เสียเวลาชีวิตไปกับคลิปสั้น รู้ว่าเสพติดแต่หยุดดูไม่ได้

เสียเวลาชีวิตไปกับคลิปสั้น รู้ว่าเสพติดแต่หยุดดูไม่ได้

เสียเวลาชีวิตไปกับคลิปสั้น รู้ว่าเสพติดแต่หยุดดูไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคนว่ากันว่าอีกหนึ่งวงการที่เข้าแล้วออกได้ยากที่สุด ก็คือ “วงการดูคลิปสั้น” ซึ่งใครหลายคนน่าจะมีประสบการณ์ด้วยตัวเองมาแล้วว่าการเสพติดการดูคลิปสั้นนั้นมันหาที่สิ้นสุดแทบไม่ได้จริง ๆ เราแทบจะบอกตัวเองไม่ได้เลยว่าคลิปไหนจะเป็นคลิปสุดท้ายที่จะดูก่อนเข้านอน ขอดูอันนี้จบก่อน! ขออีกคลิป! คลิปสุดท้ายแล้ว! มันไม่มีอยู่จริง เพราะอาการไถหน้าจอไปเรื่อย ๆ มันหยุดไม่ได้จริง ๆ

ทุกวันนี้เราเสพคลิปสั้นจากที่ไหนกันบ้าง ที่กำลังเป็นที่นิยมสุด ๆ เห็นจะหนีไม่พ้น TikTok ซึ่งเป็นแอปฯ ตัวตึงด้านคลิปสั้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ต้องออกลูกเล่นใหม่เป็นคลิปสั้นด้วยเพื่อให้แข่งขันกันได้ นอกจากนี้ หลาย ๆ คนยังดูคลิปสั้นผ่าน Reels และ Story ใน Facebook และ Instagram หรือดู Youtube Shorts เวลาที่ยังไม่รู้ว่าจะดูอะไรใน YouTube ดี ทุกวันนี้มีแหล่งความบันเทิงที่เป็นคลิปสั้นมากมายให้เราได้เลือกเสพ ด้วยความที่มันสั้น เสพง่าย ย่อยง่าย มันจึงตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้ชมในปัจจุบันที่ดูจะเร่งรีบกับทุกสิ่งอย่างแม้กระทั่งการดูคลิปที่สั้นอยู่แล้ว ยังมีคำถามเลยว่าเมื่อไรจะถึงจุดไคลแมกซ์ หรืออีกนานแค่ไหนที่คลิปจะจบ

อย่างไรก็ตาม การดูคลิปสั้นที่เราเคยเข้าใจว่ามันไม่เสียเวลา เพราะแต่ละคลิปก็แค่ไม่กี่วินาที หรือแค่ 1-2 นาทีเท่านั้นเอง แต่ไป ๆ มา ๆ การดูคลิปสั้นกลับทำให้เราเสียเวลาชีวิตมากกว่าที่คิด คลิปสั้น ๆ ไม่กี่วินาที แต่เราเล่นไถดูไปเรื่อย ๆ เพลิน ๆ แบบที่ไม่ได้นับว่าดูไปแล้วกี่คลิป เสียเวลาไปนานแค่ไหน

ดูเหมือนว่าเราจะใช้เวลากับแพลตฟอร์มคลิปสั้นกันนานขึ้นเรื่อย ๆ แบบว่าทีแรกกะจะไถดูเพลิน ๆ ก่อนนอนให้มันง่วง แต่ดูนาฬิกาอีกทีดันปาเข้าไปตีสองตีสามเสียแล้ว ทำไมคลิปสั้นถึงได้ดูดเวลาและพลังชีวิตของเราได้ขนาดนี้ ที่สำคัญ จากที่เคยดูสนุก ๆ อยู่ดี ๆ สักพักเริ่มรู้สึกไม่อิน หรือเริ่มสัมผัสได้ถึงผลกระทบในทางลบบางอย่าง จนต้องค่อย ๆ พยายามถอยห่างออกมาเอง

กลัวตกข่าว กลัวคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง

“ได้ฟังเพลงนี้หรือยัง?” “ได้ดูคลิปนี้หรือเปล่า?” นี่เป็นคำถามที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ในยุคที่โลกออนไลน์เต็มไปด้วยไวรัล หรือเราอาจจะได้ยินคนดังพูดคำฮิตที่ช่วงนี้ได้ยินว่าคนครึ่งค่อนสังคมก็พูดเหมือนกัน ได้อ่านคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็เห็นคนใช้คำแสลงหรือภาษาวัยรุ่นแปลก ๆ เยอะมาก โดยที่เราไม่รู้ว่าทำไมช่วงนี้เขาถึงฮิตคำนี้กันนักหนา และนึกสงสัยขึ้นมาว่ามันมีที่มาจากอะไร ซึ่งถ้าเราไม่รู้ล่ะก็ เราจะกลายเป็นมนุษย์เชยที่ “ตกข่าว” ในสายตาคนอื่น ๆ ไปในทันที

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นกลัวที่จะ “ตกข่าว” กลัวพลาดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ หรือเรื่องราวสุดตื่นเต้นในขณะที่ทุกคนเขาจับกลุ่มพูดคุยกันแต่ตัวฉันไม่รู้เรื่อง ซึ่งทุกวันนี้คนทั่วโลกใช้เวลาหลายสิบชั่วโมงต่อเดือนไปกับการท่องโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเสพข่าวสารต่าง ๆ ทั้งที่จำเป็นต้องรู้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และจำเป็นต้องรู้เพื่อประโยชน์ในการพูดคุยกับผู้อื่น และในเมื่อมีคลิปสั้นมากมายทำออกมาในลักษณะของการสรุปข่าวสารบ้านเมืองที่อ่านยาก เข้าใจได้ยาก นำมาย่อยให้สั้นและเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงมีหลายคนชอบเสพข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทางคลิปสั้น

อาการไถหน้าฟีดไปเรื่อย ๆ เพื่อดูคลิปนั้นคลิปนี้ ทำให้เราบริโภคข่าวสารได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่มักจะเป็นไปในลักษณะของการรีบดูแล้วรีบผ่าน เพราะมีคอนเทนต์น่าสนใจให้เราต้องติดตามดูอยู่อีกเพียบ เห็นข่าวหนึ่งแล้ว พอเลื่อนขึ้นไปก็เจออีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจเหมือนกัน แล้วก็ไถดูไปยาว ๆ แบบหาจุดสิ้นสุดไม่ได้

อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มที่ทำให้เราได้เสพคอนเทนต์ที่ถูกใจ

หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าแอปพลิเคชันประเภทโซเชียลมีเดีย มักจะมีการออกแบบอัลกอริทึมให้ผู้ใช้รู้สึกต้องการใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ และใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มให้นานที่สุด นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานด้วยว่าผู้ใช้ต้องการอะไร หลังจากที่เราใช้งานแอปพลิเคชันไปได้สักพัก AI จะเริ่มรู้แล้วว่าเรามีรสนิยมแบบไหน ชอบเสพคอนเทนต์ประเภทไหน กำลังสนใจคอนเทนต์แบบไหน แล้วหลังจากนั้นตัวแอปฯ ก็จะเริ่มแนะนำคอนเทนต์ที่คิดว่าเราอาจจะชอบมาให้เราชม เมื่อเราไถ ๆ ไป เราก็จะได้เห็นแต่คอนเทนต์ที่เราชอบบ่อย ๆ ซึ่งมันทำให้เกิดลูปการรับชมวิดีโอในแบบที่เราชอบเป็นเวลานานไม่จบสิ้น หยุดดูไม่ได้

จะเห็นว่าระบบเบื้องหลังของแอปฯ นั้นพยายามที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งาน ก็เพราะต้องการให้เราอยู่ในแพลตฟอร์มให้ได้นานที่สุด ในเมื่อเราสนุกสนานและมีความสุขในแอปฯ นี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าแอปฯ อื่น มันจึงพยายามป้อนแต่คอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการหรือความสนใจของเราให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เราเลื่อนดูคลิปสั้นไปเรื่อย ๆ เรื่องละนิดเรื่องละหน่อย จากคลิปสั้น ๆ ที่มีความยาวแค่ไม่กี่วินาที พอหลายคลิปเข้าก็กลายเป็นหลายนาที และถ้าเรายังคงใช้ปลายนิ้วเลื่อนหน้าจอขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็จะถูกขังให้อยู่ในแอปฯ เหล่านั้นเป็นชั่วโมงไปจนถึงยาวนานหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม การที่เราได้เสพแต่คอนเทนต์ที่เราชอบหรือสนใจ มันอาจดูเหมือนจะเป็นความสุขและสร้างความสนุกสนานให้กับเราได้ก็จริง ทว่ามันกลับทำให้เราหลงอยู่ในห้องเสียงสะท้อนมากขึ้นทุกที เนื่องจากเราได้แต่รับข้อมูลด้านเดียวซ้ำ ๆ กัน ไม่มีการโต้แย้ง หรือข้อเสนอแนะทางอื่น ได้เสพแต่ข้อมูลจากคนที่มีความคิดความเห็นแบบเดียวกับเรา เมื่อเราติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน เสียงนั้นก็จะดังขึ้นเรื่อย ๆ และถี่ขึ้นกว่าเดิม เพราะเราได้เห็นแค่สิ่งที่อยากเห็น ได้ยินแค่สิ่งที่อยากฟัง ไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่ตรงกันข้ามเลยสักอย่าง ปลูกฝังแนวความคิดแบบเดิม ๆ และตอกย้ำให้เราคิดและเชื่อแบบสุดโต่งขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงแทบไม่ต่างอะไรกับกบในกะลา ที่ครอบทับตัวเองด้วยสิ่งที่เราชอบ

ย่อยมาให้เสพง่าย เหมือนใช้เวลาดูไม่นาน แต่ดูต่อได้ยาว ๆ โดยไม่รู้ตัว

คลิปสั้นตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นคอนเทนต์วิดีโอที่ถูกจำกัดด้วยความยาวเพียงไม่กี่วินาที หรืออาจจะยาวเต็มที่ได้ประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้น ซึ่งถ้าหากยาวกว่านี้ก็แทบจะไม่มีใครอดทนดูจนจบก่อนจะเลื่อนผ่านไป คลิปสั้นหรือวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 2 นาที จึงเป็นช่วงความยาวที่ยังอยู่ในความสนใจและความอดทนของผู้ชม ดังนั้น สิ่งสำคัญของคลิปสั้นก็คือ จะต้อง “ฮุก” คนดูไว้ให้ได้ในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งก็คือ ในช่วง 2-3 วินาทีแรกต้องเผยให้เห็นถึงความน่าสนใจแล้ว เพื่อให้คนดูยังสามารถอยู่กับคลิปต่อไปจนจบให้ได้

อย่างไรก็ตาม หากเป็นคลิปสั้นหรือวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 2 นาที ค่าเฉลี่ยเวลาที่จะทำให้ผู้คนสนใจคลิปนั้นได้จะอยู่ในช่วงเวลา 8.25 วินาทีเท่านั้น ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 วินาทีนี่เอง คือสิ่งที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดีว่าจะนำเสนอเนื้อหาอะไรที่สามารถ “ตกคนดู” ได้ และจะเล่าอย่างไรให้สื่อสารใจความออกมาได้อย่างครบถ้วน ภายใต้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมาก ๆ ไม่กี่วินาที

การที่คลิปสั้นมันสั้นมาก ทำให้ผู้ชมสามารถเสพได้ง่ายมาก ๆ ดูได้ง่าย ๆ รู้สึกว่าใช้เวลาไม่นาน จบคลิปนี้ก็เลื่อนขึ้นเพื่อดูคลิปถัดไป และถัดไปเรื่อย ๆ จนทำให้เราใช้เวลารับชมคลิปสั้นอย่างยาวนานโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าแต่ละคลิปจะใช้เวลารับชมแค่ประมาณนาทีกว่า ๆ เท่านั้น ทว่าเรากลับเสียเวลาชีวิตไปหลายชั่วโมงจากการไถดูคลิปสั้นแบบเพลิน ๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าเวลามันผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว

คลิปสั้น จึงเป็นการใช้จิตวิทยาจากการที่คนเราเสพติดความรวดเร็วทันใจ ความอดทนต่ำลง ไม่ชอบใช้เวลาอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนาน ๆ เพราะรู้สึกว่าเสียเวลา แต่จะพยายามทำให้ได้หลาย ๆ เรื่องในเวลาอันจำกัด การเสพคลิปสั้นที่เราสามารถโฟกัสคอนเทนต์ที่นำมาเสิร์ฟให้ได้แทบจะทันที ชอบก็โฟกัสต่อ ใช้เวลาไม่นานก็จบ ไม่ชอบก็ปัดผ่านไปเพื่อดูคอนเทนต์ใหม่ มันทำให้เราสามารถโฟกัสอยู่กับการดูคลิปสั้นได้ยาวนานขึ้น ใช้งานลื่นไหล นี่เป็นจิตวิทยาที่ใช้ดึงดูดให้เราโฟกัสอยู่กับการรับชมคลิปได้อย่างยาวนาน ซึ่งเชื่อมโยงกับกลไกของ “ความพึงพอใจของมนุษย์” ที่ทำให้เราเสพติดการชมวิดีโอสั้นกันมากขึ้นและยากที่จะหยุดรับชม

แรกเริ่มเข้าวงการ มันทำให้เรารู้สึกสนุกได้จริง ๆ

รูปแบบของคลิปสั้นนั้นมันเอื้อให้เราสามารถรับชมได้ง่าย ๆ อยู่แล้ว แต่ละคลิปทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องอดทนดูอะไรนาน ๆ เพื่อให้รู้เรื่องว่าเขาจะนำเสนออะไร ความสั้น ความกระชับ ความเข้าใจง่าย แถมยังเลื่อนผ่านได้ด้วยปลายนิ้ว มันจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ชมฆ่าเวลาได้เป็นอย่างดี แรกเริ่มการเข้าสู่วงการคลิปสั้น เราจะรู้สึกว่ามันสนุกจริง ๆ หลายคนจึงมักจะใช้เวลาว่างในการเปิดดูคลิปสั้นเพื่อหาความสุขเล็ก ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อบรรเทามวลความเครียดรอบตัวจากเนื้อหาคลิปที่เราชอบ เราสนใจ การทำงานของ AI ที่เรียนรู้พฤติกรรมของเราจากการใช้งาน จะพยายามจัดสรรสิ่งที่น่าสนใจมาเสิร์ฟให้ถึงที่โดยที่เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เปิดเข้าไปก็ได้ชมแล้ว

การที่เรารู้สึกมีความสุขหรือรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เสพคลิปสั้นเนื้อหาต่าง ๆ เป็นเพราะว่าในขณะที่เรากำลังเสพคอนเทนต์เหล่านี้ สารโดปามีน (Dopamine) ในสมองจะหลั่งออกมาในเวลาที่เราได้เจอสิ่งใหม่ ๆ จะส่งผลต่ออารมณ์ให้มีความตื่นตัว กระฉับกระเฉง และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ทำให้เรามีความสุข เราเลยอยากที่จะเลื่อนดูเรื่อย ๆ แบบหยุดไม่ได้ เราอยากเจอสิ่งใหม่ ๆ จากคลิปที่เรา “อาจจะชอบ” ที่แตกต่างไปตลอดทั้งวันจากการทำงานของอัลกอริทึม การที่เราไม่รู้ว่าคลิปต่อไปคืออะไรนี่แหละที่ทำให้มันมีความน่าติดตาม ได้ความสนุกสนานใหม่ ๆ ในแบบที่เราไม่ได้คาดหวัง โดปามีนที่หลั่งออกมาให้เรามีความสุข เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เราถอนตัวจากคลิปสั้นได้ยากเหลือเกิน

แต่…สิ่งที่หลาย ๆ คนเริ่มสัมผัสได้หลังจากที่เสพติดการดูคลิปสั้นไประยะเวลาหนึ่งก็คือ มันทำให้เรา “เสียเวลาชีวิต” มากเกินไป เราสามารถปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เลย 4-5 ชั่วโมง เพราะมัวแต่ไถดูคลิปสั้นพวกนี้ แม้ว่าช่วงแรก ๆ เราจะอ้างว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่เราขอพักผ่อนตัวเองให้ผ่อนคลายจากเรื่องเครียดบ้าง แต่นานวันเข้าเราจะพบว่าความสุขที่ได้จากการดูคลิปสั้นนี้ไม่ได้เป็นมิตรและยั่งยืนสักเท่าไร มันเริ่มไม่ได้ช่วยเติมเต็มใจให้เราได้ขนาดนั้น ที่สำคัญ มันเริ่มทำให้เรามีความสุขได้ยากขึ้นไปอีก

การดูคลิปสั้น มีผลต่อสุขภาพของเรา โดยทั่วไป การใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์นานเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างแน่นอน รบกวนการนอนหลับ การจ้องหน้าจอนาน ๆ บวกกับคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เราเสพ ทำให้เราเครียดกันมากกว่าเดิม บางคนเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ ที่เห็นในคลิป บางคนมีความวิตกกังวลบางอย่างจากคอนเทนต์ที่เสพ มีความเสี่ยงเรื่องภาวะซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ เพราะมัวแต่แสวงหาความสุขจากทางออนไลน์ ก้มหน้าก้มตาดูคลิปสั้นผ่านทางหน้าจอ แล้วปิดกั้นความสุขจากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook