ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ กับชีวิตจริงที่หัวเราะไม่ออก

ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ กับชีวิตจริงที่หัวเราะไม่ออก

ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ กับชีวิตจริงที่หัวเราะไม่ออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าพูดถึงหนึ่งในวายร้ายชื่อดังของโลกภาพยนตร์ ทุกคนต้องนึกถึงโจ๊กเกอร์ วายร้ายคู่ปรับของแบทแมน ที่มาพร้อมกับเสียงหัวเราะสุดหลอนเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน

แต่รู้หรือไม่ ว่าการหัวเราะแบบไม่สามารถควบคุมได้ที่ทุกคนเรียกกันว่า “ภาวะโจ๊กเกอร์” จริง ๆ แล้วมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Pseudobulbar Affect (PBA) หรือ “ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้” นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้วตัวของโรคดังกล่าวไม่ได้มีเพียงควบคุมการหัวเราะไม่ได้ แต่ยังรวมไปถึงการควบคุมการร้องไห้ไม่ได้ด้วย

ในวันนี้ เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ PBA หรือ ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ โรคที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก และทำให้เข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้น

Pseudobulbar affect (PBA)

สำหรับภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Pseudobulbar affect (PBA) ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ การหัวเราะออกมาทั้งที่ไม่ได้รู้สึกมีความสุข และ การร้องไห้ออกมาทั้งที่ไม่ได้เศร้า โดยมักจะเกิดขึ้นกับผู้ผ่านประสบการณ์การรักษาอาการเจ็บป่วยทางสมอง เช่น

  • การกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง
  • เนื้องอกในสมอง
  • โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน
  • โรคปลอกประสาทเสื่อม

ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษา ทำให้การใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิม และใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยโรคนี้มากถึง 2 ล้านคน และมีอีก 7 ล้านคนที่เข้าข่ายจะเป็นโรคดังกล่าว

สำหรับอาการของโรค PBA จะมีดังนี้

  • มีอาการร้องไห้หรือหัวเราะรุนแรงจนควบคุมไม่ได้
  • การร้องไห้หรือหัวเราะนั้นไม่ตรงกับสถานการณ์
  • การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์

อีกทั้งผู้ป่วยยังมีอาการข้างต้นยาวนาน และเกิดขึ้นหลายครั้งต่อวัน จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ก่อกวนการใช้ชีวิต ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยอับอายอีกด้วย

จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ภาวะ PBA แบบร้องไห้พบได้บ่อยกว่าแบบหัวเราะ และในบางคนอาจเจอภาวะ PBA ทั้งแบบร้องไห้และหัวเราะเลยก็ได้ แต่เคสนี้พบได้ไม่บ่อยนัก

แม้อาการของโรคจะคล้ายกับไบโพลาร์หรือโรคซึมเศร้า แต่ในความเป็นจริง PBA กลับมีความแตกต่างจากโรคทั้งสองอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์มักจะแสดงอารมณ์ได้ตรงกับที่รู้สึก นั่นคือ เมื่อเศร้าก็ร้องไห้ เมื่อมีความสุขก็หัวเราะ และยังสามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองได้ ต่างจากผู้ป่วย PBA ที่ควบคุมอาการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองไม่ได้เลย

PBA กับ ซึมเศร้า

ดังที่กล่าวไปว่าภาวะ PBA มีความแตกต่างกับโรคซึมเศร้า และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เราจะเปรียบเทียบอาการของโรคทั้งสอง ดังนี้

  • PBA มีอาการร้องไห้ หรือ หัวเราะบ่อยๆ ในขณะที่ซึมเศร้า อาจไม่ได้ร้องไห้ เพราะการร้องไห้ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า
  • PBA ไม่สามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ได้ ในขณะที่ซึมเศร้า สามารถควบคุมการร้องไห้ได้
  • PBA การหัวเราะหรือร้องไห้ “เกินความจริง” หรือ ไม่ตรงกับ “ความรู้สึก” ที่แท้จริง ในขณะที่ซึมเศร้า จะร้องไห้เมื่อรู้สึกเศร้าจริง ๆ
  • PBA การหัวเราะหรือร้องไห้นานเป็นนาที ในขณะที่ซึมเศร้า การร้องไห้เป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้าและอยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
  • PBA มีอาการทางระบบประสาท หรือการบาดเจ็บของสมอง ในขณะที่ซึมเศร้า อาจจะไม่มีอาการทางระบบประสาท หรือการบาดเจ็บของสมอง

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะมี PBA และภาวะซึมเศร้าในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้จากการที่ภาวะ PBA เป็นโรคที่ยังไม่รู้จักเป็นวงกว้าง และอาการของโรคก็ไม่ชัดเจนนัก จึงยังมีอีกหลายคนที่ไม่เข้าใจในโรคนี้ จนเกิดเป็นความเข้าใจผิดและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก

ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ กับชีวิตจริงที่หัวเราะไม่ออก

ในปี 2014 มีเหตุการณ์เกี่ยวกับโรค PBA เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบ ในโบลิเวีย

โดยเธอไม่สามารถควบคุมอาการหัวเราะของตัวเองได้ เธอสามารถหัวเราะได้ทั้งวันทั้งที่ไม่มีเรื่องตลก แพทย์ในชุมชนก็ไม่สามารถวินิจฉัยอย่างเด็ดขาดว่าอาการหัวเราะโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยของเธอเกิดจากอะไร ทำให้เธอถูกมองว่าเป็นคนบ้า หรือแม้กระทั่งถูกเรียกว่าเป็นปีศาจ

Dr. Jose Liders Burgos จากศูนย์การแพทย์โบลิเวียนำกรณีของเด็กสาวชาวโบลิเวียมาศึกษาต่อและพบสาเหตุแท้จริงของอาการว่าทั้งหมดเกิดจากก้อนเนื้อที่โตอย่างผิดปกติในกลีบขมับสมอง ทำให้หมอตัดสินใจผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อนี้ออกไป

ภายหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ผลที่ออกมาคือเด็กสาวไม่หัวเราะกับทุกเรื่องอีกต่อไป ซึ่งกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับวงการแพทย์และคนทั่วไปว่าหากพบคนที่ไม่สามารถหยุดหัวเราะหรือร้องไห้ได้ อย่าเพิ่งตัดสินไปก่อนว่าพวกเขาเป็นโรคทางจิตเวช

นอกเหนือจากเรื่องของเด็กสาวชาวโบลิเวีย ยังมีเรื่องของเวย์น บี อดีตผู้จัดการฝ่ายไอทีและโลจิสติกส์ รัฐอิลลินอยส์ วัย 52 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้เขาเป็นโรค PBA

โดยเวย์นจะร้องไห้อย่างไม่สามารถควบคุมได้ หรือบางครั้งก็จะหัวเราะอย่างหยุดไม่อยู่ในสิ่งที่ไม่ตลก เขาไม่สามารถควบคุมการตอบสนองให้เป็นปกติได้ ซึ่งเขามักจะร้องไห้อย่างง่ายดายและบ่อยครั้งกว่าการหัวเราะ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นเด็กล้มลง เขาก็จะร้องไห้ แม้ว่าจะไม่รู้จักเด็กคนนั้นและเห็นว่าเด็กไม่ได้เจ็บก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาอย่างมาก เพราะแม้แต่คนรอบตัวก็ไม่เข้าใจว่าเขาไม่สามารถควบคุมการร้องไห้หรือหัวเราะที่เกิดได้ ดังนั้น จึงทำให้คนรอบข้างมักจะวิจารณ์รูปลักษณ์ หรือแสดงความคิดเห็นไม่ดีต่อตัวเขา จนเขารู้สึกอับอาย หงุดหงิด และโกรธเป็นอย่างมาก

ภรรยาของเวย์น เปิดเผยว่า เมื่อเธออยู่กับสามีในขณะที่เกิดอาการที่ควบคุมไม่ได้ เธอจะแก้ปัญหาโดยการอธิบายเหตุผลที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงนิ่ง ๆ เพื่อช่วยให้เวย์นเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ได้ผล และบางครั้งก็ไม่ได้ผลเช่นกัน

บ่อยครั้งที่เวย์นจะพยายามหลีกหนีจากสถานการณ์นั้นไปที่ห้องนอน หรือหาสถานที่เงียบสงบและเป็นส่วนตัวที่สามารถนั่งพัก เพื่อขจัดอาการของโรคที่เกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจล้วนส่งผลต่อการใช้ชีวิต รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วย PBA เป็นอย่างมาก นอกจากปัญหาการเข้าสังคมแล้ว ผู้ป่วย PBA ยังร่างกายเหนื่อยอ่อนง่ายกว่าคนปกติด้วย

แนวทางการรักษาและดูแลตัวเอง

สำหรับภาวะ PBA ยังไม่มีวิธีการรักษาที่หายขาด มีเพียงการรักษาด้วยยา ที่อาจทำให้อาการของโรคไม่รุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองมีอาการของโรค ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคระหว่าง PBA กับโรคทางอารมณ์อื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ได้ ควรมีการทำบันทึกช่วงเวลาที่มีอาการ และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

แม้จะไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่ก็ยังมีแนวทางในการดูแลตัวเอง ดังต่อไปนี้

  • พูดคุยกับคนในครอบครัวรวมถึงคนรอบข้าง เพื่อให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น
  • เมื่อมีอาการ สามารถใช้วิธีปรับเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดอาการได้ เช่น จากนั่งอยู่ก็ให้ลุกเดิน เดินอยู่ก็ให้นั่ง เป็นต้น
  • ฝึกหายใจเข้า-ออก อย่างช้า ๆ
  • ฝึกการผ่อนคลายในทุก ๆ วัน
  • พบแพทย์ และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้อาจใช้ศิลปะและดนตรีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการหรือความรุนแรงของอาการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ป่วยภาวะ PBA ต้องการมากที่สุดคือการได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้าง และกำลังใจที่จะทำให้เขาสามารถก้าวผ่านโรคนี้ไปได้ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง

สรุปส่งท้าย

แม้ว่าภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้จะมีความคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ส่วนใหญ่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยังไปทำงานได้ ไปเรียนได้ ใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ ในขณะที่ผู้ป่วยภาวะ PBA อาจมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผู้ป่วยจะร้องไห้โฮออกมาตอนไหนก็ไม่รู้ได้ หรือจะระเบิดเสียงหัวเราะจนทำให้คนรอบข้างแตกตื่นขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้

หลังจากอ่านบทความนี้จบ หวังว่าทุกคนจะเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกอาย หรือต้องการปลีกตัวออกไปอยู่คนเดียว รวมทั้ง ไม่ต้องถูก “รังแก” เหมือนอย่าง “โจ๊กเกอร์” ด้วย เพราะพวกเขาไม่ใช่คนบ้า แต่เป็นคนป่วยคนหนึ่งเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook