สอนบุตรหลานอย่างไรให้รู้จัก “ให้เกียรติและเคารพผู้อื่น”

สอนบุตรหลานอย่างไรให้รู้จัก “ให้เกียรติและเคารพผู้อื่น”

สอนบุตรหลานอย่างไรให้รู้จัก “ให้เกียรติและเคารพผู้อื่น”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยกำลังโต วัยกำลังเรียนรู้ วัยกำลังคึกคะนอง ควรจะต้องสอนบุตรหลานอย่างไร เพื่อปลูกฝังให้พวกเขารู้จักให้เกียรติและเคารพคนอื่น อย่างน้อยที่สุดก็คือ “ฐานะคน” เหมือนกัน และจะได้ไม่ถูกประณามด้วยว่า “เลี้ยงลูกมายังไง”

1. ตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่สอนลูกได้ดีที่สุด

เด็กจะเรียนรู้การสร้างบุคลิกภาพรวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ จากการเลียนแบบคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับพ่อแม่ พ่อแม่ทำอะไรให้เห็นบ่อย ๆ ก็จะซึมซับมาทำตามโดยที่ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเด็กยังขาดทั้งประสบการณ์ในการเปรียบเทียบและความสามารถในแยกแยะ ดังนั้น ถ้าพ่อแม่อยากเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กน่ารักที่รู้จักให้เกียรติและเคารพในตัวตนของผู้อื่น พ่อแม่ก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกก่อน เช่น การเคารพผู้ใหญ่ การพูดจาสุภาพ การมีเมตตาต่อคนอื่น การพูดถึงและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างใจดี ไม่พูดเหยียดหรือแสดงการบูลลี่ใคร ปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเด็ก พอโตขึ้นเขาก็จะคิดได้เองว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ควรทำและไม่ควรทำ ถ้ามันไม่ดีต่อคนอื่น เขาก็จะไม่ทำ

2. พ่อแม่ก็ต้องเคารพในตัวตนของลูก

นอกเหนือจากการเป็นตัวอย่างให้เห็น อีกวิธีที่สามารถปลูกฝังเด็ก ๆ ให้เป็นคนที่ให้เกียรติและเคารพคนอื่นเป็น ก็ต้องทำให้พวกเขาได้เรียนรู้จากการเป็นผู้รับด้วย เริ่มต้นง่าย ๆ จากเคารพและให้เกียรติตัวตนของลูก ให้อิสระลูกในการเลือกและตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ให้โอกาสลูกได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องเล็ก ๆ ในครอบครัว เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าการถูกปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเคารพในตัวตนของกันและกันเป็นเป็นเรื่องที่ดีต่อใจเพียงใด ในสายตาของเด็ก พ่อแม่ที่เป็นผู้ใหญ่แล้วอาจจะดูอาวุโสกว่า เหมือนอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า แต่ในเมื่อพ่อแม่ยังเคารพและให้เกียรติกับลูกที่เด็กกว่าได้ มันก็แปลว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็สามารถหยิบยื่นให้กันได้เช่นกัน

3. สอนให้รู้ว่าถึงจะแตกต่างกัน แต่ “ทุกคนเป็นคนเท่ากัน”

มีประเด็นอ่อนไหวมากมายที่ทำให้คนมองคนด้วยกันด้วยสายตาที่ไม่เท่ากัน เกิดการเปรียบเทียบว่าเป็นแบบนี้คือดีกว่า เป็นแบบนี้คือด้อยกว่า จนทำให้เกิดความเชื่อต่อบางสิ่งบางอย่างในเชิงอคติ และคิดว่าจะทำอะไรกับใครก็ได้ สิ่งที่ต้องสอนก็คือไม่ว่าคนเราจะแตกต่างกันแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้ “ความเป็นคน” ของแต่ละคนลดลง เราทุกคนมีความเป็นตัวเองแบบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ขอให้ภูมิใจในตัวเรา และเคารพในความแตกต่างของคนอื่น ทุกคนสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเคารพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ไม่มีใครสมควรถูกปฏิบัติอย่างดูถูกเหยียดหยามและด้อยค่าความเป็นมนุษย์

4. สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ลดการใช้ Hate Speech ต่อกัน

Hate Speech คือ ประทุษวาจาที่แสดงความเกลียดชังใส่กัน คือจุดเริ่มต้นของการทำร้ายกัน บางทีคำพูดที่เราคิดว่าแค่พูดเล่น ๆ มันก็สามารถสร้างความเจ็บปวดทางใจให้กับคนฟังได้ไม่รู้ลืม คนในบ้านควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก จึงไม่ควรเป็นอย่างยิ่งเลยที่คนในบ้านจะใช้คำพูดรุนแรงต่อกัน คำพูดเชิงลบ การดูถูกล้อเลียนกัน หรือเหยียดสิ่งที่แตกต่างกันตั้งแต่ในบ้าน มันจะกลายเป็นว่าเราไปปลูกฝังคำพูดเชิงลบแบบนี้ให้กลายเป็นคำพูดปกติที่เขาจะใช้พูดกับใครก็ได้ เพราะไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไม่ดีตรงไหน มันจะทำให้พวกเขากลายเป็น toxic people ที่สร้างบาดแผลทางใจให้กับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ก็ในเมื่อคนในบ้านยังทำใส่กันเป็นปกติ มันก็น่าจะกลายเป็นเรื่องปกติในสายตาของพวกเขาไป

5. เมื่อทำผิดก็ต้องถูกตักเตือนหรือลงโทษ

ทุก ๆ การกระทำมีผลตามมาเสมอ ผลของการทำดีคือได้รับคำชื่นชม และผลจากการทำผิดหรือทำตัวไม่เหมาะสม ก็ต้องถูกตักเตือนหรือลงโทษ มันคือสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำลงไป และต่อไปก็ต้องเรียนรู้ด้วยว่าถ้าเราทำอะไรโดยไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี มันจะมีผลกระทบตามมา ราคาถูกราคาแพงขึ้นอยู่กับความเลวร้ายของสิ่งที่ทำ เราต้องแบกรับผลกระทบนั้น พ่อแม่จึงควรทำข้อตกลงและตักเตือนเมื่อลูกทำตัวไม่เหมาะสมตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เพื่อที่จะได้เป็นประสบการณ์เปรียบเทียบไปว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และถ้าทำไม่ดีต้องถูกว่ากล่าวตักเตือนให้รู้ตัวว่ามันไม่ดีอย่าทำอีก พร้อมทั้งบอกวิธีหรือหาโอกาสให้ลูกได้ลองแก้ไข ปรับปรุงตัวด้วย แต่ถ้ายังทำซ้ำก็จะถูกลงโทษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook