ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา กู้ “กยศ.” ช่วยได้

ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา กู้ “กยศ.” ช่วยได้

ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา กู้ “กยศ.” ช่วยได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่ค่อนข้างขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้มีอุปสรรคในเรื่องของค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ทั้งตัวผู้เรียนและผู้ปกครองอาจมีความกังวลว่าจะได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีหรือไม่ หรือถ้าสอบติดแล้วจะเอาเงินที่ไหนเรียน หมดกังวลในเรื่องดังกล่าวได้เลย เพราะหากตั้งใจที่จะเรียนจริง ๆ และต้องการเงินสนับสนุนการศึกษา สามารถทำเรื่องขอกู้เงินเรียนจาก “กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ “กยศ.” โดยจะสนับสนุนทั้งค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา (เท่าที่ทางสถานศึกษาเรียกเก็บ) และค่าครองชีพ ที่แม้ว่าจำนวนเงินจะไม่ได้มากมาย แต่ก็สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวลงได้บ้าง

Tonkit360 จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขอกู้ยืมจาก กยศ. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่ต้องการจะขอกู้ในปีการศึกษาหน้า ได้ลองพิจารณาดูก่อนว่าตนเองมีคุณสมบัติที่สามารถกู้ยืมได้หรือไม่ ต้องใช้เอกสารและหลักฐานอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไรหากคิดจะกู้ กยศ. เรียน

กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ ให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่มีความจำเป็น โดยไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ศึกษาอยู่ แต่ต้องชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้ว เหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา ต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว หรือต้องการบริหารจัดการเงินเพื่อการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมเงินกองทุนทั้งสิ้น 6,470,274 ราย (ข้อมูลวันที่ 31 มีนาคม 2566) ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากการกู้ยืม กยศ.
คุณสมบัติผู้ขอกู้ยืมกยศ.

การกู้ยืมเงินเรียนจากกองทุน กยศ. นั้น หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่าสามารถกู้ได้เฉพาะ “นักศึกษา” ที่เรียนในระดับปริญญาตรีเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วผู้กู้ยืมสามารถกู้ยืม กยศ. สามารถเริ่มกู้ยืมได้ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็น “นักเรียน” ที่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยจะแบ่งลักษณะในการกู้ออกเป็น 4 ลักษณะ พร้อมด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้

1. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (รายได้ครอบครัวต่อปีไม่เกิน 360,000 บาท)

  • ระดับการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. ปวท./ปวส. อนุปริญญา/ปริญญาตรี สาขาวิชาตามที่กองทุนประกาศกำหนด
  • เงินให้กู้ยืม ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าครองชีพ
  • อายุ (ปีแรกที่กู้) ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์
  • ระยะเวลาชำระเงินคืน 15 ปี
  • ระยะเวลาปลอดหนี้ภายหลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี
  • อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
  • ผลการเรียน ผลการเรียนดี/ผ่านเกณฑ์การวัดผลและประเมินผลของสถานศึกษา

2. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

  • ระดับการศึกษา ปวช. ปวท./ปวส. อนุปริญญา/ปริญญาตรี สาขาวิชาตามที่กองทุนประกาศกำหนด
  • เงินให้กู้ยืม ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าครองชีพ*
  • อายุ (ปีแรกที่กู้) ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์
  • ระยะเวลาชำระเงินคืน 15 ปี
  • ระยะเวลาปลอดหนี้ภายหลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี
  • อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือ 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี*
  • ผลการเรียน ผลการเรียนดี/ผ่านเกณฑ์การวัดผลและประเมินผลของสถานศึกษา

3. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ

  • ระดับการศึกษา ปวช. ปวท./ปวส. อนุปริญญา/ปริญญาตรี สาขาวิชาตามที่กองทุนประกาศกำหนด
  • เงินให้กู้ยืม ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าครองชีพ*
  • อายุ (ปีแรกที่กู้) ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์
  • ระยะเวลาชำระเงินคืน 15 ปี
  • ระยะเวลาปลอดหนี้ภายหลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี
  • อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือ 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี*
  • ผลการเรียน ผลการเรียนดี/ผ่านเกณฑ์การวัดผลและประเมินผลของสถานศึกษา

4. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ

  • ระดับการศึกษา ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโท สาขาวิชาตามที่กองทุนประกาศกำหนด
  • เงินให้กู้ยืม ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าครองชีพ*
  • อายุ (ปีแรกที่กู้) ไม่เกิน 35 ปีบริบูรณ์
  • ระยะเวลาชำระเงินคืน 10 ปี
  • ระยะเวลาปลอดหนี้ภายหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี
  • อัตราดอกเบี้ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี*
  • ผลการเรียน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00

*สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี สามารถกู้ยืมค่าครองชีพ และได้ลดอัตราดอกเบี้ยตามที่กองทุนกำหนด

เอกสารและหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณาผู้กู้ยืมเงิน

1. แบบคำขอกู้ยืมเงินที่จัดพิมพ์ออกจากระบบ e-Studentloan

2. แบบคำขอกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.101) พร้อมเอกสารประกอบ ดังนี้

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบิดา และมารดา หรือผู้ปกครอง
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน (ถ้ามี)
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน บิดาและมารดาหรือผู้ปกครอง คู่สมรส (ถ้ามี)
  • เอกสารประกอบการรับรองรายได้ : มีรายได้ประจำ / ไม่มีรายได้ประจำ (กยศ.102)

ให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงินแนบหลักฐานใบสรุปยอดเงินเดือนที่ได้รับทั้งเดือน (สลิปเงินเดือน) หรือสำเนาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เว้นแต่ครอบครัวที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้จัดหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ สมาชิกสภาเขต สมาชิก สภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือหัวหน้าสถานศึกษาที่นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงินศึกษาอยู่ เป็นผู้รับรองรายได้ เพื่อให้กองทุนใช้ประกอบการพิจารณารายได้ต่อครอบครัวดังกล่าวด้วย

  • แผนผังแสดงที่ตั้งของที่อยู่อาศัย พร้อมรูปถ่ายที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
  • ใบแสดงผลการศึกษา/สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา
  • บันทึกกิจกรรมจิตอาสา
  • หนังสือแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แนะแนวหรืออาจารย์ที่ปรึกษา (กยศ.103)
  • อื่นๆ (ถ้ามี)

หมายเหตุ:

(ก) กรณีผู้ขอกู้ยืมเงิน บิดา มารดา ผู้ปกครอง และ/หรือคู่สมรสของผู้ขอกู้ยืมเงิน มีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ-สกุล ให้แนบสำเนาเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา

(ข) กรณีบิดา มารดา ของผู้ขอกู้ยืมเงินเสียชีวิต ให้แนบสำเนาใบมรณบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านที่ประทับคำว่า “ตาย” ประกอบการพิจารณา

(ค) กรณีบิดา มารดา ของผู้ขอกู้ยืมเงิน หย่าร้าง (กรณีจดทะเบียนสมรส) ให้แนบสำเนาใบหย่าร้างประกอบการพิจารณา

(ง) สำเนาเอกสารทุกฉบับต้องลงลายมือชื่อ โดยเจ้าของเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบิดา บิดาต้องเป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้อง เป็นต้น

วงเงินและขอบเขตการให้เงินกู้ยืม

เนื่องจากกองทุนได้กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ยืมแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ทำให้วงเงินที่แต่ละคนจะสามารถกู้ยืมได้ ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาและสาขาวิชาที่ผู้กู้ศึกษาอยู่ โดยแบ่งออกเป็นวงเงินสำหรับค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งจะไม่เกินอัตราที่สถานศึกษาเรียกเก็บในแต่ละหลักสูตร รวมไปถึงค่าครองชีพที่จะได้รับในแต่ละเดือน ดังนี้

  • มัธยมศึกษาตอนปลาย รับค่าเล่าเรียน/ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา จำนวน 14,000 บาท/คน/ปี และค่าครองชีพ 21,600 บาท/คน/ปี
  • ปวช. รับค่าเล่าเรียน/ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา จำนวน 21,000 บาท/คน/ปี และค่าครองชีพ 36,000 บาท/คน/ปี
  • ปวท. ปวส. หรือเทียบเท่า รับค่าเล่าเรียน/ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา จำนวน 25,000-60,000 บาท/คน/ปี (ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา) และค่าครองชีพ 36,000 บาท/คน/ปี
  • อนุปริญญา/ปริญญาตรี รับค่าเล่าเรียน/ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา จำนวน 50,000-200,000 บาท/คน/ปี (ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา) และค่าครองชีพ 36,000 บาท/คน/ปี

กู้ยืมกยศ. ต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะด้วย

เนื่องจากกองทุนได้กำหนดคุณสมบัติให้ผู้กู้ต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในระหว่างปีการศึกษา เพื่อขอกู้ยืมเงินในปีการศึกษาถัดไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละและมีจิตสาธารณะ โดยกำหนดชั่วโมงสำหรับผู้ขอกู้ยืมเงินแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  • กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
  • กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
  • กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเลื่อนชั้นปีทุกระดับการศึกษา กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถทำกิจกรรมจิตสาธารณะได้ โดยบันทึกการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ ในแบบฟอร์มตามที่กองทุนกำหนด และลงลายมือชื่อผู้รับรองการทำกิจกรรม ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และ ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้ยืมในปีถัดไป

เพราะการศึกษาเล่าเรียน คือการวางรากฐานความมั่นคงให้กับอนาคตข้างหน้าที่ดีที่สุด การกู้ยืมเงินเรียนจาก กยศ. จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของผู้ที่ขาดแคลนได้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็น “เงินกู้” ไม่ใช่ทุนให้เปล่า เพราะฉะนั้น เมื่อกู้เงินมาแล้วก็ต้องชำระคืน หลังจากที่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบ และมีรายได้เป็นของตัวเอง เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้องรุ่นต่อ ๆ ไป สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.studentloan.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook