้นแบบพฤติกรรมดี ๆ จากพ่อได้ด้วย