วิธีสังเกตพฤติกรรมเพื่อนร่วมงาน “ขี้อิจฉา”

วิธีสังเกตพฤติกรรมเพื่อนร่วมงาน “ขี้อิจฉา”

วิธีสังเกตพฤติกรรมเพื่อนร่วมงาน “ขี้อิจฉา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” (ประพันธ์โดย พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ) ประโยคนี้ยังคงใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าจะในแวดวงการทำงาน หรือแม้แต่กับเพื่อนฝูงคนสนิท เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในใจของแต่ละคนนั้นคิดอย่างไรกันบ้าง

แต่เราสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมของพวกเขาที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าคนคนนี้กำลังอิจฉาความโดดเด่นของคุณอยู่ และถ้าพิจารณาแล้วว่าเขาน่าจะกำลังอิจฉาคุณอยู่จริง ก็อย่าได้ไปตอบโต้อะไร เพราะคนที่มีความรู้สึกอิจฉาได้ พวกเขามีปมด้อยที่อยู่ในใจและไม่สามารถแก้ไขปมนั้นได้ เลยแสดงออกมาในลักษณะของการอิจฉา นินทา ว่าร้าย หรือแม้กระทั่งลอกเลียนพฤติกรรมของคุณ ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่าพฤติกรรมของคนขี้อิจฉานั้นมีอะไรที่ทำให้คุณจับโป๊ะคนเหล่านี้ได้บ้าง

คนขี้อิจฉา มักจะชอบเลียนแบบคนที่พวกเขาอิจฉา

เพราะคนที่เขากำลังอิจฉาคุณนั้นอยากจะเป็นแบบเดียวกับคุณ ดังนั้น ถ้าคุณพบว่าเพื่อนร่วมงานที่เหมือนจะดีกับคุณ แต่กลับใส่เสื้อแบบเดียวกัน มีเครื่องประดับแบบที่คุณใส่เป็นประจำ หรือมีพฤติกรรมเลียนแบบคุณไปเสียทุกอย่าง ขอให้รู้ว่าคนคนนั้นกำลังมีคุณเป็นไอดอล เขาอยากเป็นคุณ จึงพยายามทุกวิถีทาง แน่นอนว่าคุณคงรู้สึกรำคาญ แต่อย่าได้ไปสนใจ ปล่อยให้เขาทำไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเป็นตัวของคุณเองไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาเลียนแบบเอาได้ง่าย ๆ ส่วนคนขี้อิจฉานั้นก็ไม่สามารถหลอกตัวเองให้เป็นคนอื่นได้เช่นกัน

คนขี้อิจฉา ไม่เคยชื่นชมคุณอย่างจริงใจ

เมื่อคุณประสบความสำเร็จ หรือได้รับมอบหมายงานที่สำคัญ คนขี้อิจฉาที่อยู่รอบตัวคุณจะแสดงตัวตนออกมาด้วยคำชมแบบกระแทก ประเภท “แหมดีใจด้วยนะ รับใช้ใกล้ชิดก็ยังงี้แหละ” หรือ “ดีใจด้วยนะที่ได้โปรเจกต์นี้ แต่โปรเจกต์ที่ฉันรับผิดชอบนั้นใหญ่กว่าของเธอล่ะ” คนแบบนี้อยู่ห่าง ๆ ไว้ก็ดี เพราะพูดคุยด้วยก็จะเปลืองพลังงานชีวิตไปเปล่า ๆ

คนขี้อิจฉา จะจดจำแต่ความผิดพลาดของคุณ

มนุษย์เรามีข้อผิดพลาดได้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้าคุณดันทำพลาดให้คนขี้อิจฉาที่แฝงตัวมาในคำว่าเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมเรียนได้เห็น พวกเขาจะดึงเอาความผิดพลาดเหล่านั้นมาพูดล้อคุณได้ตลอด เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่เหนือกว่าคุณ ถ้าต้องเจอคนแบบนี้วิธีที่ง่ายที่สุด คือเดินออกมาและปล่อยให้คำพูดเหล่านั้นลอยลมไป เชื่อเถอะว่าไม่มีใครสนใจเรื่องของคนอื่นนาน นอกจากคนที่กำลังรู้สึกอิจฉาคุณอยู่

คนขี้อิจฉามักมองคุณเป็นคู่แข่ง

ตราบใดที่คนขี้อิจฉาที่อยู่ในชีวิตคุณไม่อยากเห็นคุณประสบความสำเร็จเกินหน้าเกินตา พวกเขาจะต้องลงแข่งในทุกสนามที่คุณลง และพยายามอยู่เหนือกว่าคุณให้ได้ ทั้งที่ในความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เลย ในองค์กรใหญ่ ๆ เรามักเจอคนแบบนี้เสมอ พยายามจะแข่งขันเพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่งโดยไม่สนใจในวิธีการ ซึ่งการรับมือกับคนประเภทนี้ คือมีสติ และประเมินความสามารถของคนที่พยายามจะแข่งด้วย หากคุณคิดว่ามีดีพอก็ลงสนามไปเลย ไม่ต้องกลัวคนที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และความอิจฉา เพราะคนเหล่านี้ไม่มีสติพอที่จะประคองตัวเองไปถึงจุดหมายได้

คนขี้อิจฉาจะเข้าไปแทรกกลางระหว่างคุณและคนที่คุณสนิท

เมื่อคุณสนิทกับใคร คนที่กำลังอิจฉาคุณอย่างเงียบ ๆ จะเข้าไปสนิทกับคนนั้นด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อใส่ร้ายป้ายสีคุณ และ อีกทางหนึ่งเพื่อแยกคุณออกจากคนที่คุณสนิทด้วยเพื่อให้คุณรู้สึกไม่มีความสุขและทำให้คุณไม่มีพวก ซึ่งคนขี้อิจฉาจะชอบใช้วิธีนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่ทำให้คุณอ่อนแอทางอารมณ์ได้ง่าย หากต้องเจอกับวิธีแบบนี้ขอให้คุณรักษามิตรภาพกับเพื่อนคนสนิทของคุณด้วยการพูดคุยกันให้ชัดเจนถึงความรู้สึกของคุณ และสิ่งที่คุณรู้สึกกับคนที่กำลังอิจฉาคุณ เพราะถ้าเขาเป็นเพื่อนสนิทของคุณจริง ก็จะไม่หูเบาฟังเสียงของมือที่สามอย่างแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook