คิดจะเป็นฟรีแลนซ์ ต้องวางแผนทางการเงินยังไงบ้าง
ปัจจุบัน การทำงานเป็นฟรีแลนซ์ อันหมายถึงการรับจ้างทำงานแบบไม่ประจำ ไม่ว่าจะเป็นสายคอมพิวเตอร์ สายกราฟิก สายนักเขียน สายนักแปล สายบัญชี หรืออีกหลายสายงาน ที่ยุคนี้สามารถทำงานในลักษณะของการรับจ้างแบบไม่ประจำได้ โดยมีสัญญาผูกมัดตามชิ้นงานหรือระยะเวลาในการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์
ซึ่งการเป็นฟรีแลนซ์นั้น สิ่งสำคัญคือการเตรียมตัวทางการเงินให้พร้อม เพราะทุกสิ้นเดือนจะไม่ได้มีเงินเข้าบัญชีมารอคุณเหมือนมนุษย์เงินเดือน และมีโอกาสที่งานที่คุณรับมาทำแม้จะส่งงานไปแล้วแต่การจ่ายเงินอาจล่าช้ากว่าที่ที่ตกลงกันไว้ก็ได้
ดังนั้น การวางแผนทางการเงินจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยอะไรบ้างมาดูรายละเอียดกัน
1. เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างน้อย 6-12 เดือน
เงินสำรองฉุกเฉินถือเป็นเงินออมตัวแรกที่ควรจะมี และจะทำให้เราใช้ชีวิตฟรีแลนซ์อย่างอุ่นใจมากขึ้น โดยสูตรมาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายคงที่ในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ แล้วนำมาคูณด้วย 6-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มากพอสำหรับการวางแผนชีวิตใหม่ในช่วงที่ความไม่แน่นอนมาทำให้รายได้ของเราเกิดสะดุด
2. สะสมเงินเข้าประกันสังคม
ฟรีแลนซ์สามารถสมัครประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย รวมถึงค่าตอบแทนในยามชราภาพได้เช่นเดียวกัน โดยฟรีแลนซ์สามารถรับสิทธิประกันสังคมได้ตามมาตรา 40
3. สมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
การออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ฟรีแลนซ์อย่างเรามีเงินออมสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ เพราะสามารถรับเงินสมทบจากรัฐบาลสูงสุด 100% และยังมีความยืดหยุ่นสูง เดือนไหนมีมาก ออมมาก เดือนไหนมีน้อย ออมน้อย
4. ลงทุนในกองทุนรวม
นอกจากการเก็บออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ควรแบ่งรายได้บางส่วนมาลงทุนต่อยอดเพื่อเพิ่มโอกาสในการเก็บออมเงินในจำนวนที่มากขึ้น นอกจากนี้กองทุนรวม SSF และ RMF ยังเป็นตัวช่วยที่ดีในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
5. ออมเงินในประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ คือประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน โดยเราจะต้องชำระเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ เช่น ออมอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยเกษียณ แล้วรอรับเงินในรูปแบบของบำนาญ นอกจากนี้ยังนำค่าเบี้ยประกันบำนาญไปลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย จึงเหมาะกับฟรีแลนซ์เป็นอย่างมาก
6. ซื้อประกันให้ครอบคลุม ทั้งด้านสุขภาพ และอุบัติเหตุ
นอกจากประกันที่ช่วยออมเงินไว้ใช้ในระยะยาวแล้ว อย่าลืมหาเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเอาไว้ด้วย เวลาที่เราเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน รายได้ของเราอาจขาดมือได้ ประกันที่ช่วยดูแลสุขภาพ และคุ้มครองด้านอุบัติเหตุจึงเป็นอีกตัวเลือกที่ควรมีเผื่อไว้